เพลงเกมส์ chiptune 2

ที่มาของเสียง 8 Bits จาก เพลงเกมส์ แท้จริงแล้วมันคือ?

Share via:

Krissaka Tankritwong

     เสียงดนตรีตู๊ดๆ ที่มีเอกลักษณ์ จาก เพลงเกมส์ famicom สมัยก่อน หรือที่ใครๆเรียกกันว่า เสียง 8 Bits แท้จริงแล้วมันมีที่มาอย่างไร?

รู้จักกับ เพลงเกมส์ หรือ Video Game Music กันก่อน

เพลงประกอบเกมส์ Video Game Music ในยุคเริ่มต้น!

เพลงประกอบเกมส์ Video Game Music ในยุคเริ่มต้น!

นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการละเล่น จนเกิดการสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า Video Game ขึ้นมาบนโลกนี้ เช่นเดียวกับวงการสื่อด้านภาพเคลื่อนไหว ที่ต้องการเสียงประกอบ อย่างภาพยนตร์ สื่อซึ่งถูกพัฒนาต่อมาภายหลังอย่าง Video Game ก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องการ เพลงเกมส์ หรือ เพลงประกอบเกมส์ เพื่อตัวมัน โดยในยุคแรกการกำเนิดวิดิโอเกมส์ จะยังไม่มีเสียง จนเข้าสู่ยุคที่สอง (2nd generation console) อันเรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของวิดิโอเกมส์แบบตู้เกมส์หยอดเหรียญ (arcade game) ในช่วงปลาย 70 ถึงเริ่มมีการใส่เสียงเข้ามาในประดิษฐกรรมชิ้นนี้
ในช่วงนั้น ดนตรียังถูกบันทึกด้วยสื่อที่จับต้องได้ด้วย “คลื่นเสียง Analog” ในรูปแบบของ cassettes tape , แผ่นครั่ง หรือแผ่นเสียงอยู่ ซึ่งมีราคาแพงและไม่เหมาะจะนำมันมาใช้กับตู้เกมส์อาเขตในสมัยนั้น จึงได้มีการคิดค้นวิธีที่จะสามารถสร้างเสียงดนตรีในวิดิโอเกมส์ได้โดยใช้ สื่อแบบดิจิตอล ด้วย computer chip ที่สามารถเปลี่ยนสัญญาณอิเลคโทรนิคผ่านตัวสังเคราะห์เสียง (synthesyser ที่อยู่ใน chip เครื่อง) ให้กลายเป็น “คลื่นเสียง” ส่งออกมาทางลำโพงได้ จึงทำให้เกิดวิธีการทำงานแบบใหม่ ในการสร้างดนตรีด้วยวิธีการนี้ เป็นกระแสใหม่ในยุคนั้น ซึ่งวิธีการนี้ถูกเรียกว่า “Chiptune” โดยตัวอย่าง เพลงเกมส์ แรกๆ ของโลกที่ใช้ production การทำงานเสียงแบบนี้ เช่น เกมส์ Gun Fight ของ Tomohiro Nishikado ปี 1975

