สอนทำเพลง 20 อาชีพ

20 อาชีพดนตรีที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก

Share via:

Krissaka Tankritwong

คนส่วนใหญ่แล้วจะมองว่า อาชีพดนตรีเป็นเรื่องเต้นกินรำกิน และไม่มั่นคง เพราะมันมีภาพลักษณ์ให้นึกถึงแต่ ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ หรือครู อาจารย์ ที่สอนดนตรีเท่านั้น ถูกไหมครับ

แต่ที่จริงแล้วมันมีอาชีพของคนดนตรีอาชีพอื่นๆอีก ที่หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จัก และในหลายๆอาชีพที่ว่ามาเหล่านั้น ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ไม่ใช่การเต้นการร้องการเล่นดนตรี อย่างที่ใครหลายๆคนคิด แต่ต้องอาศัยความรู้ทางดนตรีด้วย

วันนี้เราจะมาแนะนำอาชีพที่คุณอาจจะไม่รู้จักมาก่อน ถ้าคุณยังเป็นคนนอกวงการอยู่นะ และเป็นการเปิดโลกหรือแนะแนวทางสำหรับหลายๆคน ให้เป็นทางเลือกสำหรับการก้าวสู่อาชีพดนตรีด้วยครับ

ผมพยายามคัดเลือกอาชีพที่ผมเห็นว่ามีอยู่จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย และรู้จักกับคนทำอาชีพนี้จริงๆ ข้อมูลมาจากทั้งคนใกล้ตัว คนรอบตัวที่ทำอาชีพเหล่านี้จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า คนที่ทำอาชีพเหล่านี้ มีทั้งคนที่เป็นสายนั้นๆโดยเฉพาะ ไม่ทำอย่างอื่นเลย หรือแม้แต่คนที่รับทำงานหลายสายโดยใช้ความรู้ทางดนตรีที่ตัวเองมีอยู่ มีทุกแบบครับ

ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มาลองไปดูด้วยกันเลยครับ

20 อาชีพดนตรีที่คุณอาจไม่รู้จัก

ผมจะขอแยกออกเป็น 5 หมวดหมู่นะครับ

หมวดหมู่แรก: หมวด Composer

1. Film Scoring Composer

เรียกเป็นภาษาไทยว่า นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ หรือดนตรีประกอบสื่อ เป็นสายหนึ่งของโปรดิวเซอร์ แต่ไม่ได้ทำเพลงฟังทั่วไป แต่ทำเฉพาะดนตรีประกอบภาพยนตร์ หรือภาพเคลื่อนไหวต่างๆ อาทิ Animation , Clip โดยจัดเป็นงานสายโปรดักชั่น เป็นงานสายนิเทศศาสตร์แบบหนึ่ง ที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ทางดนตรีเข้ามาร่วมกับความรู้ด้านภาพยนตร์ ซึ่งการจะมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ง่าย เพราะต้องแตกฉานมาแล้วทั้งทางดนตรี และต้องมีความรู้สายนิเทศศาสตร์มาผสมด้วย

การจะมาสายนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นคอหนังพอสมควร มีความรอบรู้ในเรื่องภาพยนตร์ต่างๆด้วย ควรเป็นคนที่สนใจภาพยนตร์มากพอที่จะรู้จักงานของผู้กำกับชื่อดังต่างๆ และสามารถเข้าใจ reference ของงานแบบต่างๆได้เป็นอย่างดี

2. Video Game Music Composer

อีกอาชีพที่คล้ายการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ เพียงแต่เป็นสื่อเกม ซึ่งจัดว่าเฉพาะทางมากกว่าอีกระดับหนึ่ง โดยมีลูกค้าหลักๆเป็นพวกบริษัทเกม โปรแกรมเมอร์ หรือคนแวดวงที่เกี่ยวกับ เกม หรือเทคโนโลยี ซะเป็นส่วนมาก หลายๆคนอาจจะคิดว่า มันไม่ต่างอะไรกับทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ เพราะต้องทำดนตรีตามโจทย์ของภาพเหมือนกัน แต่พอถ้าได้มาทำจริงๆจะพบว่า มีหลายอย่างที่ต่างกัน ไม่ว่าดนตรีประเภทไหน มันจะมี “ขนบ” บางอย่างของมันอยู่ และดนตรีประกอบเกมก็เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นคนที่ชอบเล่นเกมอยู่แล้วคงไม่มีปัญหา

