ครั้งที่แล้วเราทำความรู้จัก Keyboard ประเภทต่างๆกันไปแล้ว จากบทความเรื่อง
“Keyboard ประเภทต่างๆ แบบไหนใช้ทำเพลงได้?”
ครั้งนี้เราจะมีดูกันว่า แล้วหลักการในการเลือกซื้อ Keyboard สำหรับทำเพลงมีอะไรกันบ้าง?
หลักๆคือ เรื่องของเจ้า MIDI Keyboard หรือ Keyboard ใบ้นี่แหละ (ซึ่งในบางกรณี เราอาจใช้ Keyboard ประเภทอื่นแทน MIDI Keyboard ได้เช่นกัน หาข้อมูลดูจากบทความเก่านะครับ)
Keyboard ที่ใช้ในการทำเพลง มีสารพัดแบบ และสารพัดราคา และมีหลายองค์ประกอบมากๆที่มีผลต่อราคา และมีผลต่อการใช้งาน
องค์ประกอบต่างๆที่ต้องพิจารณา มีดังนี้
– Octave : อย่างที่กล่าวไป ถ้าคุณเป็นมือคีย์บอร์ดอยู่แล้ว จะหงุดหงิดซักหน่อยถ้าออกเตฟน้อย แต่ถ้าไม่ใช่ อาจจะไม่รู้สึกอะไรมาก ยิ่งออกเตฟเยอะก็ราคาสูงขึ้น ออกเตฟน้อยก็ราคาถูกลง เลือกเอาตามงบและตามเหมาะสมครับ
– ขนาดคีย์ : มีผลกับความเล่นยากเล่นง่าย และน้ำหนักของมัน ยิ่งคีย์ขนาดเล็ก ก็พกง่าย แต่เล่นยากนิดนึง แต่คีย์ขนาดมาตรฐานก็จะกินที่หน่อย พกยากขึ้น แต่เล่นง่ายขึ้น และราคาสูงขึ้นตาม
– Touching หรือสัมผัสของคีย์ : จะมีผลในบางกรณี ความหนักของมัน ถ้าทำเลียนแบบความรู้สึกให้ใกล้เคียงเปียโนจริงเลย อันนี้จะราคาสูงกว่า ถ้ามันเบาลง หรือหนืดขึ้น ก็จะราคาต่ำกว่า
– Fuction อื่นๆ ต่างๆ : อาทิ Knob , PAD , fader , ปุ่ม MIDI Controller ต่างๆ ยิ่งมีเยอะราคาก็สูงขึ้นตาม
———————————
แต่ขั้นแรกเลย ก่อนที่เราจะเลือกซื้อ Keyboard เนี่ย ให้เราถามตัวเองชัดเจนก่อนว่า คีย์บอร์ดตัวนี้เราจะใช้เพื่อทำอะไรบ้าง?
1. เอาไว้ทำเพลงอย่างเดียวจริงๆ
2. เอาไว้ฝึกเล่น Piano / Keyboard Skill
3. เอาไว้ไปเล่นกับวง
4. มีจุดประสงค์ตั้งแต่ 2-3 ข้อเป็นต้นไป รวมกัน
ซึ่งแต่ละจุดประสงค์จะมีผลต่อการเลือก Keyboard ที่เหมาะสมครับ
ทีนี้ผมจะเจาะทีละกรณีนะ
กรณีที่ 1 เอาไว้ทำเพลงอย่างเดียว
ถ้าเราต้องการแค่เอามาทำเพลงอย่างเดียวจริงๆ วิธีการเลือกไม่ยากครับ ตามงบประมาณได้เลย ราคามีตั้งแต่ 2000 – 50000 ดูไกด์ตามด้านล่างนี้ได้เลย
สิ่งที่ต้องพิจารณา
– Octave : ถ้าคุณเป็นมือคีย์บอร์ดหรือเปียโน เลือก ที่ Octave สูงไว้ดีกว่าครับ สะดวกกว่าเยอะ
– ขนาดคีย์ : แล้วแต่ชอบพกพาหรือไม่ กับแล้วแต่งบประมาณ
– Touching : แนะนำแบบมาตรฐาน ไม่ต้องหนักเท่าเปียโน และไม่ฝืดเกิน มันใช้งานสะดวกสุดครับ
– Function อื่นๆ : แล้วแต่งบประมาณ ถ้าเอาถูกก็ตัดฟังชั่นเสริมออกไปให้หมดเลยก็ใช้ได้แล้ว ถ้างบเยอะ จะมีฟังชั่นพวกนี้เผื่อไว้ใช้งานก้ได้
สรุป ฉะนั้น กรณีนี้เป็น Keyboard MIDI รุ่นไหนก็ได้ครับ แล้วแต่งบเลย แล้วแต่ที่ชอบเลย
———————————
กรณีที่ 2 เอาไว้ฝึกเล่น Piano / Keyboard Skill
