มารู้จักกับ Shibuya-kei ย่านถิ่นกำเนิดดนตรีอินดี้สัญญาติญี่ปุ่น

Share via:

Krissaka Tankritwong

 รู้จัก Pon Pon Pon! ของ Kyary Pamyu Pamyu กันใช่ไหม?

 

    สุ้มเสียงที่น่ารักมุ้งมิ้ง บวกกับความแฟนตาซีล้ำสมัยหลุดโลก ที่ดูสุดแสนจะน่าหลงไหล และในขณะเดียวกันก็ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น

เจ้าแม่ความเพี้ยนแห่งฮาราจูกุ Kyary Pamyu Pamyu

 

    หลายคนชอบเธอเพราะความน่ารักสไตล์เพี้ยนได้ใจของเธอ แต่เชื่อว่าหลายคนที่เสพย์งานเพลงจริงๆ ก็ชอบเพราะหลงไหลในซาวด์ดนตรี electro มุ้งมิ้ง ของเธออย่างถอนตัวไม่ขึ้น ไม่เพียงแต่ Kyary เท่านั้น ในยุคนี้เราจะพบหลายวงที่มีซาวด์คล้ายกันแบบนี้ อาทิเช่น

  • Perfume

 

Perfume สามสาว Electro Dance

Perfume สามสาว Electro Dance

 

    หรือถ้าเป็นเพลงไทยก็..

  • ละอองฟอง

 

ละอองฟอง วงไทยเรียกนักร้องมุ๊งมิ๊ง

ละอองฟอง วงไทยเสียงนักร้องมุ้งมิ้ง

 

    รู้ไหมว่าแนวดนตรีเสียงน่ารักๆ มุ้งมิ้งๆ แบบนี้มีที่มาจากไหน? แท้จริงแล้วล้วนมีต้นกำเนิดมาจากดนตรีอินดี้ของญี่ปุ่นแนวหนึ่ง ที่ชื่อว่า

 

 

 

“Shibuya-kei” (ชิ-บุ-ยะ-เคย์)

 

 

 

Shibuya-kei คืออะไร? ทำไมชื่อมาพ้องกับย่านชิบุยะ ในโตเกียว? มาหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลย

    Shibuya-kei เป็น แนวดนตรีอินดี้ของญี่ปุ่นแนวหนึ่ง กำเนิดในย่านชิบุย่า โตเกียว ซึ่งไม่ใช่ทั้ง J-pop และ J-rock ไม่ใช่กระแสหลัก และไม่ได้มีให้เห็นปรากฎในทีวีกระแสหลักของญี่ปุ่นนัก

    คำจำกัดความที่ดีที่สุดของมันคือการผสมผสานระหว่างดนตรีแนว Jazz,Pop และ Electro-pop

    คำ ว่า Shibuya บวกกับคำว่า Kei (ซึ่งหมายถึง ระบบ หรือแนวทาง) ดังนั้น ชิบุย่าเคย์ จึงแปลว่า แนวชิบุย่า หรือ สไตล์ชิบุย่า นั่นเอง

    หลายคนอาจคุ้นหู ในชื่อที่คนไทยบางคนเรียกจนชินหูว่า ชิ-บุ-ยา-เกะ แต่ถ้าตามหลักไวยกรณ์แล้ว kei ต้องอ่านว่า เค หรือ เคะ-อิ นะครับ (เพราะตามอักษรญี่ปุ่น เคะ กับ เกะ จะเป็นคนละตัวกัน และคำว่า เกะ นั้นมีความหมายว่า “ขน” ซึ่งแปลแล้วจะอุบาทว์มาก… ) เอาเป็นว่าต่อแต่นี้ไปเนื้อหาในเวบแห่งนี้ ผมขออ้างอิงการเรียกชื่อที่ถูกต้องว่า ชิ-บุ-ยะ-เค ละกันนะครับ โดยแนวนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “Japanese Club Pop”
 (ชื่อเรียกอย่างอื่นที่เคยได้ยินอาทิเช่น Club Music , Trendy Pop , Club Pop, Future Pop, City Pop)

 


 ลักษณะเฉพาะของดนตรีแนวนี้

    มันคือภาพสะท้อนของความร่วมสมัย และทันสมัยในแบบคนเมือง ความเป็นดนตรีแบบชิบุย่าของแท้นั้น ไม่ใช่แค่ให้น่ารัก ทำให้เสียงร้องมุ้งมิ้ง แล้วจะเป็นได้เลย แต่ต้องมีองค์ประกอบบางอย่างเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ นั่นคือ

    การหยิบจับ mix & match องค์ประกอบทางดนตรีหลายสิ่งอย่างเข้าด้วยกันได้แบบไร้พรมแดน อาทิ ดนตรีตะวันตก+ตะวันออก , ซาวด์ใหม่+เก่า , global + local , traditional + contemporary , acoustic + electronic ซึ่งมีการ cross over กันในแบบมุมมองของคนญี่ปุ่น และย่อยออกมาในรูปแบบดนตรี pop