แต่หากใครที่มาสายดนตรีเพียวๆ หรือมาจากสายอื่น แต่ไม่ได้เข้าใจแนวดนตรีที่มักจะใช้ประกอบเกม อาจจะทำให้เกิดอาการทำออกมาไม่ตรง reference และไม่สามารถทำสิ่งที่ลูกค้าในสายนี้ต้องการได้ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันที่จะทำอาชีพนี้

3. Commercial Music Composer

นักทำดนตรีประกอบโฆษณา สายนี้คือบอกได้เลยว่า ถ้าคุณไปได้ดีในสายนี้ จะเป็นสายที่ทำรายได้ที่ค่อนข้างสูง (ไม่ขอนับรวมการเป็นศิลปินมีชื่อเสียงนะครับ) สายนี้ใกล้เคียงกับสองสายด้านบนอยู่บ้าง แต่งานส่วนมากจะเป็นเพลงแบบที่มีเนื้อร้องด้วยซะมากกว่า เพราะเป็นงานสื่อสารด้วยเพลง เพื่อการขาย หรือเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดของลูกค้าเจ้าของแบรนด์ อาทิ เพลงประจำแบรนด์สินค้า เพลงประจำบริษัท

ในวงการธุรกิจหรือโฆษณาจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลมากกว่าวงการอื่นๆ ทำให้งบประมาณในการทำดนตรีก็มีมากกว่าสายอื่นๆตามไปด้วย ลูกค้าที่จ้างส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์สินค้า นักธุรกิจ นักการตลาด หรือเอเจนซี่โฆษณาต่างๆนี่แหละครับ ฉะนั้นจึงวนเวียนกับคนวงการนิเทศศาสตร์เหมือนกับ Film Composer

ที่สำคัญอีกอย่างในวงการนี้คือ จะต้องเกี่ยวพันกับดนตรีสายกระแสหลักอยู่เรื่อยๆ เพราะบ่อยครั้งที่ลูกค้ามักอยากได้ศิลปินที่มีชื่อเสียงมาช่วยร้องในเพลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Producer หรือ Composer ที่ต้องทำการประสานงานในส่วนนี้ครับ

4. Musical Theatre Composer

อีกสายที่ใกล้เคียงกับ Film Score แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว คือ การทำดนตรีประกอบละครเวที หรือ Musical Theatre นั่นเอง โดยวงการละครเวที จะมีลักษณะเฉพาะพิเศษของมันอึกแบบ เป็นงานศิลปะสายที่ค่อนข้างต้องใช้พลังงานร่างกายสูง เนื่องจากเป็นการเล่นสดทุกรอบ ฉะนั้นจึงต้องมีการซ้อมหนัก และใน part ของดนตรีเองก็มักจะมีความหนักที่ไม่แพ้กัน เพราะนอกจากเรื่องการทำเพลงแล้ว บางทีอาจจะต้องไปยุ่งกับการคิวเปิดเสียงบนเวที หรือการคุมนักดนตรีเล่นสดบนเวที ฯลฯ

ถ้าจะมาสายนี้ ควรจะเป็นคนที่รักในงานสายนี้จริงๆ และสนใจดนตรีแนว Broadway Musical หรือเพลงประกอบของ Disney อยู่พอสมควร เนื่องจากการประพันธ์เพลงสายนี้มีความเฉพาะตัวอีกแบบ และค่อนข้างมีความยากพอสมควร

5. Stock Music & Sound Creator

อีกหนึ่งอาชีพของยุคใหม่ คือการทำ Stock Music หรือ Stock Sound ขาย โดยมักวางขายในเวบไซต์ platform ต่างๆที่รวมผลงานดนตรีจำนวนมากมาให้คนเลือกซื้อเอาไปใช้ตามจุดประสงค์การใช้งานของแต่ละคน มักจะถูกจัดหมวดหมู่ไว้ตามแนวดนตรี , mood & tone ของเพลง เพื่อนำไปประกอบกับงานภาพอะไรสักอย่าง อาทิ คลิป Youtube , Online VDO Social เป็นต้น

ลักษณะการทำงานของสายนี้ จะเหมือนกับการทำ Stock Photo ขาย ที่ต้อง create ชิ้นงานออกมาด้วยตัวเอง และต้องค่อนข้างมีจำนวนมากพอที่จะให้ผู้ซื้อเลือกแบบที่ถูกใจ บางทีก็ต้องอาศัยการ research ว่า แบบไหนที่ตลาดต้องการ และนำนิยมนำไปใช้บ่อยๆ เกิดการซื้อซ้ำบ่อยๆ หรือขายดีเป็นต้น ฉะนั้นนอกจากต้องทำเพลงออกมาคุณภาพดี และได้จำนวนแล้ว ยังต้องศึกษาลักษณะเพลงและตลาดไปด้วย