ในกรณีที่เราจะเอาไว้ฝึกเล่นเปียโนหรือคีย์บอร์ดในระยะยาวๆ เพื่อพัฒนาสกิล สิ่งที่สำคัญคือ ควรต้องฝึกกับลิ่มที่เหมือนเปียโนจริงที่สุดครับ เพราะจะมีความหนัก และ Touching เหมือนจริง มันจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อและทำให้นิ้วเราพัฒนา มีแรงขึ้นมาก และทำให้เล่นโน้ตเร็วๆได้คล่องตัวกว่า เป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญครับ ลองดูไกด์ตามนี้ครับ ราคามีตั้งแต่ หลัก 10000 ต้นๆ (เปียโนไฟฟ้า) ไปจนถึงหลักแสน (เปียโนจริง) และควรมีเสียงในตัวไปเลยก็จะสะดวกกว่ากับการซ้อม
– Octave : อย่างต่ำควรเป็น 4-5 Octave ถ้าจะให้ดี และงบถึง ควรเป็น 7-8 Octave เต็ม เหมือนเปียโนจริงไปเลย
– ขนาดคีย์ : ควรอย่างมากที่จะเป็น Key ที่จำลอง Piano จริงให้ใกล้เคียงที่สุด
– Touching : ควรอย่างมากที่จะจำลองสัมผัส และน้ำหนักของ Piano จริง ให้ใกล้เคียงที่สุด
– Function อื่นๆ : ไม่จำเป็นเลย เอาออกให้หมดดีกว่า ถ้าต้องการประหยัด เน้น Touching สำคัญสุด
สรุป ถ้าเป็นกรณีนี้ จะไม่แนะนำ Keyboard MIDI เลยครับ แนะนำเป็น Piano ไฟฟ้า จะดีที่สุด ราคาย่อมเยาว์ ที่สุด ตรงจุดประสงค์ที่สุด (แนะนำพวก เปียโนไฟฟ้า Series P ของ Yamaha เหมาะกับการฝึกซ้อมอยู่แล้ว)
———————————
กรณีที่ 3 เอาไว้ไปเล่นกับวง
กรณีนี้เราต้องการอะไรที่พกพาสะดวกเป็นหลัก แต่ตัดเรื่องความเป๊ะของทัชชิ่งต่างๆออกไป ราคาอยู่ตั้งแต่ หลักหมื่น ถึง เป็นแสน เช่นกัน ตามฟังชั่นที่ได้
– Octave : อย่างต่ำควรเป็น 4-5 Octave แล้วแต่ว่าพอใช้มั้ย เพราะยิ่งใหญ่ยิ่งพกยาก
– ขนาดคีย์ : แนะนำขนาดแค่สองแบบ แบบแรก Key เบาแบบมาตรฐาน เหมือนคีย์บอร์ดทั่วไป หรือแบบ คีย์ลิ่มเปียโนหนักไปเลย ถ้างบถึง หรือแล้วแต่ชอบ
– Touching : เหมือนข้อเมื่อกี้
– Function อื่นๆ : แล้วแต่การใช้งานว่า ส่วนใหญ่เอาไปใช้เล่นกับอะไรบ้าง แนวไหน ถ้าเป็นแนวทั่วๆไป แนะนำแบบ All Rounder ที่มีเสียงครอบคลุมทุกแบบ ตั้งแต่เปียโนไปยันเครื่องเป่าเครื่องสาย แต่ถ้าเป็นแนว Electronic เฉพาะทางหน่อย ก็อาจจะเป็น Serious Synthesiser หรือดุว่าเราต้องการฟังชั่นอื่น จำนวน เปิดจังหวะ เปิด Beat อะไรแบบนี้มั้ย
สรุป ถ้าเป็นกรณีนี้ ไม่แนะนำ Keyboard MIDI และ Piano ไฟฟ้า หรือเปียโนจริง เท่าไร ที่ตรงจุดประสงค์ไปเลยคือจำพวกคีย์บอร์ดที่เน้นพก เล่นเคลื่อนย้ายไปเล่นสะดวกมากกว่า ถ้าเราไม่ได้ซีเรียสเรื่องฟังชั่นอะไรมาก ราคาไม่แพงมากก็หาซื้อได้
———————————
กรณีที่ 4 มีจุดประสงค์ตั้งแต่ 2-3 ข้อเป็นต้นไป รวมกัน
อันนี้คุณต้อง Balance เอาละ ว่าต้องการอะไรบ้าง อาทิเช่นว่า