เอกลักษณ์แบบ Chiptune หรือเสียง 8 bits นั้น เกิดขึ้นเพราะข้อจำกัด

ลองยกตัวอย่าง การทำ-ฟังดนตรีในสมัยนี้เปรียบเทียบกันนะครับ เรามี คอมพิวเตอร์ที่แสนจะแรง ความจุเป็นร้อยกิ๊ก เพลงๆหนึ่งที่ได้รับการบันทึกเสียงมาอย่างดี จากอุปกรณ์ราคาหลักล้าน ผ่านกระบวนการทั้งหลาย จนกลายมาเป็นไฟล์ .mp3 ความจุ 5 MB ให้เราฟังกัน แต่ไอ้แค่ 5 MB เนี่ย สมัยก่อนมันเป็นเรื่องใหญ่มากครับ ตลับเกมส์ Famicom เกมส์หนึ่ง จุ เป็นหลัก KB ครับ (เช่น 24K , 48K,64K ,160K และ 320K ตามลำดับ) ซึ่งมันไม่มีทางเลยที่จะใส่ไฟล์เพลงคุณภาพเสียงดีๆเข้าไปได้ เพราะฉะนั้นการใช้วิธี “Chiptune” ก็คือทางออกเดียวในยุคสมัยนั้น ดังนั้น Composer ที่ทำ เพลงเกมส์ สมัยนั้น จึงต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่มี เพราะใช้ได้เพียงเสียงที่ออกมาจาก Chip พวกนี้เท่านั้น ข้อจำกัดที่ว่าคือ
1. เป็นเสียงแบบ Monophonic คือเล่นหลายเสียงมากเกินไป พร้อมกันไม่ได้ และ chip ถูกใส่ไว้จำกัด ทำให้เล่นได้เพียงแค่ 3-4 เสียง (channels) พร้อมกันได้เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเล่นโน๊ตได้อิสระทุกอย่างแบบการประพันธ์ดนตรีปกติ คอร์ดดนตรีบางคอร์ด ที่มีการเล่นโน๊ตพร้อมกันมาก จะไม่สามารถเล่นได้
2. คุณภาพเสียงที่ไม่สมจริง คือ แบน, แห้ง, แข็ง, ไม่นุ่มนวล และ ไม่เหมือนเครื่องดนตรีจริงเลย เพราะเป็นเสียงที่ออกมาจาก Chip คอมพิวเตอร์โดยตรง เป็น wave form ดิบๆ ที่ไม่ได้ผ่านสิ่งใดเลย
เจ้า Chip พวกนี้แหละที่ใช้สร้างดนตรี Chip music หรือ Chiptune ในเกมส์สมัยก่อน

เจ้า Chip พวกนี้แหละที่ใช้สร้างดนตรี Chip music หรือ Chiptune ในเกมส์สมัยก่อน

 

แต่ข้อจำกัดใดๆมันก็มาหยุดพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์ไม่ได้ Composer สมัยนั้นได้แสดงให้เห็นว่า ด้วยเพียงแค่เสียง chip โง่ๆ กากๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์มันก็สามารถสร้างสรรค์ Sound และดนตรี ที่ถ่ายทอดจินตนาการ และสื่อสารถึงการเคลื่อนไหว และอารมณ์แบบต่างๆ ที่เราได้เห็นและคุ้นเคยกันมาใน Video Game ต่างๆ อาทิ เสียงการตายของ Rockman ที่มีการเล่นเสียงยืดจากสูงลงต่ำ ซ้ำๆกัน อันเป็นที่จดจำ , เสียงกระโดดของ Mario ที่เล่นเสียงยืดลากยาวๆ จากต่ำไปสูง , BGM ของ Mario ที่สุดแสนจะมีชีวิตชีวา ที่ใครๆ ก็จดจำได้ หรือ

ข้อจำกัดมันไม่สามารถปิดกั้นจินตนาการมนุษย์ได้เลย!

มาริโอ้ กระโดด, โหม่ง , เก็บเหรียญ ฯลฯ เสียงเอฟเฟคต่างๆที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดของ chip music

มาริโอ้ กระโดด, โหม่ง , เก็บเหรียญ ฯลฯ เสียงเอฟเฟคต่างๆที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดของ chip music

     ซึ่งต่อมา ในยุคที่ Video Game เริ่มเข้าสู่ “ยุค 3D” (ยุคที่ 5 หรือที่เรียกกันว่ายุค 32-bit,64-bit) ด้วยการมาถึงของเครื่องเล่นเกมส์ที่ทรงพลังด้านการประมวลผล และด้านความจุด้วยสื่อใหม่อย่าง CD (อันได้แก่ Playstation ที่เป็นผู้นำในยุคนั้น) การทำงาน Music Production แบบ Chip tune จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ข้อจำกัดในการทำงานหายไป และดนตรีประกอบเกมส์ก็เข้าสู่ความเป็นอิสระ ที่จะสามารถเนรมิตสิ่งใดก็ได้ เหมือนกับที่สื่อภาพยนตร์เป็น ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ Video Game จะถูกพัฒนาไปมาก พร้อมๆกับเทคโนโลยี และความแรงของคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต เราสามารถได้ยินวงออเครสตร้าทั้งวงบรรเลงคลอเคล้าไปกับการกับสาดกระสุนใน เกมส์สงครามได้ ด้วยคุณภาพเสียงคมชัดสมจริง