6. Sound Designer

อีกอาชีพหนึ่งที่มีชื่อเท่ห์ๆ แต่มีความหมายหลากหลายแยกไปตามสายต่างๆ ตามแต่ละวงการที่เรียกอีกที งานในหมวดหมู่ Sound Design นี้จัดเป็นงานที่กึ่งๆระหว่างการทำ Sound ในแบบ Sound Engineer กับการทำ Design ในแบบ นักทำดนตรี

หลักๆแล้ว อาชีพที่ได้ยินคำเรียกว่า Sound Designer อยู่บ่อยๆ คือ คนทำเสียงประกอบในภาพยนตร์ หรือพวกเสียง sound effect แปลกๆต่างๆ ในเกม ซึ่งบางทีก็จะมีหน้าที่ทับซ้อนกับคนที่ทำเสียงประกอบอีกแบบที่เรียกว่า Foley หรือบางทีก็ใช้เรียกสิ่งๆเดียวกัน หากแต่ Foley คือการทำเสียงประกอบภาพยนตร์ในรูปแบบ Analog คือมักจะใช้วัตถุต่างๆมาสร้างเสียง เพื่อนำไปใช้ประกอบกับฉากต่างๆในภาพยนตร์ อาทิ ฟ้าผ่า เสียงม้าวิ่ง รองเท้าเดิน เป็นต้น แต่จะมีเนื้องานอีกแบบที่ต้องอาศัยความรู้ด้าน Sound Engineer + Sound Synthesize หรือการสังเคราะห์เสียงที่ปกติแล้วใช้ในทางการทำดนตรี เพราะบางทีเสียงที่ต้องสร้างขึ้นมา มันเป็นเสียงที่ไม่มีอยู่จริงในโลก แต่ต้องใช้เทคโนโลยีในการ Design และสร้างสรรค์มันขึ้นมาด้วยกระบวนการทางด้าน Sound ต่างๆ บางทีจึงเรียกคำว่า Sound Designer แยกออกมาจาก Sound Engineer หรือ คนทำ Foley อีกทีหนึ่ง

Sound Designer ทำหน้าที่ทำเสียงประกอบเหล่านี้ ส่วนมากในงานสื่อต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์ , animation , เกม หรืออะไรก็ได้ที่ต้องใช้การออกแบบเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ และไม่ใช่การประพันธ์ดนตรีโดยตรง อาชีพนี้มีอยู่จริง แต่งานส่วนใหญ่ที่มีปริมาณการจ้างงานเรื่อยๆส่วนใหญ่จะไปเป็นสายภาพยนตร์ซะมากกว่า ฉะนั้นจึงจัดเป็นงานสายกึ่งนิเทศ กึ่งดนตรีหรือ Sound Engineer ประเภทหนึ่ง

ปล. สำหรับอาชีพในหมวดหมู่ Composer ทั้งหมด จะตรงสายกับหลักสูตร The Real Producer ของเราแทบทั้งหมด โดยเฉพาะ Level 5 จะมีวิชา เหล่านี้ ที่ครอบคลุมการทำอาชีพ Composer ในทุกสายไว้หมดแล้ว นั่นคือ

VCA501 : Commercial Music Composer

VCA502 : Film Score Music Composer

VCA503 : Game Music Composer

VCA504 : Sound Designer

หากใครสนใจ ดูข้อมูลได้ที่ link นี้นะครับ
http://mkt.verycatsound.academy/mf2

หมวดหมู่ที่สอง: หมวด Audio Engineer

7. Live Sound Engineer

ในงานคอนเสิร์ต หรือตามร้าน ผับ บาร์ ต่างๆ จะมีคนที่มักใส่เสื้อสีดำ ยืนอยู่ที่ mixer แล้วค่อยปรับเสียงต่างๆให้มีความสมดุลย์ ให้ฟังดูเคลียร์ ใส ชัด ไม่มีตีกัน ไม่อื้ออึงเกินไป ให้คุณภาพฟังดูดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หรือบางทีก็มาช่วยนักดนตรีจัดไมค์ จัดลำโพง ฯลฯ บุคลากรเหล่านี้เรียกว่า Live Sound Engineer ครับ

วิศวะกรเสียง หรือ Sound Engineer มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมดนตรี เพราะเป็น technician ที่ช่วยให้ดนตรีของนักดนตรี หรือ Composer , Arranger , Producer ที่ทำออกมา หรือเล่นออกมา มีคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด รวมถึงการอำนวยความสะดวกต่างๆ แม้จะไม่ได้ทำดนตรีโดยตรงแต่ก็เป็นบุคลากรสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้

