สอนแต่งเพลง ชำแหละ 6 วิชาทำเพลง_

ชำแหละ 6 วิชาทำเพลง ให้เข้าใจว่าเรียนอะไรก่อนตัดสินใจ

Share via:

Krissaka Tankritwong

ในฐานะที่ผมทำอาชีพโปรดิวเซอร์มากว่าสิบปี และเจอผู้คนที่เข้ามาปรึกษามากมาย จะพบปัญหาหนึ่งของผู้ที่อยากเรียนทำเพลง ซึ่งจะมีคล้ายๆกัน โดยก่อนที่คุณจะเริ่มเรียนการทำเพลง สิ่งแรกที่คุณควรจะรู้ก่อนเลยคือ “คุณจะเรียนอะไร?” ผมรู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นคำถามที่มือใหม่หลายคนคงตอบว่า ก็เรียนทำเพลงไง… และนั่นแหละคือปัญหาครับ เพราะที่จริงแล้วในจักรวาลของการทำเพลง มันทั้งกว้างและลึกไปหมด การเรียนทำเพลงก็แบ่งออกมาสารพัดวิชา สารพัดขั้นตอน กว่าจะประกอบกันมาเป็นเพลงหนึ่งเพลง และความลึกมันก็ลึกมากจนเรียนกันได้ถึงปริญญาเอก

ทีนี้พอคนที่จะมาหาคอร์สเรียนเอาเองนอกระบบ มันเลยจำเป็นที่ต้องรู้ก่อนว่า อะไรเป็นอะไร ก่อนที่จะตัดสินใจได้ถูกว่า สิ่งนั้นเหมาะกับเราหรือไม่
วันนี้เราจะมาชำแหละให้ดูว่า คอร์สเรียนทำเพลงแบบต่างๆ หรือประเภทวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทำเพลงแบบต่างๆ มันมีอะไรบ้าง

ประเภทของการเรียนทำเพลง 6 รูปแบบ

1. การใช้โปรแกรมทำเพลง (DAWs)

DAWs หรือที่ย่อมาจาก Digital Audio Workstation หรือพูดง่ายๆก็คือโปรแกรมที่เอาไว้ทำเพลงในยุคปัจจุบันนั่นเองครับ บทบาทของมันจริงๆแล้วมันก็คล้ายๆกับการมาทดแทนบรรทัดห้าเส้นในอดีต คือสามารถบันทึกโน้ต หรือสิ่งที่ต้องการได้ยินลงในนี้ได้เลย พร้อมกับฟังผลลัพธ์ของมันได้เดี๋ยวนั้นเลย เป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการทำเพลงอย่างมาก
แต่คุณต้องเข้าใจก่อนว่า การทำเพลงเนื้อแท้ของมันแล้วคือการออกแบบดนตรี หรือการ design ว่าจะเล่นโน้ตตัวไหนบ้าง เล่นอย่างไร และโปรแกรมทำเพลงมันเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เอาไว้บันทึกโน้ตพวกนั้นเป็นสื่อกลาง หรือเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการทำเพลงเท่านั้นเอง สำคัญกว่าคือ เพลงที่คุณคิดออกมา คุณต้องคิดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะใช้โปรแกรมไหน หรือแม้แต่เขียนเป็นโน้ตออกมาก็ย่อมทำได้
ฉะนั้น การใช้โปรแกรมมันจึงเป็นส่วนเล็กๆของการทำเพลง ซึ่งทำให้เรารู้เฉยๆว่า กดปุ่มไหน มันทำอะไรบ้าง แต่มันไม่ได้มีส่วนช่วยให้คุณคิดเพลงที่ดีออกมาได้ การเรียนการใช้โปรแกรมทำเพลงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการทำเพลงจริงๆแน่นอน

2. การทำบีท (Beat Making)

การทำบีท คืออะไร? ผมเคยเขียนบทความนี้อย่างละเอียดเอาไว้แล้ว ลองอ่านได้ที่นี่ครับ “ที่มาของคำว่า BEAT ทำไมจู่ๆแปลว่าการทำดนตรี”

