เรียนทำเพลง เรียนต่อคณะดนตรี

อยากเป็นศิลปินเพลง ควรเรียนคณะดนตรีหรือไม่?

Share via:

Krissaka Tankritwong

ศิลปินเป็นอาชีพที่เป็นที่ใฝ่ฝันของใครหลายคน เนื่องจากได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และมีชื่อเสียงโด่งดัง มีเงิน ซึ่งเมื่อมันฟังดูสวยหรูขนาดนั้น ใครๆก็อยากเป็นจริงไหมครับ ซึ่งหลายๆคนที่มีความฝันนี้ก็อาจจะมีคำถามว่า แล้วถ้าอยากเป็นศิลปิน ควรต้องเรียนคณะอะไรดี? ใช่คณะดนตรีมั้ย?

คุณคงเคยเห็นหลายๆความเห็นในสังคมบอกว่า มันไม่จำเป็นต้องเรียนคณะดนตรีก็ได้ หรือศิลปินบางคนก็ไม่ได้เรียนดนตรีเลยก็มี ความเห็นเค้าก็เลยไปทางไม่ต้องเรียน แต่ก็มีอีกหลายความเห็นบอกว่า ควรเรียน จะได้เก่ง เมื่อเก่งก็มีโอกาสมากกว่า ดูอย่างศิลปินเก่งๆบางคน ก็จบที่โน่นที่นี่มา ฯลฯ

ขอโทษด้วย แต่ผมคงไม่สามารถสรุปให้คุณได้หรอกครับ ว่าสรุปถ้าจะเป็นศิลปิน คุณควรต้องเรียนคณะดนตรีมั้ย หรือควรเรียนดนตรีมากน้อยขนาดไหน แต่สิ่งที่ผมจะให้ได้คือ ข้อมูล สำหรับให้คุณไปวิเคราะห์ตัดสินใจเอาเอง ว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะกับตัวคุณกันแน่ เพราะบริบท หรือเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน

ก่อนอื่นเลย ผมอยากให้คุณเข้าใจภาพรวมที่เป็นความจริงกันก่อนว่า

“การเป็นศิลปินเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน คุณควรมีแผนสำรองเสมอ”

ต่อให้คุณเรียนดนตรี ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะได้เป็นศิลปิน
ต่อให้คุณได้เป็นศิลปิน ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะโด่งดังจนทำเงินเป็นอาชีพหลักได้
ต่อให้คุณได้โด่งดังจนทำเป็นอาชีพได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะมั่นคง
และต่อให้คุณไม่ได้เรียนดนตรี คุณก็ยังมีโอกาสเป็นศิลปินอยู่ดี