Sound Engineer หลายๆคนมาจากคนดนตรีอยู่แล้ว ซึ่งการเล่นดนตรีเป็นและเข้าใจดนตรี เป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก มากกว่าคนที่เล่นไม่เป็นแน่นอนครับ ซึ่งศาสตร์ของ Sound Engineer นั้นมีสอนลึกกันเป็นถึงระดับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับดนตรี

8. Studio Sound Engineer

คล้ายกับ Live Sound engineer แต่เป็นวิศวกรเสียงที่อยู่ในห้องอัด หรือสตูดิโอครับ โดยการทำงานในส่วน Sound Engineer ในสตูดิโอ จะแยกย่อยออกเป็นหลายหน้าที่ หลายตำแหน่งอีก อาทิ Recording Engineer คอยอำนวยความสะดวกและควบคุมการบันทึกเสียงของนักดนตรี , Mixing Engineer , Mastering Engineer เป็นต้น

มีงานหลายส่วนที่จำเป็นในกระบวนการทำดนตรี หรือ Music Production ที่อยุ่นอกเหนือจากการ ประพันธ์ดนตรี ทำเพลง ทำดนตรี เรียบเรียงดนตรี นั่นคือ การบันทึกเสียง การทำ mix down หรือปรับบาลานซ์เสียง หรือการทำ Mastering ให้มีความดังได้ระดับสากล ซึ่งเรื่องพวกนี้ล้วนแต่เป็นความถนัดเฉพาะทางของ Sound Engineer ที่โฟกัสกับเรื่องคุณภาพเสียง หรือ Sound ซึ่งใช้ความชำนาญที่เป็นคนละอย่างกับดนตรี

ในบางกรณี ยุคปัจจุบันเราอาจเห็น Producer ที่จบงานด้วยตัวเองได้ โดยทำ Mix , Mastering เองได้ด้วย ซึ่งพบเห็นได้บ่อย ในขณะเดียวกัน คนที่จะมาทำงานในส่วนนี้ถ้าเป็นคนดนตรีเองด้วย หรือเล่นดนตรี ทำเพลง แต่งเพลง เรียบเรียงดนตรีได้ด้วย ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ เพราะส่งเสริมความเข้าใจในดนตรีมากขึ้นอีกเช่นกัน

โดยมากคนที่จะเป็น Sound Engineer ไม่ว่าเป็นแบบ Live หรือ Studio มักจะมีสอนทั้งสองแบบในสถาบันเดียวกัน แต่ไปแยกสายของตัวเองในภายหลัง หรือบางคนก็ทำได้ทั้งสองอย่างเลยครับ

9. นักสร้างห้องบันทึกเสียง

อาชีพนี้เหมือนเป็นร่างรวมของ สถาปนิก กับ นักดนตรี เพราะต้องมีความรู้เรื่องการสร้างห้อง สร้างอาคาร โดยไปรวมกับความรู้เรื่องดนตรี หรือเรื่อง Sound Engineer สามารถคำนวนค่าสะท้อนเสียงต่างๆ เพื่อทำให้ห้องที่สร้างมาเกิดสภาพ Acoustic ที่ดีที่สุด เหมาะแก่จุดประสงค์การใช้งาน อาทิ ห้องอัด ห้องซ้อม ห้อง Control รูม หรือห้องดูหนังฟังเพลงต่างๆได้

ขอบเขตที่ทำได้ อาจจะไม่ใช่แค่การสร้างห้องอัดเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการทำ interior เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียง เช่นการทำผนังกันเสียง เก็บเสียง ทำห้อง Home Theatre สำหรับความบันเทิง ทำห้องที่มีสภาพเหมาะสมกับการประชุมหรือการสอน หรือแม้แต่การสร้างอุปกรณ์ปรับแต่ง Acoustic ห้อง อย่างพวก Acoustic Panel ต่างๆ แผ่นกันเสียงสะท้อน ฯลฯ ขายเป็นสินค้าได้อีกด้วย

อาชีพนี้เรียกว่า ถ้าทำดีๆ สามารถสร้างเม็ดเงินได้มากเช่นกัน เพราะการสร้างห้องอัดแต่ละทีมักต้องใช้เงินลงทุนหลักแสนถึงล้าน และคนที่ทำก็มักเป็นลูกค้าที่มีเงิน เป็นอีกอาชีพที่แนะนำครับ