    ซึ่งด้วย ความเป็น “ญี่ปุ่น” นี้เอง ได้ถูกสะท้อนออกมากับดนตรีนอกกระแสแนวนี้ ทำให้เกิดซาวด์เฉพาะตัวที่จะอบอวลไปด้วยบรรยากาศของความหวือหวา , ล้ำสมัย , stylish , positive , มองโลกในแง่ดี , น่ารัก , สนุก, สดชื่น , มีพลัง , บ้าคลั่งในรายละเอียด , วุ่นวายแบบเป็นระเบียบ ราวกับสภาพของกรุงโตเกียว ที่ห้าแยกชิบุย่า อย่างไงอย่างงั้น

    ส่วนผสมของดนตรีแนวหลักๆที่พบเห็นได้ทั่วไปในงานดนตรีแบบ Shibuya-kei อาทิ เช่น lounge, bossa nova ,classic , rock , blue , jazz และอีกมากมายโดยเฉพาะทางฝั่ง electronic music อย่าง techno , house , hiphop ฯลฯ เรียกได้ว่ามันแทบจะไม่มีข้อจำกัดทางส่วนผสมทางดนตรีเลย


ความเป็นมาโดยสังเขป

    ดนตรีแนวนี้เกิดจาก ศิลปินญี่ปุ่นที่มีวัยเด็กอาศัยอยู่ในย่านชิบุย่า (ย่านแฟชั่นทันสมัยล้ำยุคที่ญี่ปุ่น) และได้ฟังแผ่นเสียงจากตะวันตกมากมาย ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมาเต็มๆ พอโตขึ้นมาทำดนตรี จึงนำ input ของดนตรีตะวันตกหลากหลายแนวทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับมาหลอมรวมกับความเป็น ดนตรีป๊อปของญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว

    ช่วงยุค ’90 สไตล์ Shibuya ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มแพร่ไปสู่ศิลปินกระแสหลัก 
ซึ่งต่อมาแม้ศิลปินบางวงต่อมาเปลี่ยนแนวทางที่ตัวเองทำ และก็ปฎิเสธตัวเองว่าเป็นสไตล์ Shibuya แต่แฟนๆ ก็ยังคงติดเรียกชื่อแนวเดิมนั้นอยู่ (อาทิ Pizzicato Five ที่ตอนนี้ เปลี่ยนมาเป็น Pizzicato One โดยกลายเป็นเพลง Pop Jazz ที่มีโทนออกไปทางหม่นเศร้า)

    เรา จะพบดนตรีแนว นี้ได้ในย่านธุรกิจ และแฟชั่น ที่ทันสมัย ในญี่ปุ่น มากมาย อาทิ เช่น 
Shibuya Center


ศิลปินเด่นๆ ของ Shibuya-kei

 

    วงดนตรีแรกที่ถูกเรียกว่า Shibuya-kei คือ

  • “Flipper’s Guitar” (ปี 1989)
ครั้งหนึ่งของสองหนุ่ม Flipper's Guitar ในลุคแบบ idol pops

ครั้งหนึ่งของสองหนุ่ม Flipper’s Guitar ในลุคแบบ idol pops

    คือสองหนุ่ม Kenji Ozawa และ Keigo Oyamada ที่นำดนตรีอินดี้ป๊อปซาวด์แบบ UK มาเผยแพร่ในญี่ปุ่น และเป็นผู้ริเริ่มทำดนตรีทดลองหัวก้าวหน้า เป็นแบบอย่างให้กับหลายศิลปิน โดยภายหลัง Keigo Oyamada ได้แยกไปทำผลงานเดี่ยวในชื่อ Cornelius และกลายเป็นศิลปินแนวดนตรีทดลองที่ดังไปทั่วโลก วงนี้ออกเพียง 3 อัลบั้ม แล้วยุบวงในปี 1991 ซึ่งหลังจากการยุบวงนั้น ความเจ๋ง และความสำเร็จของพวกเขาเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดวงหน้าใหม่อื่นๆตามมาหลังจากนั้น

– ความดังของ Flipper’s Guitar นั้นแผ่อิทธิพลมาถึงไทยเลยทีเดียว โดยทาง Bakery Music เมื่อก่อนนั้นได้ซื้อลิขสิทธิ์เพลง Friend Again ของวงนี้ไปทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย เป็นเพลง “กะหล่ำปลีชีช้ำ” ของ Joey Boy นั่นเอง แหมทำซะเนียนกริ๊บเลย


Flipper’s Guitar – Friend Again

– ค่าย Smallroom ของไทย ก็เคยทำอัลบั้ม Smallroom 006 tribute to Flipper’s Guitar โดยให้ศิลปินสมอลรูมนำเพลงของ FG ไป cover ในแบบของตัวเอง


Coffee Milk Crazy เพลงในอัลบั้ม Smallroom 006

 

    และอีกวงที่เป็นที่น่าจดจำ คือ

  • “Pizzicato Five” (ปี 1985)

 

P5 วงดนตรีต้นแบบของวงป๊อปมุ๊งมิ๊ง ผู้หญิงร้อง สมัยนี้หลายวง

P5 วงดนตรีต้นแบบของวงป๊อปมุ้งมิ้ง ผู้หญิงร้อง สมัยนี้หลายวง

 