แต่ในที่นี้จะขอสรุปง่ายๆว่า การทำบีท คือคำที่คนยุคนี้เอาไว้ใช้เรียกการทำดนตรี ซึ่งการทำดนตรีจริงๆแล้วมีศัพท์อย่างเป็นทางการว่า Music Arranging แต่ในปัจจุบัน เวลาใช้คำว่าสอนทำบีท ผู้สอนมักจะเข้าใจร่วมกันว่า มันเป็นการสอนให้กับคนระดับเริ่มต้น ที่ไม่ได้มีความรู้ทางดนตรีมากมายนัก แต่สอนให้พอทำดนตรีแบบคร่าวๆได้ (เพราะถ้าใครที่รู้เยอะถึงระดับนึงแล้วคงจะไม่ใช้คำว่าทำบีท)
การทำดนตรีอย่างคร่าวๆที่ว่า มักมีวิธีการประมาณนี้ คือ ใช้ loop หรือ sample สำเร็จรูปมาแปะลงบนเพลง มีการ edit ปรับแต่งอะไรหน่อย ใส่ effect ต่างๆ หรือถ้ามีการใส่โน้ตใส่คอร์ดเข้าไปใหม่จริงๆ ก็มักจะสาธิตแบบง่ายๆ ให้เข้าใจง่าย หรือมีการใช้ plug-in สำเร็จรูป สูตรลัด สูตรโกงต่างๆเข้ามาช่วย เพื่อให้ทำได้ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางดนตรี หรือมีน้อย
การเรียนการทำบีท มันอาจเหมาะกับผู้เริ่มต้นก็จริง แต่ถ้าเมื่อไรที่ผู้เรียนอยากเรียนรู้สิ่งที่ลึกกว่านั้น อยากสร้างเพลงของตัวเองได้แบบ 100% จริงๆ โดยไม่ได้ดึง source สำเร็จรูปมาใช้ อยากคิดโน้ตทุกโน้ตด้วยตัวเองจริงๆ และสามารถดีไซน์ทุกแบบที่ต้องการได้ หรือมีเสียงในหัวแต่อยากทำแบบนั้นให้ได้เป๊ะๆ การเรียนทำบีทจึงไม่เพียงพอต่อผู้เรียนที่ต้องการระดับลึก หรือสิ่งที่เป็นวิชาดนตรีที่แท้จริงอีกเช่นกัน

3. การ Mix , Master หรือ Sound Engineer

กระบวนการท้ายๆของการทำเพลง เมื่อทำขั้น Design หรือพวก Compose , Arrange จบแล้ว จะต้องมาทำขั้นต่อไปที่เรียกว่า การ Mix , Master ซึ่งโดยปกติดั้งเดิมจะเป็นหน้าที่ของอาชีพที่เรียกว่า Sound Engineer แต่ปัจจุบันก็มี Producer จำนวนไม่น้อยที่นิยมทำสิ่งนี้เองจนจบกระบวนการ ซึ่งข้อดีก็คือ ทำเองได้จนจบไม่ต้องไปพึ่งใคร แต่ข้อเสียก็คือ มันก็ต้องกินเวลาเรียนและฝึกฝนเพิ่มขึ้นไปอีกกว่าจะเก่ง (หาข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมได้ที่ “ขอแบบเคลียร์ๆ หน้าที่ของ Sound Engineer คืออะไรแน่?” )
การทำ Mix , Master เป็นกระบวนการที่สำคัญก็จริง แต่ที่จริงแล้วไม่ได้เหมาะกับทุกคน เหตุผลเพราะ
อย่างแรกเลยคือ กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ ผู้เรียนควรต้องผ่านการเรียนรู้ การแต่งเพลง และเรียบเรียงดนตรีมาแล้ว มีเพลงของตัวเองที่เรียบเรียงเสร็จสิ้นมาแล้วทุกโน้ต เหลือแค่ขั้น ขัดเกลาตัวเสียงให้มีคุณภาพดีขึ้นเฉยๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการออกแบบดนตรีที่ทำไปแล้ว นั่นแปลว่า มันไม่ควรข้ามขั้นมาเรียนขั้นนี้ก่อนที่จะทำกระบวนการก่อนหน้านี้เป็นก่อน
อย่างที่สองคือ แม้ผู้เรียนจะอยู่ในจุดที่ทำดนตรีเป็นแล้ว เหลือแค่ขั้น Mix , Master แต่ไม่ใช่ผู้เรียนทุกคนที่จะเหมาะที่จะทำสิ่งนี้เอง ว่ากันตามตรงเรื่องของการทำ Mix , Master นั้นต้องใช้พรสวรรค์เฉพาะพอสมควร นั่นคือเรื่องของความสามารถในการฟัง เหมือนเหล่าคนที่เป็น Audiophile ซึ่งมีหูที่ดีมาก สามารถแยกแยะความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของเสียงได้ ซึ่งการฝึกฟังแบบ Sound Engineer นี้มันเป็นสิ่งที่แตกต่างกับการฝึกฟังแบบ Composer (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเก่า
“การฝึกหูแบบ Composer กับ Sound Engineer นั้นแตกต่างกันอย่างไร”)

