เรียนมหาวิทยาลัยดนตรี

มหาวิทยาลัยดนตรี 4 ปีเค้าเรียนอะไรกันบ้าง?

Share via:

Krissaka Tankritwong

ดนตรีเป็นศาสตร์ที่เป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน และมีระดับความรู้ที่ลึกมาก สอนกันได้ตั้งแต่เบสิคพื้นฐาน ยันไปจนจบปริญญาเอก แต่ในจำนวนผู้ที่รักดนตรีทั้งหลาย น้อยคนนักที่จะได้เรียนดนตรีในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นระดับลึก อาจจะเพราะด้วยเหตุผล ความรับผิดชอบในชีวิต เงื่อนไขในชีวิตต่างๆนานา ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพราะอย่างที่หลายๆคนรู้ว่า การเรียนดนตรีนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และไหนจะแลกกับเวลาฝึกฝน เวลาเรียนที่นาน และไม่มีทางลัด ซ้ำยังไม่ใช่อาชีพที่ทำเงิน หรือมั่นคง ได้เท่าหลายๆอาชีพเช่น วิศวะ หรือ แพทย์ อีก

หลายคนที่ไม่ได้เรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยจึงอาจเคยสงสัยว่า ดนตรีนั้นเรียนกันในมหาวิทยาลัยระดับลึกมันเป็นยังไง? เรียนอะไรกันบ้าง? ไม่ว่าคุณจะกำลังหาข้อมูลการเรียนในสายนี้อยู่ หรืออยากรู้เพื่อให้หายข้องใจ วันนี้ผมจะขอพูดถึงในหัวข้อนี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับหลายๆคนนะครับ

ต้องบอกก่อนว่า ข้อมูลที่ผมกำลังจะบอกต่อไปนี้ จะมาจากความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยคณะดนตรีแนวหน้าของประเทศแห่งหนึ่งมา โดยเป็นสาขาตรงเกี่ยวกับการทำเพลงเป็น Producer โดยเฉพาะ (เกียรตินิยมอันดับ 1) และผมเองได้เข้าไปเรียนตอนที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่แล้ว (ตอนอายุ 25) ทำให้มีความชัดเจนและความตั้งใจมากกว่าเด็กที่เรียนในรุ่นเดียวกันโดยเฉลี่ย ฉะนั้นผมจึงค่อนข้างแน่ใจว่าเก็บรายละเอียดได้แม่นยำ

ด้วยความที่คณะดนตรีเองก็มีสาขาที่หลากหลายแยกย่อยกันไปตามความถนัดและความสนใจอีก อาทิเช่น สาย Perform หรือสายการแสดงดนตรีที่เน้นเล่นให้เก่ง , สาย Compose-Producer หรือสายแต่งเพลง ทำดนตรี , สาย Technology ดนตรี หรือ Sound Engineer ฯลฯ และแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีชื่อสาขา และหลักสูตรที่ไม่เหมือนกัน ผู้เรียนทำความเข้าใจกับหลักสูตรของแต่ละสาขาที่ตัวเองสนใจให้ดีก่อนเลือก โดยการเอา Course Outline หรือรายละเอียดวิชาทุกวิชาทั้งหลักสูตรออกมากาง และอ่านทำความเข้าใจทั้งหมดครับ

ในบทความนี้อาจจะแนะนำครบถ้วนทุกสาย ทุกวิชาที่แยกย่อยไม่ได้หมด แต่จะทำให้เห็นภาพรวมได้กว้างๆว่า รวมๆแล้วมีวิชาเรียน เนื้อหาประมาณไหนบ้างนะครับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนก็ตาม มักจะต้องเรียนเรื่องพวกนี้เหมือนๆกันหมดโดยส่วนใหญ่ แต่จะแยกย่อยไปตามสายในปีที่ 3-4 มากกว่า