หมวดหมู่ที่สาม: หมวดช่างเครื่องดนตรี

10. ช่างซ่อมเครื่องดนตรี

ผมเคยเห็นช่างซ่อมเครื่องดนตรีหลายคน ที่ผันตัวมาจากนักดนตรี แต่อาศัยความรู้ความชำนาญในงานช่าง รับซ่อมเครื่องดนตรีด้วย และสิ่งที่เห็นบ่อยๆเลยคือ งานชุกตลอด แทบไม่มีเวลาว่าง

อาจเพราะตอนนี้มีคนที่ต้องการเป็นศิลปินนักดนตรี มากกว่าช่างซ่อมมากนัก งานสายนี้จึงมี demand ความต้องการอยู่ตลอด เพราะเป็นความชำนาญที่ค่อนข้างเฉพาะทางมากๆ สำคัญคือต้องรักในเครื่องดนตรีชิ้นนั้นจริงๆจนไปร่ำเรียนเครื่องดนตรีชิ้นนั้นอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การเล่นให้ได้ดี แต่ไปจนถึงองค์ประกอบโครงสร้างต่างๆ Mechanic ของมัน ลักษณะทางกายภาพ เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะทำอาชีพนี้ แต่ใครที่สนใจ เท่าที่ผมเห็นนะ ผมบอกได้ว่า ไม่มีตกงานครับ

11. ช่างซ่อมเครื่องเสียง

อีกสายหนึ่งที่คาบเกี่ยวระหว่างช่างซ่อมเครื่องดนตรี กับ Sound Engineer อีกที แต่เป็นการซ่อมเครื่องเสียงรวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำดนตรีต่างๆ อาทิ ไมโครโฟน ลำโพง ซาวด์การ์ด หูฟัง ฯลฯ เท่าที่ผมเห็น ก็เป็นอีกอาชีพที่งานชุกอีกเช่นกัน ช่างแทบไม่มีช่วงว่าง ติดต่อไปทีไร ติดงานอื่นตลอด

การจะมาสายนี้ได้ ต้องพ่วงกับความรู้ทางวงจร Electronic แน่นอน รวมกับความรู้ทางด้านดนตรีด้วย บางทีอาจจะรับซ่อมพวก Keyboard Synthesizer หรือเครื่องดนตรีที่เป็นแผงวงจรอีเลคโทรนิคด้วย ก็จะยิ่งขยายขอบเขตงานที่รับได้เพิ่มขึ้นไปอีก และยิ่งหางานเยอะ ง่ายขึ้นไปอีก เป็นอีกสายที่แนะนำสำหรับผู้ที่สนใจและมีสกิลครับ

12. นักทำเครื่องดนตรี

อาทิเช่น นักทำกีตาร์ นักทำ Synthesizer มีให้เห้นบ้าง โดยเฉพาะกีตาร์จะเห็นบ่อยที่สุด เป็นอีกอาชีพที่มักจะพ่วงกับช่างซ่อมเครื่องดนตรีด้วย เพราะต่อยอดมาจากการซ่อมจนมาสร้างเอง แต่บางคนก็รับทำอย่างเดียวเลย มีคนทำเป็นล่ำเป็นสัน และกีตาร์ custom แต่ละตัวก็ไม่ใช่ราคาถูก ขายกันเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ช่างก็ต้องเก่งจริงๆ และมีความละเอียดละเมียดกับงาน จัดเป็นงานที่ยาก และต้องมีทั้งฝีมือและศิลปะระดับสูงทีเดียว

หมวดหมู่ที่สี่: หมวดCreativeMarketing

13. Music Marketing & Manager

นักการตลาดดนตรี หรือผู้จัดการศิลปิน คือผู้ที่คอยช่วยเหลือศิลปินหรือวงดนตรี ในการกิจกรรมต่างๆ ที่ศิลปินไม่สะดวกที่จะทำเอง อาทิเช่น การจัดการ การดีลงาน การประสานงาน การขาย การทำการตลาด การวางแผนโปรโมท ฯลฯ ที่จริงแล้วสำคัญมากๆ แต่คนมักไม่นึกถึงอาชีพนี้กัน เพราะจุดอ่อนของการเป็นศิลปินโดยส่วนใหญ่คือมักจะถนัดแต่กับเรื่องการสร้างผลงาน แต่ไม่มีหัวด้านที่กล่าวไปซักเท่าไร โดยเฉพาะการตลาด บุคลากรเหล่านี้คือเบื้องหลังที่จะมาช่วยทำให้ศิลปินคนนั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก

โดยปกติในค่ายเพลงจะมีตำแหน่งแนวนี้อยู่หลายตำแหน่ง นอกจาก Marketer หรือ Manager แล้ว ที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ คือ AR หรือ Artist Relation คือผู้ดูแลศิลปินที่จะทำการประสานงานในส่วนต่างๆให้ศิลปินกับคู่ค้าหรือคนภายนอก ซึ่งบางครั้งตำแหน่งพวกนี้ก็ผันตัวมาจากคนที่เป็นนักดนตรีมาก่อนได้เช่นกัน

*วิชาในหลักสูตร The Real Producer ใน LEVEL6 ทั้งหมดมีเนื้อหาของ Music Marketing และเหมาะกับผู้ที่อยากประกอบอาชีพดังกล่าว ถ้าสนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ link นี้ครับ

MUSIC MARKETING COURSE
https://verycatsound.com/academy/level6/

14. Music Content Creator

นักสร้างคอนเท้นท์ดนตรี พูดให้เห็นภาพง่ายๆก็คือ Youtuber สายดนตรีนั่นแหละครับ เค้าอาจจะไม่ได้เป็นศิลปิน นักดนตรีโดยตรง แต่เป็นคนสร้าง Content ให้คนติดตาม สร้างชื่อเสียงในสื่อใดสื่อหนึ่ง อาทิ youtube , facebook แล้วนำชื่อเสียงและจำนวนยอดผู้ติดตามนั้นมาทำให้เกิดรายได้อีกที ไม่ว่าจะเป็นจากยอด view ตรงๆ หรือการขายสินค้าหรือบริการบางอย่างตามมาอีกที

ปัจจุบันบทบาทของการเป็น Music Content Creator ไม่ได้อยู่ที่ผู้ที่เป็น Youtuber เป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว แต่แม้จะเป็นคนทำอาชีพอย่างอื่น แต่ก็อาจทำ Content เพื่อโปรโมทตัวเอง หรือเป็นการ PR ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้คนรู้จักกันได้ทุกกิจการหรือทุกประเภทธุรกิจสินค้าหรือบริการ เช่นกัน

*วิชาในหลักสูตร The Real Producer ใน LEVEL6 ทั้งหมดมีเนื้อหาของ Music Marketing และเหมาะกับผู้ที่อยากประกอบอาชีพดังกล่าว ถ้าสนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ link นี้ครับ

MUSIC MARKETING COURSE
https://verycatsound.com/academy/level6/

15. นักเคราะห์-วิจารณ์เพลง

เราอาจเคยได้ยินคำว่า นักวิจารณ์หนังหรือวิจารณ์เพลงมานานแล้ว แต่ที่จริงแล้ว อาชีพจริงๆ ของรีวิวเพลง ส่วนใหญ่ก็คือการทำ Content แบบหนึ่ง หรือเป็นนักเขียน คนที่เป็นอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักโดยไม่ทำอย่างอื่นเลย ผมไม่แน่ใจว่ามีอยู่จริงไหม หรือมีอยู่แต่น่าจะมีน้อยมาก เพราะนักวิจารณ์ดนตรีบางคนที่ผมรู้จักก็ทำหลายอาชีพ นอกจากเป็นนักเขียนแล้ว เป็นนักทำคอนเทนท์ บางทีก็เป็นดีเจ หรือสอนดนตรีด้วยเช่นกัน อาชีพนี้จึงเป็นหนึ่งในนิยามหน้าที่ๆหนึ่ง ที่ไม่ใช่อาชีพหลักมากกว่า หลายๆคนที่เป็นนักวิจารณ์เพลง อาจเป็นคนที่เป็นนักดนตรีด้วยหรือไม่ได้เป็นก็ได้เช่นกัน แต่หลักๆแน่ๆคือต้องชอบฟังเพลงมากๆ และเป็นคอดนตรีตัวยงคนหนึ่งที่รู้จักเพลงเยอะ กว้าง รอบรู้ และติดตามวงการดนตรีมานานจนเห็นภาพรวมที่มากกว่า และกว้างกว่า คนทั่วไป

16. นักจัดรายการวิทยุ

หลายๆคนเรียกคนทำสิ่งนี้ว่า ดีเจ แต่เป็นคนละแบบกับ ดีเจ ที่มิกซ์เพลงหรือเปิดเพลงตามคลับ ผมเลยขอเรียกว่านักจัดรายการวิทยุละกันนะครับ จริงอยู่ว่า รายการวิทยุอาจจะไม่ใช่สิ่งที่นิยมในปัจจุบันนัก แต่ก็ยังมีอาชีพนี้อยู่จริง ไม่ว่าคลื่นวิทยุนั้นจะกลายเป็นสถานีในอินเตอร์เน็ตไปแล้วก็ตามที

