capsule

CAPSULE ผู้นำกระแส Neo-Shibuya ที่ยืดหยัดจนโด่งดังไปทั่วโลก

Share via:

Krissaka Tankritwong


Playlist ประกอบอรรถรสการเสพย์บทความ

CAPSULE คือ?

    “Capsule” นึกถึงชื่อนี้แล้วนึกถึงอะไรกันบ้าง? ยา? โรงแรมแคปซูลที่ญี่ปุ่น? หรือ Capsule Corporation ในดราก้อนบอล? วงนี้ไม่เคยมาไทย และคนไทยก็ไม่ค่อยรู้จักในวงกว้าง แต่ถ้าบอกว่าเขาคือคนเดียวกับที่เป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงให้ศิลปิน electronic dance J-POP ชื่อดังอย่าง Perfume , Kyary Pamyu Pamyu ทุกคนต้องร้องอ๋อ แน่นอน เขาคือ Yasutaka Nakata ยอดโปรดิวเซอร์ ที่มีวงดนตรีอินดี้ส่วนตัว เป็นงานในแบบที่เขาอยากทำ และเป็นตัวเขาจริงๆในชื่อวง “Capsule” วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักพวกเขากัน

ความเจ๋งของ CAPSULE

    โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ลักษณะเด่นของดนตรีในแบบ Capsule ยุคหลังๆ ที่ทำให้โดนใจผู้ฟัง นั่นคือสไตล์การประพันธ์ และเรียบเรียงดนตรีที่มีความฉลาดในการผสมผสานองค์ประกอบของความ “ขาว” และ “ดำ” ได้ลงตัวอย่างมาก รู้จักใช้ความ Dark ในจุดที่ควร Dark รู้จักอั้นในจุดที่ควรอั้น และปลดปล่อยความ POP ออกมาในจุดที่ควร POP ซึ่งน่าจะเกิดมาจากความรู้ลึกรู้จริงในดนตรี และตกผลึกในสไตล์ Shibuya-kei อย่างมาก จนสามารถนำไปหลอมรวมกับความชอบของตัวเองอีกอย่างนั่นคือ ดนตรี Techno Dance ได้อย่างกลมกลืน เกิดเป็นความ unique ของซาวด์ ที่ไม่สามารถจะหาดนตรีลักษณะนี้จากที่ไหนได้ง่ายๆ

    Capsule คือวงอิเลคโทรนิค Duo ประกอบไปด้วย โปรดิวเซอร์ 1 คน และนักร้อง 1 คน (ตามสูตรรูปแบบวงสไตล์ Shibuya-kei) เป็นวงในสไตล์ Neo-Shibuya-kei ที่เน้น Electronic pop , lounge จากตอนแรกที่ น่ารักๆ ใสๆ นั้นค่อยๆ ล้ำสุดขอบ และหนักหน่วงขึ้นไปจนถึง Techno Beat ในช่วงหลังๆ โดยมีประวัติยาวนานกว่า 15 ปีมาถึงปัจจุบัน มาอ่านประวัติโดยย่อของพวกเขากันเลย

เริ่มต้นเปิดกระแส Neo-Shibuya-kei

    พวกเขาฟอร์มวงในปี 1997 ด้วยการพบกันของ Nakata Yasutaka และ Koshijima Toshiko ใน Teens’ Music Festival ที่ Hokuriku ในขณะที่ทั้งคู่อายุ 17 ปี โดยได้ทำซิงเกิ้ลแรกร่วมกันคือเพลง “Sakura” หลังจากนั้นสี่ปี พวกเขาก็ออกอัลบั้มเต็ม กับ ค่าย Yamaha Music ในชื่อ “High Collar Girl” ในปี 2001

    งานในชุดแรกนั้นมีซาวด์ที่แตกต่างกับ Capsule ที่เรารู้จักกันดีอยู่มาก ซาวด์ของ Capsule คือความเป็น futuristic/electronic pop โดยในชุดแรกนั้นเรายังไม่เห็นกลิ่นอายของดนตรีแบบที่ว่านั้นเลยสักนิด แต่มีความเป็น pop ที่มีกลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น ที่ฟังดูเอเชียๆ เชยๆนิดๆ ซึ่งสาเหตุมาจากว่า นากาตะ ไม่ได้ควบคุมการผลิตทุกอย่างเองทั้งหมด แต่ปล่อยให้คนในค่าย Yamaha เป็นคนจัดการซะส่วนใหญ่ และไม่ได้ออกมาเป็นสไตล์ที่เขาอยากทำจริงๆ ในที่สุด

    หลังจากประสบความล้มเหลวในยอดขาย และล้มเหลวในใจตัวเองที่ไม่ได้ทำงานแบบที่ตัวเองต้องการ เขาก็เริ่มตัดสินใจผลิตงานโดยยึดเอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ และเริ่มทำอัลบั้มที่ 2 “Cutie Cinema Replay” ในปี 2003 นั้นเริ่มมีซาวด์ที่ชัดเจน ไปทางส่วนผสมแบบ Bossanova,Lounge,Breakbeat ซึ่งมีสไตล์ที่คล้ายกับวง Shibuya-kei ในช่วงยุค 90 อย่าง Pizzicato Five อยู่มาก คนจึงขนานนามว่าพวกเขาเป็น การฟื้นคืนชีพของ P5 บ้าง หรือ เป็น P5 Clone บ้าง โดยเรียกว่าเป็นพวก “Neo-Shibuya-kei” หรือการเอาแบบอย่างพวก Shibuya-kei ( อ่านเรื่อง Neo-Shibuya เพิ่มเติมได้ที่ link ) ถึงแม้จะมีบางบทสัมภาษณ์ที่นากาตะออกตัวว่า ไม่ค่อยได้ฟังงานของ P5 นักก็ตาม อัลบั้มนี้เริ่มประสบความสำเร็จเล็กๆ และมีกลุ่มแฟนคลับอยู่พอสมควร

    โดยส่วนตัวผมค้นพบวงนี้ตอนอัลบั้มที่สองนี้เอง และติดใจจนเป็นแฟนตัวยงของนากาตะ ตั้งแต่เพลง Sweet Time Replay ในอัลบั้มนี้เป็นต้นมา ซึ่งหลังจากอัลบั้มนี้ นากาตะก็ขยันรัวออกผลงานแทบไม่ได้หยุดได้หย่อน เฉลี่ยตกปีละ 1.5 อัลบั้ม เรียกได้ว่า เผลอไม่ได้ตามไปแว๊บๆเดียว ไม่ถึงปี ออกใหม่อีกแล้ว

Capsule ยุคแรก ที่ถูกขนานนามว่าเป็น P5 กลับชาติมาเกิด

ภาพลักษณ์มุ้งมิ้งสไตล์ Retro/Futuristic ของ Capsule ยุคแรก


ย้อนอดีตขำๆ กัน กับ Sakura ซิงเกิ้ลเพลงในชุดแรก ที่นากาตะบอกว่าไม่ได้ออกมาอย่างที่อยากให้เป็นนัก ( ผมว่า นากาตะในสมัยก่อน เหมือนพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยมากเลย lol ขำๆนะครับ )


Cutie Cinema Replay เพลงในอัลบั้มที่ 2 Sweet Time Replay ที่เปลี่ยนแนวทางมาเป็นแบบที่เฮียแกอยากทำจริงๆ คือ Lounge/Electro pop

ความเปลี่ยนแปลงที่เสี่ยงต่อการสูญเสียฐานแฟนเพลง

    ช่วงเวลา ปี 2003-2006 นี้ Capsule มีเส้นทางที่ราบลื่นและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อัลบั้มที่ 3,4,5,6 นั้นประสบความสำเร็จ และค่อยๆขยายฐานแฟนๆมาอย่างมั่นคง มีเพลงเก๋ๆ แจ่มๆ มากมาย บางเพลงได้ร่วมงานกับ Studio Ghibli นำไปประกอบ Animation อย่าง Retro Memory หรือบางอัลบั้มที่เป็นโปรเจคร่วมกับ Cafe Unice ที่นากาตะเป็นคนออกแบบเมนูอาหารสำหรับอัลบั้มเองด้วย (งงสินะ… การตลาดแบบแปลกประหลาด ประมาณว่าซื้ออัลบั้มแล้วนำไปแลกอาหารเมนู capsule ได้ที่ร้านคาเฟ่นี้)

    จนมาถึงอัลบั้มที่ 7 “Fruits Clipper” ปี 2006 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกับซาวด์ของวงอย่างเห็นได้ชัด โดยเริ่มมี Beat ที่หนักขึ้น และมีซาวด์สากๆ ออกไปทาง Techno มาเป็นส่วนผสมใหม่ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในจักรวาลของดนตรี Shibuya-kei มาก่อน อาจเกิดจาการเบื่อในซาวด์นุ้งนิ้งๆแบบเดิมๆ ที่ทำจนอิ่มตัวแล้ว เกิดอยากทดลองส่วนผสมใหม่ๆ นากาตะกล่าวว่า มันเป็นการตัดสินใจที่ยากยิ่งในช่วงนั้น ที่จะเปลี่ยนแนวทางตัวเองมาเป็น electronic house เต็มตัว เพราะมันเสี่ยงที่จะเสียฐานแฟนเพลงที่สร้างมานาน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ มีแฟนๆ ขามุ้งมิ้งลิซึ่มหลายคน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะยึดติดในความเป็นชิบุยะเคย์แบบเดิมๆ ซึ่งความรู้สึกนั้นก็เคยเกิดขึ้นกับผมตอนช่วงแรกๆ เหมือนกัน แต่การเวลามันช่วยพิสูจน์ว่า Nakata ไม่ได้เพียงสักแต่ว่าทำดนตรี Techno ซาวด์ฝรั่งแบบตรงๆ เขาพัฒนามันต่อมาเรื่อยๆ จนสามารถหาจุดที่ลงตัวระหว่าง ความนุ้งนิ้งแบบ Shibuya-kei และความตื๊ดแบบ Techno จนได้ในที่สุด มีเพลงที่น่าจดจำมากมายอย่าง Starry Sky, Sugarless Girl, FLASH BACK

ในที่สุดก็มีวันนี้ วันที่ใครๆก็รู้จัก

   ในช่วงนี้ นอกจากการทำอัลบั้มของ Capsule แล้ว ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีงานชุกชุม ไป produce และ remix ให้กับหลากหลายศิลปิน ทั้งกระแสหลัก และอินดี้ อาทิ marino, COLTEMONIKHA, Perfume, Nagisa Cosmetic, MEG, Smap ฯลฯ หรืองานอื่นๆ อาทิ เพลงประกอบเกมส์

    จนกระทั่งจุดสูงสุดของเขา คือ อัลบั้มที่ 10 “More! More! More!” ปี 2008 นั้นขายได้มากถึง 67,309 แผ่นทั่วโลก (มันคือเยอะมากนะ สำหรับศิลปินอินดี้ยุคนี้) และได้ขึ้นอันดับดีมากๆใน Oricon chart ที่ญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก โดยนิตยสาร MARQUEE ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางข่าวสารของดนตรีชิบุยะ และอินดี้ญี่ปุ่น ได้จัดทำเล่มพิเศษ “Capsule Archive” ขึ้นให้โดยเฉพาะ อันเป็นการยอมรับในความสามารถ ความสำเร็จ และความโด่งดังที่นากาตะทำมาตลอดเกือบสิบปี

    ผมยังจำครั้งแรกที่ได้ยินเพื่อนพูดถึงเพลงในอัลบั้มนี้ อย่าง “Jumper” ได้ วันนั้นแทบไม่เชื่อหูตัวเองว่า มันมาสู่หูคนฟังวงกว้างทั่วไปแล้วจริงๆ จากสิบปีก่อนที่มีแต่เราฟังอยู่คนเดียว นับว่าความพยายามของนากาตะเป็นผลสำเร็จ รู้สึกยินดีกับเฮียแกมากจริงๆ T-T

    เพลงของแคปซูล แม้จะไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างเท่าพวกดนตรี Mainstream J-POP แต่ความมีสไตล์เก๋ๆของมันก็เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าเด็กแนว ผู้ใหญ่แนวทั้งหลายในแวดวงสื่อ และศิลปะ จึงได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปประกอบรายการทีวีและโฆษณาอยู่บ่อยครั้ง โดยได้มีเพลงจากอัลบั้มที่ 11 “Player” ที่ถูกนำไปใช้ประกอบซีรี่ย์ญี่ปุ่นเรื่อง “Liar Game” ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกๆที่ชื่อของ นากาตะ เริ่มเข้าไปสู่หูผู้ฟัง Mainstream วงกว้าง

ภาพลักษณ์ในแบบ Techno ในยุคปัจจุบันของ Capsule

ภาพลักษณ์ในแบบ Techno ในยุคปัจจุบันของ Capsule

 

นิตยสาร MARQUEE เล่มพิเศษ capsule Archive

นิตยสาร MARQUEE เล่มพิเศษ capsule Archive

พวกเขายังก้าวต่อไปอีกเรื่อยๆ

    ความสำเร็จนั้นไม่ได้ทำให้เขาหยุดสร้างผลงานแต่อย่างใด แต่ยังขยันคลอดผลงานตามมาอีกยิ่งกว่าปืนกล โดยหลังจากที่ MORE! MORE! MORE! และเพลง Jumper ได้ไปเตะหูชาวโลกไปแล้ว เขาเริ่ม go inter โดยมีงานรีมิกซ์ให้ศิลปินระดับโลกอย่าง Kylie Minogue หรือ Passion Pit

    ยังมีสารพัดผลงานอื่นๆของเขาที่ไม่ได้พูดถึงในที่นี้อีกมาก มีข่าวลือมาว่า ที่จริงแล้วในช่วงที่นากาตะ ขยันทำผลงานกับศิลปินอื่น แท้จริงแล้วเป็นเพราะเริ่มเกิดรอยร้าวในวง เลยอยากทำงานกับคนอื่นสักพัก ที่ไม่ใช่ Toshiko Koshijima

    แต่หลังจากนั้น ช่วงปี 2011 กับการออกอัลบั้ม WORLD OF FANTASY (ที่ถูกเปลี่ยนชื่อจาก KILLER WAVE ชื่อที่ไม่เป็นมงคล เพราะเหตุการณ์สึนามิในช่วงนั้น) ทั้งสองคนได้รับผลกระทบของความเสียหาย ต่อครอบครัวและญาติ โดยเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชน แต่เขาเคยได้ให้สัมภาษณ์ว่า ความสัมพันธ์ในวงกับ Toshiko นั้นได้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง โดยเขากลับมารู้สึกว่าถึงความเป็นคู่หู และความเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งของ Capsule หลังจากที่เคยคิดจะแยกวงตอนช่วงปี 2009 (โดยไม่ได้ระบุสาเหตุที่แท้จริง)

    ระหว่างที่งานชุกชุม จนยุ่งมือเป็นระวิง เขาก็ยังทำ Capsule มาจนถึงอัลบั้มที่  14 CAPS LOCK โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ เปลี่ยนให้ชื่อ Capsule เป็น CAPSULE คือตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และย้ายค่ายไปอยู่ ค่ายย่อยค่ายใหม่ของ Warner Music Japan ในชื่อ unBORDE (ค่ายเดียวกับ Kyary) หลังจากที่อยู่ Contemode มานาน และมีสไตล์ที่เป็น minimalism มากขึ้น ต่อจากนั้น (อ่าน Review เพลงในอัลบั้มนี้ได้ที่นี่ Review : “SHIFT” จาก CAPSULE อัลบั้ม CAPS LOCK )

    ปัจจุบัน Capsule อยู่ระหว่างทำอัลบั้มที่ 15 โดยประกาศมาแล้วว่าจะออกภายในปี 2014 โดยยังไม่ได้ระบุชื่ออัลบั้ม

    นอกจากงานดนตรีในฐานะชื่อ Capsule แล้ว นากาตะ ยังมีผลงานอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งเราจะขอยกยอดไปพูดถึงเฉพาะตัว Yasutaka Nakata สุดยอดโปรดิวเซอร์เบื้องหลัง Perfume และ Kyary Pamyu Pamyu ผู้นี้ในโพสต์ถัดไป ได้ที่ link นะครับ


 

ที่มา
http://capsule-official.com/
http://fuckyeahystk.tumblr.com/

ร่วมพูดคุยกับกลุ่มคนรักดนตรีชิบุยะ และอินดี้ญี่ปุ่น ได้ที่ FB Group : “Shibuya-kei Thailand

ติดตามสารพันเรื่องราว ซาวด์ดนตรี วิถีแมวๆ ได้ที่นี่ VERYCATSOUND.COM

CAPS LOCK อัลบั้มที่ 14 ที่มีความ minimal มากขึ้น

CAPS LOCK อัลบั้มที่ 14 ที่มีความ minimal มากขึ้น

capsulefbcm01

 

Comments (153)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.