โอเค มาเริ่มกันเลยครับ


ช่วง PRE-UNIVERSITY

ช่วงสอบก่อนเข้าเรียน ที่จริงก็ต้องเกิดการเรียนแล้ว โดยคณะดนตรี โดยเฉพาะที่ดังๆและเป็นชั้นแนวหน้า ต้องมีการสอบเข้า แปลว่าจะต้องเกิดการเรียนพื้นฐานหลักๆ สามด้าน ครับ 1. คือ ทฤษฎีดนตรีเบื้องต้น 2. การปฎิบัติเล่นเครื่องดนตรี 3. คือ ฝึกประสาทการฟัง หรือ Ear Training โดยที่ใครที่ติวสามอย่างนี้มาหลายปี ตั้งแต่มัธยมหรือตั้งแต่เด็กๆ อาจจะได้เปรียบ แต่สำหรับใครที่เพิ่งมาเริ่ม ต้องใช้เวลาอย่างต่ำๆ หนึ่งปี เรื่องสอบเข้ามีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เอาไว้ผมจะอธิบายอย่างละเอียดไว้คราวหน้านะครับ


ปี 1

ช่วง เก็บพื้นฐาน ทุกๆสาขา หรือทุกๆมหาวิทยาลัย จะเรียนคล้ายๆ กันหมด นั่นคือ การเริ่มสอนใหม่ตั้งแต่นับ 1 ไม่ว่าคุณจะเรียนหรือฝึกมาแล้วเยอะขนาดไหนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่ทุกๆคนจะได้รับการปรับพื้นฐานขั้นเข้มข้น ให้มีความรู้ในระดับเดียวกัน โดยในช่วงนี้จะยังไม่ได้มีความรู้อะไรใหม่ไปจากตอนช่วงที่เราติวสอบเข้ามาก แต่การคลุกคลีและฝึกฝนพื้นฐานอย่างเข้มข้น จะช่วยให้พื้นฐานแน่น และสามารถต่อยอดไปในการเรียนระดับสูงได้อย่างมั่นคง

ตัวอย่าง วิชาเรียนในช่วงนี้

  • Music Theory 1 , 2
    ทฤษฎีดนตรีพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจ Mechanic ของดนตรีโดยรวมทั้งหมด โดยมากมักจะจบที่ Four Part Writing หรือการเรียบเรียงเสียงประสานสี่แนว

  • Instrumental Practice 1 , 2
    การปฎิบัติเครื่องดนตรี สามารถเลือกได้อิสระว่าจะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นไหนเป็นเครื่องเอก หรือแม้แต่การร้องเพลง ก็ถือเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ในบางสาขา บางคณะ อาจมีการเลือกทั้งเครื่องเอกและเครื่องรอง

  • Basic Keyboard 1 , 2
    ในสาขาเกี่ยวกับการประพันธ์ดนตรี การแต่งเพลง ทำดนตรี เป็น Composer-Producer มักจะมีวิชาคีย์บอร์ดที่บังคับต้องเรียน ไม่ว่าคุณจะเล่นคีย์บอร์ดหรือเปียโนเป็นเครื่องเอกหรือไม่ก็ตาม เพราะมันเป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับการเรียนรู้การทำเป็นโปรดิวเซอร์ทำดนตรีโดยตรง

  • Ear Training 1 , 2
    การฝึกประสาทการฟัง ให้หูดีขึ้น สามารถฟังแล้วแยกแยะโน้ตแต่ละโน้ต คอร์ดแต่ละคอร์ด คู่เสียงแต่ละคู่ได้อย่างแม่นยำ โดยในขัี้นตอนการฝึก โดยมากแล้วคือการฝึกที่เรียกว่า “Solfege” มันคือการร้องโน้ตที่เห็นออกมาให้ได้ตรง เมื่อฝึกฝนต่อเนื่องยาวนานไปเรื่อยๆ จะทำให้หูดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับการเป็นนักประพันธ์ในระยะยาว และควบคุมเสียงได้ดีขึ้น ร้องเพลงดีขึ้นเป็นผลพลอยได้ด้วย

  • Music History 1 , 2
    ประวัติศาสตร์ดนตรี จะเรียนรู้ประวัติลงไปถึงความเป็นมาอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่การคิดค้นดนตรีในยุคแรกๆของโลก ซึ่งในช่วงแรกๆจะเป็นดนตรีคลาสสิค แต่จะไล่ยุคมาเรื่อยๆจนถึงยุค Modern