ดนตรีประกอบเกมส์ยุคปัจจุบัน ที่มีทำลายข้อจำกัด จนสามารถ ใช้ orchestra ทั้งวงได้แล้ว

ดนตรีประกอบเกมส์ยุคปัจจุบัน ที่มีทำลายข้อจำกัด จนสามารถ ใช้ orchestra ทั้งวงได้แล้ว

จากข้อจำกัด กลายเป็นสไตล์

แต่ทว่า… สิ่งที่คนได้สร้างสรรค์ไว้ในยุคก่อนหน้านั้นกลับฝังแน่นในความทรงจำเรา โดยการใช้เสียงที่เกิดจากกระบวนการ “Chiptune” ที่ดิบๆนั้น สิ่งที่เคยอึดอัดกับข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ดนตรี ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็น “เสน่ห์” ที่คนโหยหา เป็นคาแรกเตอร์และเอกลักษณ์เฉพาะของดนตรีประกอบเกมส์ไปซะแล้ว โดยเสียงดนตรีจาก chip computer แบบนี้มักถูกเรียกว่า “8-Bit” ตามชื่อของยุครุ่งเรืองของมัน (ยุคที่ 3 ของวงการวิดิโอเกมส์) หรือชื่อเต็มๆที่ถูกต้องของมันคือ “Chiptune Music”
เมื่อยุคของ ความจุมหาศาลแบบ CD มาถึง chiptune ก็ตกกระป๋อง.. รึเปล่า?

เมื่อยุคของ ความจุมหาศาลแบบ CD มาถึง chiptune ก็ตกกระป๋อง.. รึเปล่า?

ปัจจุบัน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลจนสามารถสร้างภาพกี่มิติ ความละเอียดเท่าใด หรือระบบเสียงที่สมจริงเพียงใด แต่ ภาพ Pixel Art รวมไปถึง Sound แบบ Chiptune หรือดนตรี 8-Bit นั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Video Game Music ไปเรียบร้อยจนยากที่จะลบออกไปจากใจ Gamer แล้ว
ฉะนั้นถ้าถามว่าอะไรคือ Video Game Music ไม่เพียงแต่แค่ว่า มันคือเพลงประกอบเกมส์ ซึ่งจะเป็นแนวอะไรก็ได้ ตามแต่ Theme ของเกมส์นั้นๆ แต่ถ้าแบ่งแยกตามประเภท ก็ต้องแบ่งเป็น แบบสมัยใหม่ กับ old school (8-bit)
ซึ่งในหลายๆครั้ง ด้วยความที่ภาพลักษณ์ของความเป็น 8-bit มันติดฝังแน่นคู่กับคำว่าวิดิโอเกมส์ไปแล้ว เสียง chiptune 8-bit มันจึงเป็นสไตล์หนึ่งที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานในแบบเกมส์ไปโดยปริยาย ในหลายๆครั้ง ที่เกมส์ต้องการให้รู้สึกถึงความสนุกแบบวิดิโอเกมส์ และผสมผสานกับคุณภาพเสียงที่สมจริงตามศักยภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดการใช้งานแบบผสมขึ้นมา ทำให้เสียง 8-bit เป็นหนึ่งในส่วนประกอบ เสมือนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งในปัจจุบัน ที่มีบทบาทมากในการสื่อสารบรรยากาศแบบ video game ได้อย่างดี
ความคลั่งไคล้ในดนตรีแบบ chiptune ที่ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย แม้จะพ้นยุคก่อกำเนิดไปแล้ว

ความคลั่งไคล้ในดนตรีแบบ chiptune ที่ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย แม้จะพ้นยุคก่อกำเนิดไปแล้ว

ความเหมือนและความต่างกับ ดนตรีประกอบภาพยนตร์

เช่นเดียวกับสื่อภาพยนตร์ แม้จะเป็นการทำงานเสียงประกอบภาพเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่า การทำงาน ดนตรี หรือ เพลงประกอบเกมส์ นั้นแตกต่างจาก การทำเพลงประกอบภาพยนตร์อย่างไร ขอจำแนกเป็น 2 ข้อ
1. การทำงานซับซ้อนกว่า
เพลงประกอบเกมส์ มีรายละเอียดในการคิด Sequence ต่างๆของดนตรีแต่ละส่วนมากกว่าภาพยนตร์ เนื่องจากภาพยนตร์เป็นสื่อแบบ “เล่นเป็นเส้นตรงในช่วงเวลา” ทุกอย่างค่อนข้างจะ fix ไว้แล้ว แต่การทำเพลงประกอบเกมส์นั้นไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบนั้น ซึ่งต้องคิดเยอะกว่ามาก เพราะเกมส์องค์ประกอบหลายส่วนที่มี interact กับคนเล่น ซึ่งเสียงและ sound effect ต่างๆ ต้องถูกโปรแกรมให้เล่นกลับไป, ย้อนมา, เล่นซ้ำ, หยุด ฯลฯ ยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเกมส์ การทำงานด้านดนตรีและเสียงจึงมีกระบวนการซับซ้อนมากกว่าภาพยนตร์
2. ความรู้สึกของการเป็น”เกมส์”
ดังที่อารัมภบทมาตั้งแต่ย่อหน้าแรก การใช้องค์ประกอบแบบ 8-bit chiptune นั้นช่วยสื่อสารภาพของความเป็นเกมส์ได้ดีกว่าการไม่ใช้มันเลย แม้เจือส่วนผสมนี้ลงไปในบางส่วนของเกมส์ อาทิ เช่น เสียงปุ่มกด มันก็ให้อารมณ์ร่วมของการเป็นเกมส์ได้มากกว่า ซึ่งนอกจากแค่ เสียง 8-bit แล้ว องค์ประกอบอย่างอื่นที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นเกมส์ได้ ยังมีอีก อาทิ เช่น ลักษณะการประพันธ์เพลงด้วยลายมือบางอย่าง ที่ให้ความบรรยากาศแบบเกมส์แต่ละแนว ซึ่งอาจต้องเป็นคนที่ใช้เวลาคลุกคลีกับเกมส์เป็นเวลานาน (บ้าเกมส์แต่เด็กนั่นเอง) ที่ซึมซับความรู้สึก หรือกลิ่นเฉพาะตัวที่เป็นขนบของเกมส์แต่ละแนวได้ (อาทิเช่น ถ้าเป็นเกมส์ RPG ต้องแต่งให้ได้กลิ่นยุโรปยุคกลาง ด้วยการใช้ Mode ทางดนตรีแบบโบราณ เป็นต้น)
Video Game Music นั้นไม่ถูกจัดเป็นแนวดนตรี แต่ด้วยการแบ่งประเภทของมันก็ทำให้ได้ภาพประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตามมนต์ขลังของยุครุ่งเรืองของวิดิโอเกมส์ในอดีต อันเป็นที่มาของกระแสการคลั่งไคล้ 8-Bit ในยุคปัจจุบัน เกิดจากความโหยหาอดีตของ Generation Y คนยุค 80′ 90′ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ซึ่งบางทีมันก็เป็นแฟชั่นที่กระแสแรงขนาดตอนนี้ Black Eye Pees ยังเอากับเค้าด้วย

ใครจะคิดล่ะว่า การบ้าเกมส์มันเปลี่ยนโลกได้ขนาดนี้!


     ขอทิ้งท้ายไว้กับ อัลบั้มแรกในโลกที่นำเสียง Chiptune มาทำเป็นเพลงให้เราฟังกันอย่างเต็มรูปแบบ ในชื่ออัลบั้มที่ตรงตัวคือ “Video Game Music” เพลง Gaplus โดย Haruomi Hosono เจ้าพ่อวงการอินดี้ของญี่ปุ่น ยุค ’80-’90 นั่นเอง ( จะเห็นความเชื่อมโยงได้ว่า แท้จริงแล้ว Chiptune/8Bits Music นั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม Shibuya-kei เช่นกัน )

     ทาง VERYCATSOUND Music Production ของเราเอง ก็มีบริการรับแต่งเพลงเกมส์ หรือ ดนตรี เพลงประกอบเกมส์ ด้วยเช่นกัน จึงกลั่นกรองประสบการณ์และความคิดออกมาเป็นบทความนี้ คิดว่าคงมีประโยชน์กับใครหลายๆคนครับ

Comments (4682)