สอบเข้าคณะดนตรี ต้องเตรียมตัวยังไง?

Share via:

Krissaka Tankritwong

สำหรับน้องๆหรือหลายๆคนที่กำลังเล็งว่าจะเข้าคณะดนตรีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าการสอบเข้าต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
หลังจากที่เราเคยแนะนำการเรียนดนตรีในมหาวิทยาลัยกันไปแล้วในโพสต์ก่อนหน้านี้

(มหาวิทยาลัยดนตรี 4 ปีเค้าเรียนกันอะไรกันบ้าง? https://verycatsound.com/blog-musicuniversity/)

และยังมีติดกันเรื่องเรื่องสอบเข้า ในครั้งนี้เราเลยจะมาลงลึกรายละเอียดในเรื่องนี้กันให้นะครับ

คณะดนตรีเป็นคณะที่สอบเข้าค่อนข้างยากกว่า จะเรียกว่ายากกว่าคณะอื่นไหม ก็ต้องบอกว่า พอประมาณ ขึ้นอยู่กับว่าเทียบกับคณะอะไร เพราะมันเป็นการสอบความสามารถเฉพาะทาง แน่นอนว่าจะมีหลายมหาวิทยาลัยที่มีเปิดรอบปกติเหมือนคณะอื่นๆ คือต้องมีคะแนนระดับมัธยม กับ คะแนนสอบวิชาปกติมาใช้พิจารณาร่วมกับการสอบเฉพาะทางทางด้านดนตรีด้วย แต่บางมหาวิทยาลัยก็มีรอบพิเศษ หรือที่เรียกว่าการสอบตรง คือสามารถยื่น portfolio (ผลงานที่ผ่านมา) บวกกับสอบความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี แล้วเข้าได้เลย โดยไม่ต้องสอบวิชาการปกติ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ระเบียบการในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามแต่ยุคสมัยและระบบการ entrance ในปีนั้นๆ อยากให้แต่ละคนหาข้อมูลกันให้ดีๆ เพราะแต่ละที่ก็มีระเบียบการไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันแน่ๆคือการสอบความสามารถทางดนตรีนี่แหละครับ ซึ่งผมจะขอพูดถึงในส่วนนี้เท่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับการสอบวิชาการนะครับ

————

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการสอบดนตรี

Music Theory ทฤษฎีดนตรี

แน่นอนเลยว่าการเข้าคณะดนตรี แทบจะทุกสาย ต้องมีการสอบทฤษฎีดนตรี จะเป็นทฤษฎีดนตรีพื้นฐาน แต่คำว่าพื้นฐานนี่มันถึงระดับไหนนี่สิ เนื้อหาที่ครอบคลุมโดยส่วนใหญ่แล้วจะประมาณนี้ครับ

Note & Pitch : การอ่านโน้ตเบื้องต้น เครื่องหมายกุญแจเสียงต่างๆ ควรอ่าน-เขียนโน้ตเป็นในระดับบทเพลงความยากระดับง่ายถึงกลางๆได้

Rhythmic : ควรพออ่านและเขียนโน้ตจังหวะแบบต่างๆที่ไม่ยากเกินไปได้

Scale : ความเข้าใจใน Scale Major , Minor แบบต่างๆ ควรเขียนสเกลได้อย่างถูกต้อง ทั้งแบบเครื่องหมายกำหนดกุญแจเสียงและแบบ Accidental บางที่อาจจะไม่โหด แต่บางที่ที่โหดหน่อยอาจจะเอาทั้ง Natural Minor , Harmonic Minor และ Melodic Minor เลย

Chord : ความเข้าใจในคอร์ด Triad 4 แบบ ควรอ่านและเขียนคอร์ดไตรแอดทั้งหมดได้เป็นอย่างต่ำ หรือถ้าได้ถึงคอร์ดเซเว่นได้จะยิ่งดี อันนี้แล้วแต่บางที่กับบางสาขา ถ้าเป็นที่ๆยากหน่อย หรือเป็นสาขา Jazz ควรได้ไว้จะดีกว่า

Interval : ขั้นคู่ ควรเข้าใจและเขียนขั้นคู่ได้ทั้งหมด

Chord Progression : ควรแม่นและเข้าใจ Chord Progression แบบง่ายๆ บน Diatonic ที่มี 7 Chord บนสเกลได้เป็นอย่างดี

4 Part Writing : ควรพอเข้าใจเรื่องการเรียบเรียงเสียงประสานสี่แนวอยู่บ้าง น่าจะเป็นการดีกว่า เพราะบางที่ก็สอบถึงเรื่องนี้ บางที่ก็ไม่ถึง

ปล. การสอบทฤษฎีมักเป็นข้อเขียน ที่อาจมีทั้งแบบเป็นตัวเลือก และแบบเติมข้อความหรือเติมตัวโน้ต ควรหาข้อสอบเก่าปีก่อนๆ ของสถาบันนั้นๆมาทำเยอะๆให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้รู้แนวข้อสอบก่อนครับ

2. Music Instrumental Practice การปฎิบัติเครื่องดนตรี

การสอบปฎิบัติเครื่องดนตรี ในที่นี้รวมถึง Voice หรือการขับร้องด้วย เป็นอีกเรื่องที่เป็นปราการโหดหินสำหรับหลายๆคน เพราะมันเป็นสิ่งที่กินเวลาฝึกฝนนานที่สุด และไม่มีทางลัด ใครที่เล่นหรือเรียนดนตรีมานานตั้งแต่ยังเด็ก จะได้เปรียบเรื่องนี้มากกว่า แต่ถ้าใครที่เริ่มช้าก็ต้องขยันซ้อมเยอะหน่อย ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า ถ้าใครที่เพิ่งมาเริ่มเล่นดนตรีจริงๆ หรือร้องเพลงก็แทบไม่ได้เลย คุณต้องใช้เวลาซ้อมอย่างเข้มข้น อย่างต่ำราวๆ หนึ่งปีแน่ๆก่อนจะเข้าไปสอบเรียนได้ แต่ถ้าคุณเอาจริง ไม่ยอมแพ้กับมัน มันก็เป็นไปได้หมดแหละครับ เนื้อหาที่สอบจะมีประมาณนี้ครับ

Song : การเล่นเพลง ส่วนใหญ่จะเป็นระดับกลางๆ ส่วนจะเป็นเพลงอะไรแบบไหน จะแล้วแต่สาขาที่สอบ เช่น Classic หรือ Jazz หรืออื่นๆ โดยส่วนใหญ่ แม้ว่าจะเป็นสาขาอื่นที่ไม่ใช่ Jazz กับ Classic ก็ตาม ก็จะต้องเลือกสอบเพลง Classic หรือ Jazz ที่เป็นรากฐานของดนตรีอยู่ดี ในส่วนนี้ต้องบอกว่า ถ้าเคยฝึกสายคลาสสิคมาอยู่แล้ว ให้เลือกสอบสายนั้นเลยก็ได้ครับ บทเพลงที่สอบมักจะอยู่เกรดกลางๆ ช่วง เกรด 4-5 ขึ้นไปราวๆนี้ แต่ถ้าเป็นสาย Pop มา ควรโฟกัสมาฝึก Jazz เพื่อสอบเข้าจะเป็นหนทางที่ง่ายกว่าและตรงกว่าครับ เพราะ Pop สามารถต่อยอดมา Jazz ได้เลย หรือถ้าสาขาที่เล็งไว้สอบตรงนี้ไม่เคร่งมาก อาจเป็นไปได้ว่าฝึก Pop/Rock ก็อาจใช้เข้าสอบได้ครับ แล้วแต่รายละเอียดเพลงที่เค้ากำหนด แต่ถ้าเอาชัวร์ ถ้าอยากเข้าได้แน่ๆ เล่น Jazz หรือ Classic จะชัวร์กว่าครับ

Scale : เล่นสเกล ทั้ง Major , Minor (1-3 แบบ แล้วแต่ความโหดของแต่ละที่) โดยควรเล่นได้อย่างต่ำ 2 Octave พร้อมกันทั้งสองมือ หรือถ้าเอาชัวร์ก็ 4 Octave ไปเลยครับ

Chord : ควรเล่น Triad Chord ได้ทุกแบบ และเล่น Inversion ได้ทุกตำแหน่ง เป็นอย่างต่ำ ถ้าได้ถึง seventh chord ด้วยเลยก็ยิ่งดีครับ

ปล.1 ในเกณฑ์การสอบปฎิบัติแต่ละที่ จะมีกำหนด Tempo หรือความเร็วไว้ให้ด้วย ถ้าจะให้ชัวร์ เราควรซ้อมทั้งหมดด้วย Tempo นั้นให้ได้คล่องหมด และเล่นเนี้ยบโดยไม่ผิดเลย ยิ่งเราเล่นได้สมบูรณ์แบบมากเท่าไร ยิ่งมีสิทธิ์ที่จะสอบติดสูงมากตามไปด้วยครับ

ปล.2 บางทีแล้วตอนสอบจริง เราอาจจะไม่ต้องเล่นทุกอย่างที่เราซ้อมมาให้ดูทั้งหมด แต่อาจจะโดนถามสุ่ม แล้วให้เล่นทันที ซึ่งถ้าเราได้หมดมาจนคล่องอยู่แล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะไม่ต้องห่วงอะไร แต่ถ้าเราไม่คล่องบางอย่าง ก็ยังมีโอกาสสอบได้ ถ้าเค้าไม่ได้สุ่มโดนสเกลหรือคอร์ดที่เราไม่ถนัดครับ

3. Ear Training การฝึกประสาทการฟัง

การฝึกหู หรือฝึกการฟัง เป็นอีกส่วนที่ยากสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่ยาก แล้วแต่ประสบการณ์ทางดนตรีที่สั่งสมกันมา เพราะบางคนอาจมีหูที่ดีมากโดยที่ตัวเองไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ร้องโน้ตถูกต้องหมด อันนี้พอได้มาเรียนติวเพื่อสอบ อาจจะรู้สึกว่าไม่ยาก และใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับบางคนที่หูไม่ได้ดีมาก อาจจะเล่นดนตรีมาไม่นาน หรือเพิ่งเริ่มเลย หรือบางคนอาจจะเล่นเครื่องเอกเป็นกลองมา มักจะมีปัญหาเรื่องนี้กันเยอะ ฉะนั้นต้องมีการเรียนและฝึกฝนพิเศษเพื่อให้หูดีขึ้นและผ่านเกณฑ์การเข้าเรียนได้ครับ เรื่องที่เป็นเกณฑ์ในการสอบมีดังนี้ครับ

Interval : ขั้นคู่ เป็นการฝึกฟังว่าโน้ตที่เปล่งเสียงพร้อมกันสองโน้ตนั้นเป็นคู่อะไร ถ้าแม่นยำได้จะดีมากครับ

Triad Chord : คอร์ดไตรแอด ฝึกฟังว่า คอร์ดที่ได้ยินมีคุณภาพอะไร คือ Major , Minor , Aug หรือ Dim โดยมากจะแค่นี้ครับ แต่ถ้าสามารถฝึกได้ถึงแยกแยะ Inversion ได้ก็เป็นเรื่องดีครับ

Solfege : การอ่านโน้ตแล้วร้องโน้ตสด ค่อนข้างจะยากพอสมควร ถ้าทำไม่ได้ไม่เป็นไรครับ เพราะพบได้น้อยว่าในระดับต่ำกว่ามหาวิทยาลัยจะทำได้ แต่ถ้าทำได้รับรองว่าเป็นแต้มต่อแน่นอน

ปล. Ear Training หลักๆจะสอบแค่สองอย่างแรกครับ และถ้าใครที่คิดว่าต้องฟังโน้ตแล้วบอกได้เลยว่านั่นโน้ตอะไร อันนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุดครับ เรียกว่า Perfect Pitch ซึ่งทำไม่ได้ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัวครับ เพราะกว่าจะทำได้แบบนั้นมันต้องเล่นดนตรีหรือซ้อมเยอะมากมานับสิบปี มักจะไม่อยู่ในระดับการสอบปริญญาตรีอยู่แล้วครับ แต่ถ้าใครทำได้ ก็คือมีแต้มต่อแน่ๆ

ผมเคยทำ Content เกี่ยวกับการฝึก Ear Training หรือ ฝึกจำขั้นคู่ด้วยบทเพลง 12 เพลง [URL] ลองเข้าไปดูได้ครับ
หรือถ้าใครอยากเรียนทางเราก็มีสอนครับ ติดต่อเข้ามาได้

————

เตรียมตัวอย่างต่ำ 1 ปี

คุณควรมีเวลาเตรียมตัวกับการสอบทั้งสามอย่างนี้ อย่างน้อย 1 ปี (หรือ 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น) ที่ต้องจริงจังกับมัน และถ้าไม่ได้เรียนแล้วคิดว่าจะสอบได้ ต้องขอบอกว่ายากครับ เรียนเถอะ ดนตรีเป็นสิ่งที่ฝึกเองได้ก็จริง แต่การเรียนจะทำให้เรียนรู้การฝึกอย่างถูกหลัก ไม่ต้องคลำเอง และเสียเวลาน้อยกว่ามากๆไม่รู้กี่เท่า และยิ่งกับการเรียนในระบบ แบบ Academic ถ้าจะสอบเข้า ยังไงก็ต้องเรียนติวก่อนเพื่อสอบครับ

การสอบทั้งหมดที่ว่ามา มักจะมีคะแนน ซึ่งผู้ที่ทำคะแนนได้ระดับ top มักจะมีสิทธิในการได้ทุนการศึกษา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มา คนที่ได้มักจะเป็นคนที่เก่งดนตรีมากๆมาอยู่แล้ว เพราะเรียนอย่างต่อเนื่องหรือประกวดชนะอะไรมาระดับหนึ่ง มักจะมีแทบทุกมหาวิทยาลัย

ประมาณนี้นะครับสำหรับการสอบเข้าคณะดนตรี หวังว่าข้อมูลเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆคนที่เล็งสอบเข้ามหาวิทยาลัยดนตรี หรือคณะดนตรีอยู่ ยังไงก็ขอให้ทุกคนตามฝันให้สำเร็จนะครับ

The Real Producer

หรือถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยใฝ่ฝันอยากเรียนคณะดนตรี ในมหาวิทยาลัย เพราะรักในดนตรี และอยากจริงจังกับมัน แต่ไม่ว่าจะด้ยวเหตุผลประการใดก็ตามที่ทำให้พลาดโอกาสนั้น ข่าวดีคือ หลักสูตร The Real Producer นั้นมีไว้เพื่อคนที่จริงจังกับดนตรี อยากทำเป็นอาชีพไม่ว่าโปรดิวเซอร์หรือศิลปิน คนที่ยังมีไฟในการทำตามฝันโดยไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา คนแบบคุณครับ

หากสนใจสามารถติดต่อแอดมินที่ ไลน์ @verycatacademy หรือข้อมูลเพิ่มเติมที่ link ด้านล่างสุดนี้ได้ครับ

————————

VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
.
ถ้าคุณรู้ตัวแล้วว่าดนตรีไม่มีทางลัด ถ้าคุณอยากเข้าใจ และเชี่ยวชาญ
ถ้ามีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน ผมไม่อยากให้คุณหลงทาง
มาคุยปรึกษากันได้ครับ ยินดีให้คำปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
www.verycatsound.academy/funnel01
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.