นั่นคือความจริงที่คุณต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้ก่อน

คุณต้องยอมรับความจริงที่ว่า

  • เมื่อ เพลงดี ไม่เท่ากับ เพลงดัง และไม่เท่ากับ เพลงที่ชอบ เสมอไป คนเราแต่ละคนมีรสนิยมความชอบไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติ ส่วนเพลงไหนดีหรือไม่ดี ก็เป็นเรื่อง subjective อีกว่า เอาเกณฑ์อะไรตัดสิน ส่วนดังไม่ดัง มันมีเลขวัดที่ค่อนข้างแน่นอนอยู่ ด้วยจำนวนวิว จำนวนยอดไลค์ แต่ทีนี้คุณอย่าไปตัดสินเอารสนิยมของตัวเอง หรือยอดไลค์ มาเป็นตัวบอกว่า สิ่งไหนคือดี หรือไม่ดี ตามปกติแล้ว เรามีเกณฑ์บางอย่างที่สามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนดีกว่าสิ่งไหน ด้วยการ “บรรจงสร้าง” เช่น งานละเอียด มักจะยอมรับกันว่าดีกว่า งานหยาบ สิ่งที่ทำยากกว่า มักจะยอมรับกันว่าดีกว่า สิ่งที่ทำยากกว่า แบบนี้เป็นต้น ฉะนั้น เพลงดี จึงอาจมีเกณฑ์วัดบางอย่าง คือความ บรรจงสร้าง หรือ Well Crafted ที่ว่านั่นเอง ทีนี้มันเกี่ยวกันยังไง? ผมจะบอกแบบนี้ คือเพลงจะดังไม่ดังมันดันอยุ่ที่ปัจจัยอื่นมากกว่าความ Well Crafted มันอาจเป็นเพลงง่ายๆ แต่เผอิญมันโดนใจคน หรือมันกระตุ้นการแชร์ หรือการพูดถึง เช่น มันอาจจะตลกมาก หรือดราม่ามาก อะไรแบบนี้ มันมีกิมมิคในการสื่อสาร ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับ ความบรรจงสร้างใน part ดนตรีแต่อย่างใด ดังนั้นแปลว่า คุณอาจฟลุ๊คทำเพลงดังออกมาได้ และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ทำเงินได้มากจนเป็นอาชีพได้ โดยอาจจะรู้ดนตรีน้อยหรือไม่รู้เลย ใช่แล้ว ความจริงมันเป็นแบบนั้นน่ะแหละ
  • คำถามคือ แล้วจะเรียนดนตรีไปเพื่ออะไร? โดยเฉพาะการเรียนลึกจริงจังแบบมหาวิทยาลัย การเรียนขั้นลึก แบบในมหาวิทยาลัยนั้น สอนให้คุณเก่ง สอนให้คุณคิดสิ่งที่ลึกซึ้งเป็น สอนให้คุณสร้างสิ่งที่ซับซ้อนได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่ได้รับประกันว่ามันจะดัง
  • ดนตรีมีความยากอยู่หลายระดับ และมันลึกมาก ถ้าคุณอยู่ในฐานะคนเสพย์อย่างเดียว คุณจะไม่รู้ว่าเพลงแบบไหนที่ทำยาก แบบไหนที่ทำง่าย แบบไหนใช้ความรู้ดนตรีมาก แบบไหนใช้น้อย คุณเลยไม่ได้สัมผัสถึงความลึกของมัน ถ้าคุณบังเอิญชอบและอยากทำดนตรีแบบที่ไม่ได้ต้องการความรู้ หรือความยากอะไรมาก คุณอาจลงเอยที่การไม่ต้องเรียน หรือเรียนไม่ต้องเยอะก็ทำได้แล้ว แบบนั้นก็อาจจะบอกได้ว่า ไม่ต้องเรียนก็ได้ครับดนตรี เอาเท่าที่คุณมีอยู่ก็พอใช้แล้ว แล้วไปหาทางทำให้ตัวเองเป็นศิลปินได้ หรือสร้างฐานแฟนได้ดีกว่า แต่ถ้าคุณดันไปชอบเพลงแบบที่มันต้องใช้ความรู้มากขึ้นมา หรือคุณพอรู้ดนตรีบ้างแล้วไปพบว่า อยากทำแบบนี้ๆ แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจว่ามันทำยังไง มันไม่อยู่ในระดับพื้นฐานที่คุณรู้ แล้วคุณอยากทำมันให้ได้จริงๆ ทีนี้ก็เรื่องยาวละ อยากได้ก็ต้องเรียนครับ เรียนแบบขั้นลึก เพราะมันลึกและใช้เวลาเรียนนานกว่าที่คุณคิดเยอะ ดนตรีมันก็เรียนกันได้จนถึงปริญญาเอกนี่แหละครับ
  • สรุป คุณอยากทำอะไร? อะไรที่สำคัญกับคุณมากกว่า?

ข้อสรุปที่ผมมีให้คือ คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า คุณแคร์กับความ Well Crafted ของเพลงที่คุณอยากทำแค่ไหน ถ้าคุณไม่ได้แคร์มันมาก อยากทำแบบไม่ยาก แต่เน้นความดัง อันนี้มันก็ง่ายละ ไม่ต้องเรียนครับดนตรีแบบลึก เรียนอย่างอื่น ดนตรีเรียนแค่พอใช้งานก็พอ

แต่ในทางตรงกันข้าม อย่างที่บอกไป ถ้าคุณอยากสร้างผลงาน Masterpiece โดยไม่ได้เกี่ยวกับความดัง คุณแค่อยากทำสิ่งนี้ให้ได้ ก็ง่ายเหมือนกันครับ ควรเรียนครับ ไปให้สุดดู

แต่ถ้าคุณอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ คุณก็ต้องพิจารณาเอาเองครับว่าควรหรือไม่ควร จากปัจจัยต่อไปนี้

ปัจจัย 3 ข้อในการวิเคราะห์ว่าคุณควรเรียนคณะดนตรีหรือไม่

1. เพลงแบบที่คุณอยากทำ วิเคราะห์ออกมาให้ได้ หรือให้คนอื่นช่วยวิเคราะห์ ว่ามันยากระดับไหน ต้องเรียนดนตรีถึงระดับไหนถึงจะทำได้

2. คุณอยากเป็นคนทำในส่วนไหนบ้าง นอกจากร้อง อาทิ แต่งเนื้อเพลง แต่งทำนอง หรือทำดนตรีด้วย ซึ่งการชัดเจนกับตัวเองให้ได้เหล่านี้จะมีผลต่อการตัดสินใจทั้งหมด

3. ถ้าคุณไม่ได้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงจนสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ คุณจะทำงานอะไรเลี้ยงชีพ คุณควรคิดแผนสำรองนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว คุณโอเคกับอาชีพดนตรีอื่นๆหรือไม่ หรือคุณคิดว่าทำอาชีพอื่นดีกว่า