    แม้จะไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแรกที่ใช้ชื่อแนวนี้ แต่รูปแบบ และซาวด์ของวงนี้กลับเป็นต้นแบบให้กับศิลปิน รุ่นหลัง มากมายในปัจจุบัน (ละอองฟอง ของไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น) โดยมีจุดเด่นที่การนำดนตรีทางฝั่ง USA ยุค ’60 จำพวก Jazz, Motown, Bossanova รวมถึงซาวด์แบบวิทยุ AM เก่าๆ มาผสมผสานใหม่ ในรูปแบบเพลง pop เก๋ๆ พวกเขาตั้งวงก่อน Flipper’s Guitar แต่แนวทางเพิ่งมาชัดเจนเอาหลังจากที่ Flipper’s Guitar ได้สถาปนาชื่อแนวนี้แล้ว โดยออกอัลบั้มมาเยอะมาก มีเพลงดีๆมากมายจนนับไม่ไหว และได้ยุบวงปี 2000

– P5 ก็เช่นเดียวกัน ที่อาจจะคุ้นหูคนไทยอย่างเรา เพราะ Bakery Music นั้นตาแหลมอีกแล้ว mr.z หรือ สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ เคยไปเดินเล่นที่ญี่ปุ่น และได้ยินเพลง Sweet Soul Revue ของวงนี้ ลอยมา เกิดถูกใจ เลยติดต่อขอซื้อมาทำเป็นเพลง “สงสัย” ที่ร้องโดย นาเดีย สุทธิกุลพาณิชย์ ปี 2000 ในอัลบั้ม Mr.Z Return to Retro ยังจำกันได้ไหมเอ่ย


Pizzicato Five – Sweet Soul Revue

     ยังมีศิลปินอื่นอีกมากมายหลายร้อยวงที่ไว้เราจะนำเสนอกันในครั้งต่อๆไป ซึ่งนอกเหนือจากในญี่ปุ่นแล้ว เราจะพบศิลปินแนวนี้ในประเทศอื่นๆ อย่างเช่น Momus จาก อังกฤษ , Dimitri from Paris จาก ฝรั่งเศส, Natural Calamity จาก USA ยังมีศิลปินอิสระมากมายทั่วโลกที่นิยมซาวด์แบบชิบุย่า


เกี่ยวกับ Kyary Pamyu Pamyu และ Perfume?

 

     โปรดิวเซอร์ที่ทำดนตรีให้กับทั้งสองศิลปิน คือ Nakata Yasutaka ซึ่งเป็นหัวหอก ณ ปัจจุบันของดนตรีแนว Shibuya-kei เขามีวงดนตรีส่วนตัวของเขาชื่อ “Capsule” อันเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของซาวด์อิเลคโทรนิคที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งวงการอินดี้ญี่ปุ่นในตอนนี้ และเขาได้เผยแพร่ซาวด์แบบ Shibuya-kei ในแบบของเขาสู่วงการ J-pop กระแสหลัก ด้วยการให้กำเนิดเจ้าหญิงฮาราจูกุ ที่ดังระเบิดไปทั่วโลกอย่าง Kyary อย่างที่กล่าวไป

Yasutaka Nakata กับ Toshiko Koshijima แห่ง Capsule

Yasutaka Nakata กับ Toshiko Koshijima แห่ง Capsule

 
    เรียกว่า ปัจจุบันนี้ ความสำเร็จของ “Nakata Sound” หรือ “Shibuya Sound” นั้นทำให้ดนตรีอินดี้แนวนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไปเรียบร้อยแล้ว จากปี 1989 ต้นกำเนิด ถึงตอนนี้ (2014) เป็นเวลา 25 ปี ดนตรีชิบุย่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมาก กว่าจะกลายมาเป็นความมหัศจรรย์ที่ลงตัวอย่างที่เราเห็นใน mv ของ Kyary Pamyu Pamyu ทุกวันนี้

    ถ้าใครติดใจในเสียงดนตรีมุ้งมิ้งเหล่านี้ อยากทำความรู้จักกับดนตรีแนวนี้กันให้มากขึ้น ขอเชิญที่โพสต์ต่อไปนี้กันเลยครับ
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 1 : ยุคก่อนกำเนิด
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 2 : เหล่าผู้บุกเบิก
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 3 : จุดสูงสุดของความเฟื่องฟู
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 4 : อวสานและการเปลี่ยนแปลง
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 5 : กำเนิดใหม่เด็กๆ Neo-Shibuya-kei
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 6 : ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

   หรือร่วมพูดคุยกันได้ที่กลุ่ม Facebook เฉพาะสำหรับคนรักดนตรีชิบุยะ และอินดี้ญี่ปุ่น ได้ที่ FB group : “Shibuya-kei Thailand

ติดตามสารพันเรื่องราว ซาวด์ดนตรี วิถีแมวๆ ได้ที่นี่ VERYCATSOUND.COM

Comments (161)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.