  • Ensemble 1 , 2
    การปฎิบัติดนตรีรวมวง คือฝึกฝนการเล่นดนตรีเป็นวงดนตรี เพิ่มพูนความชำนาญและความเข้าใจในดนตรีภาพรวมมากยิ่งขึ้น

  • วิชาอื่นๆ
    เหมือนๆกับมหาวิทยาลัยคณะอื่น ก็คือจะมีพวก ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย , ศิลปะ , พละ ฯลฯ อะไรพวกนี้ที่ไม่ใช่ดนตรี แซมมาด้วย แต่ในบางวิชาจะมีการปรับเพื่อให้เหมาะกับนักดนตรี อาทิ กฎหมายสำหรับนักดนตรี แบบนี้เป็นต้นครับ

ปี 2-3

เมื่อขึ้น ปี 2-3 วิชาเรียนจะเริ่มเป็นระดับความรู้ที่มากกว่าความรู้ที่หาได้จากนอกมหาวิทยาลัยทั่วไป มีความลึก เข้มข้น และเกินระดับพื้นฐาน ซึ่งถ้าผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนพื้นฐานให้แน่นมาจะเริ่มยากแล้ว เพราะอาจคิดโน้ตตามไม่ทัน ฉะนั้นใครที่เข้าไปเรียน ควรตั้งใจฝึกให้มากๆตอนปี 1 เพื่อจะได้เรียนในปีต่อๆไปรอดนะครับ

ตัวอย่าง วิชาเรียนในช่วงนี้

  • Music Theory 3 , 4
    ทฤษฎีดนตรีในระดับลึกขึ้น มักโฟกัสเรื่อง Harmony , Counter Point , การวิเคราะห์บทเพลง , Technique การประพันธ์แบบต่างๆในแต่ละยุค

  • Music History 3 , 4
    ประวัติศาสตร์ดนตรียุคใหม่ ที่พอจบคลาสสิคแล้วจะมาต่อที่ประวัติศาสตร์ Jazz ไล่มาถึง Modern Music ที่เป็นแนวดนตรีรากฐานอย่าง Rock , Funky , Soul , House หรือไล่มาจนถึงดนตรีในยุคปัจจุบัน

  • Jazz Theory 1 , 2 , 3 , 4
    ในกรณีที่เป็นสาขา Jazz อาจจะเรียนตั้งแต่ปี 1 เลย แต่สำหรับสาขาอื่นๆ อาจมีวิชาศึกษาดนตรี Jazz เพิ่มขึ้นด้วย หลังจากจบทฤษฎีดนตรีคลาสสิค เพื่อต่อยอดให้เข้าใจดนตรีที่พัฒนาความยากถึงที่สุดว่า Mechanic มันมีอะไรต่อจากนั้น

  • Instrumental Practice 3 , 4 , 5 , 6
    การปฎิบัติเครื่องดนตรี ตัวต่อ ที่เข้มข้นขึ้น ถ้าเป็นสายการแสดงที่เน้นปฎิบัติอาจจะมีไปยันเรียนจบเลยครับ แต่สำหรับสายประพันธ์ อาจจะจบแค่ ตัว 1-2 ก็เป็นได้

  • Ensemble 3 , 4 , 5 , 6
    เช่นเดียวกับการปฎิบัติเครื่องดนตรี การเล่นรวมวงจะสำคัญกับสายปฎิบัติมากกว่า ถ้าสายประพันธ์อาจจะมีไม่เยอะ

  • Music Composition 1 , 2 , 3 , 4
    สายประพันธ์อาจมีวิชาการประพันธ์เพิ่มขึ้นมาแล้ว ซึ่งเนื้อหาของชื่อวิชานี้อาจแตกต่างแยกย่อยกันไปตามแต่ละคณะอีก เพราะที่จริงแล้ว คำว่า Composition ใช้เรียกได้กับดนตรีทุกชนิดทุกแนว แต่บางสาขาก็จะหมายความถึง Classic อย่างเดียว ส่วนบางสาขาก็จะเป็นดนตรีหลายๆแนว หรือบางทีก็จะเป็นชื่อวิชา Jazz Composition ที่จะบ่งบอกไปเลยว่าคือการประพันธ์ดนตรีแนว Jazz

  • Music Arraging 1 , 2 , 3 , 4
    อีกวิชาของสายประพันธ์ หรือ Producer มันคล้ายการประพันธ์ แต่ไม่เหมือน มันคือการโฟกัสที่การทำดนตรีมาประกอบกับเพลงที่ประพันธ์ขึ้นไว้แล้ว และชื่อวิชานี้มักจะหมายถึงการ Arranging ในดนตรีแนวต่างๆครับ อาจมีหลายตัวมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตร

  • Music Technology 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6
    วิชาสาย Sound Engineer ที่จะไม่ได้เรียนดนตรีโดยตรง แต่เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยี และเรื่อง Sound ซะเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การใช้โปรแกรมทำเพลง DAWs , Computer Music , ทฤษฎีเสียง การบันทึกเสียง การทำห้องอัด การ Mix , Master เสียง ฯลฯ ชื่อวิชาอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขา แต่ละคณะ และระดับการเรียนก็ลึกไม่เท่ากัน แต่จะเป็นวิชาหมวดนี้ และในบางครั้งอาจจะมีคณะที่แยกเป็น Sound Engineer โดยเฉพาะไปเลย โดยไม่ใช่คณะดนตรี เพราะมันไม่ใช่วิชาดนตรีโดยตรง ไม่ใช่เรื่องตัวโน้ต การประพันธ์ การเรียบเรียง การแต่งเพลง ทำเพลง หรือการออกแบบดนตรี แต่เป็นวิชาที่เรียนรู้เรื่อง Technician ต่างๆ ที่จำเป็นกับการทำเพลงครับ

  • Commercial Music 1 , 2
    ถ้าเป็นสาย Producer มักจะมีวิชาที่เกี่ยวข้องการการทำเพลง หรือดนตรีประกอบโฆษณา เพราะเป็นอาชีพหนึ่งที่โปรดิวเซอร์สามารถทำเพื่อประกอบอาชีพในอนาคตได้ครับ

  • Film Score 1 , 2
    อีกวิชาในสาย Producer , Composer ที่เน้นเรื่องการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ หรือดนตรีประกอบสื่อต่างๆ เป็นสายอาชีพที่มีคนสนใจไม่น้อยเช่นกัน

  • Game Music
    บางสาขาในบางคณะมีวิชานี้เปิดแล้ว เนื้อหาบางทีก็คาบเกี่ยวกับ Film Score แต่ก็จะมีบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการทำดนตรีประกอบเกมเช่กนัน เป็นอีกวิชาที่เป็นอาชีพในอนาคตที่มีคนสนใจไม่น้อย

  • Song Writing 1 , 2 , 3 , 4
    การแต่งเพลง หรือ Song Writing ในที่นี้จะหมายความถึงการแต่งเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนอง หรือบางทีก็หมายถึงการแต่งเนื้อร้องอย่างเดียวเช่นกัน เป็นอีกเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการขัดเกลานาน และใช้ประสบการณ์ในการเขียนเพลงที่เยอะ กว่าจะเขียนออกมาได้ดี

  • Reharmonization
    การปรับเปลี่ยนฮาโมนี่ บางครั้งอาจจะรวมในวิชา Arranging ไปเลย หรืออาจแยกออกมา เป็นวิชาที่จะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ดนตรีให้แปลกหูและน่าสนใจได้มากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนเสียงประสาน หรือคอร์ด มักต้องเข้าใจเรื่อง Harmony มาดีแล้วจากวิชา Music Theory

  • Orchestration
    เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเรียบเรียงเครื่องดนตรีในวงดนตรีขนาดใหญ่มหึมาอย่างวงออร์เคสตรา ที่มีจำนวนเครื่องหลายสิบเครื่อง และคนเล่นร่วมร้อยคน มีรายละเอียดของเทคนิคต่างๆยิบย่อยไปหมดจนต้องเรียนกันยาว บางสาขาอาจเรียน 1-2 ตัว หรือบางสาขาอาจเรียนไปถึง 4 ตัวเลยทีเดียว และยังเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่มักจะบังคับเรียนก่อนไปเรียนในวิชา Film Score ต่อในอนาคต

  • Sound Design
    อีกวิชาที่มักมีในสาขาที่เกี่ยวกับ Tehcnology ดนตรี หรือ Sound Engineer คือการสร้างและออกแบบเสียงขึ้นมา มักจะมีเนื้อหาทั้งที่เอาไว้ใช้ในการทำเพลง อาทิ การสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) และการทำเสียงเพื่อประกอบภาพยนตร์ หรือเกมต่างๆ อาทิพวก Effect , Foley บางทีก็จะรวมไปถึงการ Mix เสียงภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน

ปี 4

ในปีสุดท้าย วิชาจะใกล้เคียงกับ กับตอน ปี 3 ก็คือใครยังเก็บตัวไหนไม่จบ ก็เก็บเรียนต่อให้จบ แต่จะมีบางวิชาที่เพิ่มเข้ามาชัดๆคือ

  • Music Research
    คล้ายๆ กับสาขาอื่นที่จะมีการวิจัย ในหัวข้อต่างๆที่ตัวเองสนใจ โดยจะเกี่ยวข้องกับเรื่องดนตรี และเป็นการปูพื้นฐานไปยังการทำ Thesis

  • Thesis (Final Project)
    จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขา แต่ละคณะ ว่าจะใช้ชื่อเรียกว่าอะไร ส่วนใหญ่แล้วมันก็คือการทำ Final Project น่ะแหละ ซึ่งบางทีก็จะต้องทำมากกว่าชิ้นเดียว แยกไปตามความสนใจอีกที เช่น บางคนอยากทำ เพลงประกอบโฆษณา บางคนอยากทำเพลงฟัง บางคนอยากทำเพลงประกอบภาพยนตร์ บางคนอยากทำ Sound Design หรือทำ Art ไปเลย

  • Recital
    มันคือชื่อเรียก Final Project ของทางฝั่งสาขาปฎิบัติดนตรี จะเป็นรูปแบบ Concert ที่ต้องซ้อมมาดีมาก แบบไร้ที่ติ อาจารย์ที่ให้คะแนนก็จะซีเรียสในความเป๊ะมากๆ เพื่อให้จบออกมาเป็นนักดนตรีที่เก่งกาจ

จบแล้วนะครับ นั่นคือทั้งหมดคร่าวๆ รายละเอียดเนื้อหาและชื่อวิชาจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยอีก หากมีข้อมูลที่ผิดพลาดไปประการใด อาจจะเนื่องด้วยอาจจะหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลง หรือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ใครที่ทราบข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าโพสต์บอกกันได้จะขอบคุณมากเลยครับ

The Real Producer

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยใฝ่ฝันอยากเรียนคณะดนตรี ในมหาวิทยาลัย เพราะรักในดนตรี และอยากจริงจังกับมัน แต่ไม่ว่าจะด้ยวเหตุผลประการใดก็ตามที่ทำให้พลาดโอกาสนั้น ข่าวดีคือ หลักสูตร The Real Producer นั้นมีไว้เพื่อคนที่จริงจังกับดนตรี อยากทำเป็นอาชีพไม่ว่าโปรดิวเซอร์หรือศิลปิน คนที่ยังมีไฟในการทำตามฝันโดยไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา คนแบบคุณครับ

หากสนใจสามารถติดต่อแอดมินที่ ไลน์ @verycatacademy หรือข้อมูลเพิ่มเติมที่ link ด้านล่างสุดนี้ได้ครับ

————————

VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
.
ถ้าคุณรู้ตัวแล้วว่าดนตรีไม่มีทางลัด ถ้าคุณอยากเข้าใจ และเชี่ยวชาญ
ถ้ามีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน ผมไม่อยากให้คุณหลงทาง
มาคุยปรึกษากันได้ครับ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.