สิ่งที่ผมบอกไป อาจทำให้คุณพอประเมินได้ว่า คุณจะตัดสินใจเรียนคณะดนตรีดีไหม ถ้าคุณอยากเป็นศิลปิน
คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าคุณอยากเป็นศิลปิน แต่คุณตัดสินใจว่าจะไม่เรียนคณะดนตรีล่ะ? แต่จะหาเรียนเอาเองจากนอกระบบ ทางเราเองก็มีสอน แต่ไม่ว่าคุณจะเรียนหลักสูตร The Real Producer ของเรา หรือของที่ไหนก็ตามที่ทดแทนการเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยได้

แล้วทีนี้มหาลัยควรเลือกเรียนคณะอะไรดีล่ะ? ผมอยากให้คุณตอบคำถามตัวเองให้ได้สี่ข้อนี้นะครับ

4 ข้อที่ควรวิเคราะห์ตัวเอง ว่าควรเลือกเรียนคณะอะไร ถ้าไม่ใช่ดนตรี

1.คุณอยากเลี้ยงชีพด้วยอาชีพอะไร?

2.อาชีพนั้น พอจะทำให้คุณมีเวลามาทำสิ่งที่คุณรัก คือดนตรีได้หรือไม่?

3.ถ้าคุณพลาดหวังจากดนตรี คุณโอเคไหมที่จะทำอาชีพนั้น?

4. อาชีพนั้นมีส่วนเกื้อกูลเพื่อทำให้คุณไปถึงฝันที่จะเป็นศิลปินได้หรือไม่

ข้อ 4 คือข้อที่ผมเน้นเลย ผมจะยกเคสกรณีศึกษาจากที่ผมเจอมาให้นะครับ

ตัวผมเองตอนแรกเลือกเรียนนิเทศจนจบ แล้วพอต่อมาไปเรียนดนตรีมาจนจบเกียรนิยม ทำให้มีคอนเนคชั่นในวงการสื่อ ทำให้มีงานทำเพลงโฆษณาเข้ามามากมาย
นักเรียนของผมบางคนเลือกเรียนบริหาร เพราะอยากทำค่ายเพลง
บางคนเลือกเรียนการเต้น และการแสดง เพราะช่วยส่งเสริมการเป็นศิลปิน
บางคนเลือกเรียนวิศวะคอม การเขียนโปรแกรม สุดท้ายกลายเป็นคนทำดนตรีประกอบเกม
บางคนเลือกเรียนวรรณกรรม เลยทำให้เขียนเนื้อเพลงเก่ง

พอเห็นภาพบ้างไหมครับ?

บางทีแล้วชีวิตคนเราการจะไปสู่ความสำเร็จอะไรบางอย่างอาจต้องใช้ความรู้ความสามารถหลายอย่างผสมกัน บางทีก็ข้ามสาย และคนเรามีวิธีเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นด้วยวิธีการและลำดับแตกต่างกัน ช่วงชีวิตนึงเราอาจจะเลือกเก็บไพ่บางใบก่อน แล้วต่อมาค่อยมาเก็บไพ่อีกใบ ไม่มีอะไรผิดอะไรถูกเสมอไป แต่ถ้าคุณรู้จักพลิกแพลง คุณสามารถชนะเกมนี้ได้เหมือนกัน

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และทำให้คิดอะไรหลายๆอย่างออก ขอให้หลายๆคนที่กำลังหาทางไปสู่ฝันของตัวเองได้สำเร็จกันถ้วนหน้า และไม่เดินพลาดเสียเวลา เรียนผิด เรียนพลาด โดยไม่จำเป็น

แนะนำบทความเก่าๆ สามบทความนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมครับ

เมื่อเพลงดี ≠ เพลงดัง แยกให้ออกก่อนทำงาน Producer
https://verycatsound.com/blog-good-vs-popular/
มหาวิทยาลัยดนตรี 4 ปีเค้าเรียนอะไรกันบ้าง?
https://verycatsound.com/blog-musicuniversity/
หนทางสู่การเป็นศิลปินอาชีพ มีอยู่แต่ไม่แนะนำ
https://verycatsound.com/blog-thewaytomusicartist/

The Real Producer

ถ้าคุณสนใจการทำเพลงเพื่อเป็นศิลปิน แบบขั้นลึกจริงๆ แต่ไม่ได้เลือกที่จะเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัย อาจจะเพราะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ข่าวดีก็คือ ทางหลักสูตร The Real Producer ของ VERY CAT ACADEMY ของเรา เป็นทางเลือกสำหรับคนแบบคุณ ชีวิตเป็นของคุณ คุณ Compose มันเองได้ สนใจติดต่อได้ที่แอดมิน ไลน์ @verycatacademy หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ link ใต้โพสต์ล่างสุดนี้ได้ครับ

—————————

VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
โทร. 0856662425

Comments (1)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.