คุณสมบัติของคนทำอาชีพนี้ คล้ายกับพิธีกร หรือนักดำเนินรายการซะมากกว่า ต้องมี soft skill ที่ดี น้ำเสียงน่าฟัง พูดจาชัดเจน ฉะฉาน พูดเก่ง มีบุคลิกภาพที่ดี แม้จะไม่ได้เห็นหน้าก็ตาม (แต่สมัยนี้นักจัดรายการวิทยุมักเห็นหน้าบ่อยกว่าเมื่อก่อน) รักในเสียงดนตรี และแม้รู้ไม่เท่านักวิจารณ์แต่ก็ควรรู้จักเพลงเยอะหลากหลาย ยิ่งมาจากการเป็นนักดนตรีก็มักจะมีแต้มต่อบางอย่างที่พูดถึงดนตรีได้ลึกซึ้งกว่า ถ้าใครสาย extrovert หน่อยก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะได้เปรียบกับอาชีพนี้มากกว่าครับ

หมวดหมู่ที่ห้า: หมวดอื่นๆ

17. DJ (นักเปิดเพลง-มิกซ์เพลง)

Disc Jokey หรือ DJ ที่ทำการเปิดเพลงให้ลื่นไหลต่อกันในคลับ ในผับ หรือสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรี ที่จริงดีเจเองแบ่งเป็นหลายสายอีก แต่คร่าวๆก็คือ จะเป็นคนคอยเปิดเพลงเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแขก หรือคนที่มาเที่ยว มาฟังเพลง มาทานอาหาร มาดื่ม มาเต้น ฯลฯ โดยต้องทำให้เพลงที่เปิดออกมามีบรรยากาศสนุก และลื่นไหล ไม่สะดุด นั่นคือหน้าที่หลัก และโดยดั้งเดิมนั้น จะมีแฟนๆของดีเจแต่ละคนที่เป็นแฟนเหนียวแน่นคอยตามมาฟังเพลงที่ดีเจคนนั้นๆเปิด เพราะชอบใน taste หรือรสนิยมการเลือกเพลงของดีเจคนนั้นๆ เท่ากับว่ามันเป็นการเป็น influencer เรื่องดนตรีไปโดยปริยาย

แต่ปัจจุบันอย่างที่ได้กล่าวไป อาชีพดีเจ ได้เกิดขึ้นในไทยมาเกินยี่สิบปี และได้กลายพันธ์ไปหลายสายหลายแนว จนบางทีก็มีสภาพคล้าย Entertainer หรือบางทีก็เป็น performer อย่างหนึ่ง เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจสายนี้ อยากให้ลองศึกษากันดูดีๆว่าเหมาะกับตัวเองรึเปล่านะครับ เพราะการเล่นดีเจ ไม่ใช่การเล่นดนตรีหรือทำเพลงเป็นโปรดิวเซอร์โดยตรง แต่เป็นการนำเพลงที่มีคนทำมาแล้วมาเปิด (ย้ำว่าแค่เปิด ไม่ใช่การทำเพลงขึ้นมาใหม่อย่างที่ใครหลายคนคิด) ซึ่งอาจเปิดแบบพลิกแพลงได้หลายแบบ หลายเทคนิค ไม่ได้เปิดตรงๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ คุณควรทำความเข้าใจกับมันดีๆว่ามันคืออะไรกันแน่ ก่อนจะลงทุนเยอะไปกับมัน พยายามรู้ภาพรวมให้ได้ก่อนครับว่ามันคืออะไร และมันคือสิ่งที่คุณตามหาอยู่ หรือต้องการ จริงหรือไม่

ที่ผมเตือนไว้ก่อน เพราะหลายๆคนมักเข้าใจคำว่าดีเจผิด คิดว่าเป็นคนทำดนตรี Electronic ซึ่งจริงๆไม่ใช่นะครับ มันมีภาพลักษณ์ใกล้เคียงกัน และคาบเกี่ยวกัน แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ดีเจหลายๆคนไปเรียนทำดนตรีเพิ่ม เพื่อตัวเองจะได้ทำดนตรี Electronic และทำเพลงของตัวเองได้ ก็คือควบการเป็นศิลปินด้วย แต่หลายๆคนก็ไม่ใช่ และเป็นดีเจอย่างเดียว และหลายๆคนที่เป็นศิลปินดนตรีแนว Electronic ก็ไม่ได้เป็นดีเจ ต้องแยกให้ออกนะครับ

