5 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับอาชีพดนตรี คนทำเพลง นัก แต่งเพลง

Share via:

Krissaka Tankritwong

5 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับอาชีพดนตรี คนทำเพลง แต่งเพลง

    ทุกวันนี้ในอาชีพที่ผมทำอยู่ คือ รับแต่งเพลง ทำเพลงและดนตรีประกอบสื่อ ทั้ง เพลงโฆษณา,ละคร,ภาพยนตร์ ฯลฯ ผมพบว่าคนส่วนใหญ่มีความสับสนและเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับอาชีพนี้ที่คนภายนอกมองเข้ามา

1. นักดนตรี, นักร้อง คือ ศิลปิน?

นักดนตรี นักร้อง คือ คนที่เล่นดนตรี หรือร้องดนตรี โดยอาจจะทำเป็นอาชีพหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่า เพลงที่เล่นนั้น เป็นเพลงของคนอื่นที่มีคนรู้จักอยู่แล้ว เล่นไปตามโน๊ตเพื่อ “ถ่ายทอดสารที่ผู้แต่งได้สร้างไว้”

ส่วนศิลปิน สาระสำคัญคือ คือคนที่นำเสนอความเป็นตัวเอง ผ่านบทเพลงที่อาจจะเป็นเพลงของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว แต่ร้องในแบบตัวเองที่มีสไตล์ชัดเจน หรือเป็นเพลงเฉพาะของตัวเองก็ได้ โดยเน้น “ถ่ายทอดสารที่ตัวเองต้องการสื่อ” ให้แก่ผู้ฟัง

แต่ทุกวันนี้ที่เห็นคือ เรียกเหมารวมกันหมด… คนบางคนไปเล่นให้วงคนอื่น อาจจะไปในฐานะนักดนตรี และเล่นอีกงานหนึ่ง เล่นเพลงตัวเอง เขาไปในฐานะศิลปิน

2. Sound Engineer , DJ และ Music Composer นั้น เป็นคนละอย่างกัน

ตามสไตล์ไทยๆ คนทั่วไปมากมาย เรียกอาชีพการทำเพลง พวกนี้รวมๆว่า Sound engineer โดยเข้าใจว่า อาชีพที่ชื่อสุดจะเท่ห์นี้ ทำหน้าที่แต่งเพลง ทำดนตรี แต่ไม่ใช่

คนที่แต่งเพลง แต่งเนื้อร้อง ทำนอง และเขียนโน๊ต คอร์ด ไลน์ประสาน เรียบเรียงเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ นั้นเรียกว่า Music Composer หรือ นักประพันธ์ดนตรี (ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นหลายสายอีกว่า ทำได้ทั้งหมดทุกแบบ หรือเฉพาะทาง เช่น Lyric song writing คือเขียนเนื้อร้อง อย่างเดียว)

ส่วน Sound engineer คือคนที่ทำหน้าที่เป็น “ช่างเสียง” คอยจัดการดูแลงานด้านเสียงอื่นๆในกระบวนการสร้างดนตรี ที่นอกเหนือจากเรื่องตัวโน๊ต อาทิ จัดการ edit เสียงนักร้อง , mix ผสมเสียงที่อัดมาแล้วให้กลมกล่อมลงตัวและมีมิติ ซึ่ง Sound engineer เอง ก็มีแบ่งเป็นสายย่อยๆอีกหลายสายเช่นกัน

ส่วน DJ เป็นสิ่งที่ยิ่งไม่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างดนตรีเข้าไปใหญ่เลย หน้าที่ของดีเจ คือ มิกซ์เพลงสองเพลงที่มีอยู่แล้ว ให้ต่อกันให้เนียน เพื่อเปิดให้คนฟังเพลิดเพลินแบบไม่ติดขัด เพียงแต่การพัฒนาของดีเจทำให้เป็นมากกว่าแค่การมิกซ์ คือก้าวไปสู่การ Remix นำเพลงเก่ามาทำใหม่ หรือแม้แต่สร้างเพลงใหม่เป็นของตัวเองไปในฐานะศิลปินไปเลย จึงมักมีภาพลักษณ์ที่สับสนกับ Sound engineer หรือ Music Composer

แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากความอยู่รอดในยุคปัจจุบันที่ต้องบีบให้จบงานได้ด้วยตัวเอง เราจะพบว่า ทั้ง Composer และ Sound Engineer นั้นมีขอบเขตการทำงานที่เหลื่อมล้ำกันอยู่เป็นปกติ แต่เชื่อเถอะครับว่า ไม่มีใครเก่งไปหมดทุกอย่าง ถ้าถนัดอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็จะแค่พอทำได้แต่ไม่เชี่ยวชาญ ซึ่งถ้าถามผม ผมเป็น Music Composer เป็นหลัก ซึ่งงาน Sound engineer ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่งานหลัก แต่ในกระบวนการสร้างเพลงที่สมบูรณ์ ผมก็ต้องทำงานร่วมกับ Sound engineer ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกที

ผมได้รับคำถามจากน้องๆมากมายที่บอกว่าตัวเองอยากเรียน อยากเป็น Sound engineer ทั้งๆที่ยังไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร จากความเข้าใจของผม ผมคิดว่า เขาอยาก “ทำเพลง” เป็น Composer, Remixer เป็น producer หรือ ศิลปิน สร้างเพลงขึ้นมาใหม่ อะไรแบบนี้มากกว่า ซึ่งที่จริงแล้วเขาต้องพุ่งเป้าไปที่การเป็น Music composer ต้องศึกษาดนตรี ไม่ใช่ Sound engineer