ฉะนั้นถ้าบางคนลองพยายามแล้วจริงๆ แต่ก็ยังฟังไม่ออก ซึ่งมันอาจจะต้องใช้เวลาฝึกฝนอีกหลายปีกว่าจะฟังออกขึ้นมา นั่นแปลว่า คุณอาจจะไม่ต้องเรียนวิชานี้เลย แล้วใช้วิธีจ้าง Sound Engineer เพื่อจบงานให้มากกว่า แต่กระนั้นเองการเรียนเรื่องนี้ในระดับเบื้องต้นก็จะช่วยให้มีความเข้าใจที่จะบรีฟงานต่อไปยัง Sound Engineer ได้ถูกต้องตรงใจ
ข้อยกเว้นหนึ่งอย่างคือ ถ้าคุณเป็นคนที่ชัวร์แล้วว่าอยากเป็น Sound Engineer แต่ไม่ใช่ Producer , Composer , Arranger สิ่งนี้ก็คือควรเรียนอยู่แล้วครับ ตรงสาย

4. ทฤษฎีดนตรี (Music Theory)

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ควรรู้เรื่องทฤษฎีดนตรี จะทำให้ทำเพลง แต่งเพลง ทำดนตรีได้ดีขึ้น เป็นเรื่องจริงครับ แต่สิ่งที่อยากบอกไว้ก่อนว่า โดยส่วนใหญ่แล้วการเรียนวิชาที่เรียกว่า ทฤษฎีดนตรี มักสอนทฤษฎีดนตรีแบบตรงๆเลย คือเป็นวิชา เป็นตัวโน้ต มีแบบฝึกหัดให้ทำ ให้เขียน ซึ่งแน่นอนว่าค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับผู้เริ่มต้น และต้องเรียนไปนานกว่าผู้เรียนจะเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงได้ว่ามันเอาไปใช้ทำอะไร หรือทำให้ทำเพลงดีขึ้นยังไง
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดนตรี ก็เป็นเรื่องที่แนะนำว่าควรเรียนอยู่ดี ถ้าต้องการไปต่อในระดับที่สูง ความจริงที่คุณหนีไม่พ้นอย่างหนึ่งก็คือว่า แม้คุณจะบอกว่า สามารถแต่งเพลงได้แล้วโดยไม่ต้องรู้ทฤษฎีดนตรี และไม่อยากเรียน เพราะจะทำให้กรอบความคิด นั่นเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะสิ่งที่คุณไม่รู้ก็คือว่า เพลงที่คุณใช้สัญชาติญาณแต่งออกมา ที่จริงแล้ว โน้ตที่คุณจินตนาการออกมา มันไม่ได้ไม่มีกรอบ แต่มันอยู่ในกรอบความรู้ทฤษฎีดนตรีกรอบเล็กๆ ที่คุณไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไรเฉยๆ แต่การเรียนรู้ทฤษฎีดนตรีมันเป็นเหมือนไฟฉายที่ทำให้รู้ว่า แบบไหนคืออะไร เรียกว่าอะไร และมันมีแบบที่เรายังไม่รู้อีกมาก
การเรียนทฤษฎีดนตรี ไม่ได้กรอบจินตนาการคุณ แต่มันการขยายกรอบความรู้ออกไป จะช่วยทำให้คุณสามารถคิดเพลงที่เป็นอิสระออกจากกรอบความรู้เดิมได้มากขึ้น และจินตนาการในการทำเพลงคุณก็จะกว้างไกลมากขึ้นไปอีก

5. การแต่งเพลง (Song Writing)

คำว่าแต่งเพลง คนไทยมักใช้ในความหมายถึง การแต่งเนื้อร้อง+ทำนอง หรือเพลงในแบบที่มีเนื้อร้อง โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีคอร์สที่สอนการแต่งเพลงมากมายมหาศาลไปหมด เรียกได้ว่า คุณชอบใคร ชอบสำเนียงแบบไหน ก็ไปหาเรียนกับตัวศิลปินแนวนั้นๆได้เลย
การแต่งเพลงที่จริงแล้วควรเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนทำเพลงทุกอย่าง เพราะการแต่งเพลงคือกระบวนการต้นน้ำ เราจำเป็นจะต้องได้ตัวเนื้อร้องและทำนองหลักมาเสียก่อนจะมาทำดนตรีให้กับมันจนเต็มวง และนำไปมิกซ์เสียงต่อ
เมื่อขึ้นชื่อว่า คอร์สสอนการแต่งเพลง มักจะเน้นหนักไปที่การคิดเนื้อร้องมากกว่า ส่วนในภาคของดนตรีนั้น มีบ้างแต่ไม่ลึกเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เพลง pop ที่ฟังกันอยู่ส่วนมาก ไม่ได้ใช้ความรู้ทางดนตรีลึกอะไรมาก ซึ่งถ้าผู้เรียนแต่งเพลงเป็นแล้ว อยากทำส่วนของดนตรีให้ลึกขึ้นถึงจะไปศึกษาเรื่อง Compose , Arrange หรือ Music Theory ต่อเอาเองครับ