แต่หากคุณคิดว่า คุณแน่ใจกับเส้นทางสายนี้จริงๆ มันก็มีหนทางเป็นอาชีพได้เช่นกันครับ แต่ลองศึกษาเส้นทางดีๆ ว่าจะไปทางไหน และทางไหนเป็นไปได้สำหรับคุณ เพราะอย่างที่ผมบอกว่า เส้นทางดีเจ มันแตกแขนงออกไปหลายแบบ หลายบริบทจริงๆ ในยุคปัจจุบัน ขอไม่ลงรายละเอียดลึกเรื่องนี้มากนะครับ

18. Music Therapist (นักดนตรีบำบัด)

อาชีพนี้คนดนตรีรู้จักน้อยมากๆ มันมีอยู่จริงตามสถาบันที่บำบัดสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลต่างๆ เป็นการใช้ศาสตร์ของดนตรีมาช่วยในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งผมเองก็ลงลึกในรายละเอียดอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนทำงานสายนี้จริงๆ ที่รู้คือ มีเป็นสาขาปริญญาโทให้เรียน หากสนใจมันจริงๆ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนดนตรีที่มองหาทางเลือกใหม่ๆในการประกอบอาชีพนะครับ

19. ขายเครื่องดนตรี

ฟังดู Simple มากๆ แต่ผมเห็นว่าหลายๆคนรอบตัวทำแล้ว work คือเค้าอาจจะมีความสนใจในเครื่องดนตรีบางอย่างเฉพาะตัว และมีความรู้ค่อนข้างมากในเครื่องดนตรีชนิดนั้นๆ และสามารถหาสินค้ามาในราคาถูก และขายทำกำไรได้ มันอาจเป็นมือสอง หรือมือหนึ่งก็ได้ (โดยส่วนมากมือสอง จะเหมาะกับผู้เริ่มต้นมากกว่า เพราะมือ 1 มีเจ้าตลาดอยู่เยอะ) และ Social Media ปัจจุบันนั้นเอื้อต่อการทำสิ่งนี้มากๆ บางคนทำจนเป็นอาชีพหลักเลย ผมเห็นอยู่บ่อยๆ ถ้าใครคิดว่ามีหัวด้านค้าขาย ซื้อมาขายไป ซื้อถูกขายแพง จับของเก่ง ขายเก่ง แนะนำครับ

อย่างที่บอกว่า ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในเครื่องนั้นๆค่อนข้างมาก ฉะนั้นคนที่เป็นนักดนตรีสายนั้นๆมาก่อนย่อมได้เปรียบครับ

20. Music Entrepreneur (ผู้ประกอบการธุรกิจดนตรี)

ทำกิจการเกี่ยวกับดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะคล้ายกับที่กล่าวไปทั้งหมด หรืออาจไม่คล้ายเลย อาทิ เปิดห้องซ้อม ห้องอัด ทำ Start Up หรือ Platform เกี่ยวกับดนตรี ฯลฯ โดยส่วนมากมักต้องมาจากการที่เป็นคนที่รักดนตรีจริงๆ หรือเป็นนักดนตรีมาก่อนมาทำ ถึงจะเข้าใจปัญหา และ insight ของผู้บริโภคจริงๆ จึงสามารถสร้างสินค้าหรือบริการได้ตรงจุด โดนใจผู้บริโภค

The Real Producer

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจในการประกอบอาชีพด้านดนตรี ข่าวดีคือ ตอนนี้คุณมีทางเลือกใหม่ที่สร้างให้คุณเป็น Producer มืออาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม สอนการแต่งเพลง ทำดนตรี ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เบสิคไปจนจบ advance และในหลักสูตรยังมีวิชาที่เสริมสำหรับผู้ที่อยากทำอาชีพในสาย Music Marketing เพื่อทำให้เกิดการโปรโมทที่ถูกวิธี การเพิ่มฐานแฟนคลับ และการทำเงินด้วยธุรกิจดนตรีอีกด้วย

หากใครสนใจ กรุณาติดต่อแอดมินที่ Line @verycatacademy หรือรับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ link ด้านล่างสุดนี้

————————

VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
.
ถ้าคุณรู้ตัวแล้วว่าดนตรีไม่มีทางลัด ถ้าคุณอยากเข้าใจ และเชี่ยวชาญ
ถ้ามีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน ผมไม่อยากให้คุณหลงทาง
มาคุยปรึกษากันได้ครับ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.