ตัวผมเองเคยเดินทางผิดมาบ้าง เพราะความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า Sound engineer ซึ่งไม่รู้มันเป็นค่านิยมที่เกิดมาจากไหน ทำให้วัยรุ่นชายไทยใครๆ ก็อยากเป็นกันหมด (คู่กับค่านิยมในอาชีพ Fashion Designer ในวัยรุ่นหญิงไทย)

คนไทย เรียกหน้าที่เกี่ยวกับเสียงรวมๆพวกนี้ว่า Sound engineer ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเท่ห์ แต่ถ้ามาทำจริงๆ มันไม่เท่ห์หรอกครับ คุณต้องนั่งอยู่ห้องอัดทั้งวันทั้งคืน ทำงานตัดต่อไฟล์เวฟ เพื่อจัดการเรื่องเสียงยิบๆย่อยๆ ให้คนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างตัวโน๊ตสักตัว ใช้ประสาท และสมาธิสูง เครียด และไม่ได้สุนทรีย์อย่างที่ใครคิด ถ้าคุณไม่ได้รักมันจริงๆ ไปทำอย่างอื่นเถอะครับ

3. นักแต่งเพลงคนหนึ่งไม่ได้ถนัดไปทุกแนว

มันไม่ใช่ว่า ศิลปินคนๆ หนึ่งดังและเก่ง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นดนตรีแนวอะไร เค้าก็ต้องทำได้ดีเสมอไป ดนตรีในโลกนี้มีเป็นร้อยๆแนว แต่ละแนวต้องการเวลาศึกษา ค้นคว้า ฝึกฝน กว่าจะเชี่ยวชาญ ยิ่งถ้าเป็นแนวดนตรีที่มีแบบแผนชัดเจนอย่างพวก ดนตรีคลาสสิค หรือแจ๊ส ยิ่งต้องศึกษาและคลุกคลีกับมันเป็นปีๆ บางคนอยู่กับมันค่อนชีวิตยังไม่มาสเตอร์เลยครับ มันไม่ใช่ว่า คนที่ทำเพลงป๊อป ฮิพฮอพ หรือ ร๊อคสตาร์ จะสามารถสร้างงานออเครสตร้าแบบ Bach หรือ Beethoven ได้เทียบเท่าต้นตำหรับ และในทางกลับกัน จะให้นักดนตรีไทย เล่นขิม มาทำดนตรี Electronica มันก็ไม่ง่ายที่จะหาคนที่เก่งในหลายสายขนาดนั้นจริงๆ

หลายคนคิดว่าการเรียนดนตรีตามแบบแผน Classic หรือ Jazz นั้นไม่จำเป็น แต่ผมบอกได้เลยว่า อย่างน้อยการรู้จักรากฐานของดนตรีทั้งหมด มันเป็นทางตรงที่สุดที่จะช่วยให้ต่อยอดไปยังการทำดนตรีทุกแนวได้ง่ายกว่าแน่นอน

4. นักดนตรี/ศิลปิน ไส้แห้ง? จริงไหม?

ถามหน่อยครับว่า Bodyslam ไส้แห้งไหม?

และมีไหมที่ คนทำงานสายอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับดนตรี แต่ไม่เก่ง เรียนได้ที่โหล่ตลอด มาทำงานก็อยู่แถวหลัง ไม่ได้เรื่องและไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต?

มีคนทุกแบบ และก็มีการแข่งขันอยู่ในทุกสาย ถ้าอยากประสบความสำเร็จ มันแค่ต้องเป็นคนแถวหน้าในสายนั้นๆให้ได้เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าคุณไม่ได้รักในงานสายที่ทำอยู่ มันก็ยากหน่อยที่จะเป็นคนแถวหน้า เพราะพอไม่รักงาน คุณก็ขยันไม่พอ หรืออึดไม่พอที่จะฝึกฝนตัวเองให้เก่งกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง

5. งานดนตรีนั้นสุนทรีย์ และชิลล์

ในความเป็นจริง ทำดนตรีก็เหมือนเป็นกราฟฟิคดีไซน์ มีโจทย์จากลูกค้า มีแก้งาน มีทำตาม reference มีถูกมีผิดในงาน มีเด๊ดไลน์ และที่สำคัญถ้าไม่ผ่าน หรือไม่ทัน มันก็ไม่ได้เงิน…

การทำงานในปัจจุบัน คนก็ทำกับ Computer นั่ง Edit ตัวโน๊ต และเสียงต่างๆ ผ่านโปรแกรม ต้องมีสมาธิจดจ่อกับมันตลอด ฟังเพลงไปด้วยเพื่อความเพลิดเพลินแบบอาชีพอื่นก็ไม่ได้ เพราะงานของเราคือเพลง ต้องตั้งใจฟังเสียงจากโปรแกรม พอเสร็จงานก็อึนละ ไม่อยากฟังเพลงอะไร ขออยู่เงียบๆ ดีกว่า ไอ้ความรู้สึกที่ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย ไม่ต้องคิดอะไรแบบคนปกติมันก็จืดจางลงไปเรื่อยๆ

นี่ยังไม่นับเรื่องที่ว่า ถ้าเป็นฟรีแลนซ์แล้วต้องเจอปัญหาความเครียดที่เหมือนๆกับฟรีแลนซ์สายอื่นอีกนะ

เคยมีคนบอกว่า

“ดีเนอะ เป็นนักแต่งเพลง งานน่าสนุก สุนทรีย์ ดีกว่าต้องนั่งทำงานหน้าคอมทั้งวันเป็นไหนๆ”

อยากจะบอกว่า

“คนทำเพลงก็ทำงานหน้าคอมทั้งวัน ไม่ต่างกันหรอกครับ”

 

พบกับเรื่องราว ซาวด์ดนตรี วิถีแมวๆ ได้ที่นี่ VERYCATSOUND.COM

Comments (160)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.