6. การประพันธ์หรือเรียบเรียงดนตรี (Compose , Arrange)

การประพันธ์ (Music Composing) และการเรียบเรียง (Music Arranging) ที่จริงแล้วสองอย่างนี้เป็นคนละสิ่งกัน แต่ตอนเรียนอาจจะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่ในวิชาเดียวกันหรือแยกก็เป็นได้
โดยส่วนมากแล้ว การ Compose จะหมายถึงการสร้างหรือออกแบบทำนองหลักของเพลง (Main Melody) โดยอาจรวมไปถึงโครงสร้างทางเดินคอร์ดด้วย (Chord Progression) ซึ่งคล้ายกับการทำ Song Writing แต่การ Compose มักจะหมายถึงการทำเพลงแบบไม่มีเนื้อร้อง หรือพวกเพลงบรรเลงซะเป็นส่วนมาก
ส่วนการ Arranging หรือการเรียบเรียงเครื่องดนตรี หรือเรียบเรียงเสียงประสาน เป็นการนำเพลงที่ประพันธ์มาแล้ว หรือแต่งมาแล้ว มาขยายโดยใส่เครื่องดนตรีทุกอย่างให้ครบเต็มวง อาทิ กีตาร์ กลอง เบส คีย์บอร์ด ฯลฯ เสียงทุกเสียงที่ได้ยินในเพลง โดยจะเป็นการออกแบบ สร้างใหม่ขึ้นมาทุกโน้ต ให้สอดคล้อง กลมกลืน และเพิ่มสีสันให้ตัวเพลงมีความสมบูรณ์
ถ้าเปรียบก็เหมือนกับ การทำ Compose คือจิตใจ ส่วน Arranging ก็คือร่างกาย อะไรแบบนั้นแหละครับ
อาจมีกรณีบางกรณีที่ ผู้แต่ง ทำส่วน Compose แล้วใส่เครื่องดนตรีทั้งหมดไปในทีเดียว แล้วรวมเป็นคำว่า Composition ไปเลย โดยไม่ต้องมีขั้นตอน Arranging ก็มีเช่นกันครับ โดยส่วนมากจะเกิดกับกรณีของเพลงบรรเลง
การเรียนในลักษณะสองอย่างที่ว่ามานี้ คือการเรียนที่เป็นเนื้อหาหลักของการทำเพลงโดยตรง เรียกว่าเป็น Core ของวิชา ซึ่งข้อดีคือ มันเป็นวิชาดนตรีแท้ๆ แบบไม่ได้ใช้ทางลัดที่สอนคร่าวๆ ทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และออกแบบเพลงของตัวเองได้แบบลุ่มลึก ทุกโน้ต ทุกคอร์ด
แต่ประเด็นของมันเลยก็คือ มันหาเรียนยาก และมันกินระยะเวลาเรียนค่อนข้างนาน ถ้าเทียบกับการเรียนวิชาอื่นๆ และแน่นอนว่าเมื่อต้องเรียนเยอะ ต้องฝึกฝนเยอะ ค่าเรียนที่ต้องใช้ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วมันเลยสอนกันในมหาวิทยาลัยมากกว่าจะหาเรียนได้ภายนอก

สรุป

ก่อนที่จะคุณจะเริ่มตัดสินใจเรียนอะไร ควรต้องเข้าใจภาพรวมและรู้ก่อนครับว่า จุดหมายคืออะไร เรียนไปทำไม ที่จริงผมแนะนำให้คุณมาลองฟังบรรยายในคอร์สนี้ดูก่อน
The Way of Music Maker https://verycatsound.academy/womm
เป็นคอร์สฟรี ที่ให้ความรู้แก่ผู้เริ่มต้น ที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหนของการเรียนทำเพลง และต้องการจะไปจุดไหน และต้องรู้อะไรบ้าง หรือทำยังไงต่อ

The Real Producer

ใครที่รู้แล้วว่าอยากจะเรียนอะไร The Real Producer ของเขาก็มีสอนให้ครบทุกอย่างตามที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเรียนเพื่อทำผลงานของตัวเอง หรือต้องการประกอบอาชีพ Producer เราก็มีหลายวิชาให้คุณได้เลือกไปเรียนรู้กัน ใครที่สนใจสามารถเข้าไปเช็คได้ที่เว็บไซน์ https://verycatsound.com

หรือสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างเลยครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ

—————————

VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
www.verycatsound.academy/funnel01
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
โทร. 0856662425

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.