– ถ้าอยากเอาไว้ทำเพลงด้วย เล่นสดด้วย คุณอาจเลือกพวก Keyboard แบบ All-Rounder ที่ขนาดไม่ได้เล็กเกินไป เล่นสดก็ยังสะดวกอยู่ พกก็ได้อยู่ ออกเตฟเพียงพอต่อการใช้งาน เสียงในตัวมีให้เลือกเพียงพอกับการใช้งาน และที่สำคัญต้องมีรูต่อ Port MIDI สำหรับเอาไว้ทำเพลงกับคอมด้วย
– ถ้าอยากเอาไว้ทำเพลงด้วย ฝึกด้วย คุณน่าจะต้องเลือก เปียโนไฟฟ้า ทัชชิ่งจำลองของจริง ที่มีรู Port MIDI ด้วย น่าจะดีที่สุด อยากประหยัดก็ไม่ต้องเลือกฟังชั่นอะไรมาก แต่ก็จะเคลื่อนย้ายลำบากหน่อย หรือถ้างบเยอะ คุณอาจเลือกที่จะซื้อ MIDI Keyboard แบบพรีเมี่ยมตัวท้อป ที่ทำลิ่มจำลองเปียโนจริงไปเลยก็ได้
– ถ้าอยากเอาไว้เล่นสดด้วย ฝึกด้วย อันนี้จะลำบากนิดนึงละ เพราะเท่ากับคุณต้องหาคีย์บอร์ดที่มีลิ่มใหญ่และหนักเท่าเปียโนไฟฟ้า แต่เบาที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แล้วยังต้องมีเสียงให้เลือกเยอะอีก ซึ่งบอกเลยว่า ราคาค่อนข้างสูง และที่จริงก็ค่อนข้างใหญ่อยู่ดี พกไปเล่นไม่สะดวกขนาดนั้น
– ถ้าคุณอยากได้เอาไว้ทำได้ทั้งสามอย่าง จะเหมือนข้อเมื่อกี้ครับ คือราคาแพงแน่นอน
ทางที่ผมแนะนำคือ มีเป็นคนละตัว เอาไว้ใช้ตามจุดประสงค์ก็เป็นทางเลือกที่ดีนะครับ
เช่นว่า คุณอาจจะมี Keyboard 2-3 ตัว
– ตัวแรก เป็นเปียโนไฟฟ้า เอาไว้ซ้อม โดยเฉพาะ ราคาอยู่ช่วง หมื่นกว่าบาท เน้นทัชชิ่ง อย่างอื่นช่างมัน
– ตัวที่สอง เอาไว้ทำเพลง เป็น MIDI Keyboard โดยเฉพาะ ตัวเล็กๆ เอาไว้ตั้งหน้าคอมง่าย ราคาไม่แพง
– ตัวที่สาม เอาไว้เล่นกับวง อาจจะเป็นแบบ All Rounder หรือ Serious Synthesizer ก็ได้ เป็นตัวที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะ ใช้กับไปเล่นข้างนอกเท่านั้น ไม่ก็อยากได้เสียงมันเวลาเอามาทำเพลงบ้าง
ทีนี้อยู่ที่คุณเลือกที่จะบริหารจัดการเองครับ ว่าอยากซื้อแบบไหน
เพราะบางที มือใหม่ที่เริ่มต้น คืออยากได้เอาไว้ทำเพลงด้วย เอาไว้ฝึกด้วย แต่บางทีดันซื้อแบบที่ไม่เหมาะสมกับการฝึกมา เลยเป็นปัญหาที่เจอบ่อยๆ เลยต้องซื้อคีย์บอร์ดสำหรับฝึกอีกตัว เพราะบางคนอยากให้มีตัวเดียวจบไปเลย อะไรแบบนี้
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่นะครับ
#หลักสูตรTheRealProducer
“นับ 0-100 สู่อาชีพโปรดิวเซอร์”
หลักสูตรที่จบได้ใน 2 ปี กับกว่า 600 ชม. การเรียนรู้ ทุกสิ่งที่คุณต้องการ ผม pack มาให้หมดแล้ว
แผนการเรียนสะดวก เพื่อให้ผู้ที่จริงจังทุกคนเข้าถึงความรู้แบบ Premium นี้ได้
(ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเนื้อหาทั้งหลักสูตร หรือเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่ตนสนใจได้)
—————————————————
VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
https://mkt.verycatsound.academy/mf2
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy