หลายคนที่มาปรึกษาเรื่องการเรียนทำเพลง ถามคำถามนี้ว่า ถ้ามีความฝันอยากจริงจังกับดนตรี อยากเป็น Producer , Composer แต่ไม่ได้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็กยังทันไหมครับ?
ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ อยากให้อ่านบทความนี้ก่อน ซึ่งคำตอบมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างด้วย โดยจะมีคำถามสองข้อหลักๆที่เป็นประเด็น
ผมขอยกตัวอย่างตัวผมเองละกันนะครับ ผมเล่นดนตรีแบบงูๆปลาๆ เรียนบ้างฝึกเองบ้าง ตั้งแต่อายุ 15 – 24 โดยส่วนมากเรียนไปไม่เยอะ พอเล่นเป็นแล้ว เน้นเล่นเพื่อความบันเทิงซะมากกว่า ตีคอร์ดร้องเพลงไปเรื่อยๆ ทั้งกีตาร์และคีย์บอร์ด ไม่เคยฝึกแบบจริงๆจังๆ จนกระทั่งตอนอายุ 24 ผมถึงเพิ่งได้มาเริ่มซ้อมเปียโนแบบจริงๆจังๆเพื่อสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดนตรี ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าตัวเองเริ่มช้ามากๆเลย ผมซ้อมอยู่หนึ่งปี แล้วก็ไปสอบ สอบติด เรียนในมหาวิทยาลัยอีกสี่ปี สองปีแรกของการเรียนผมยังคงต้องซ้อมต่อ แต่พอปีที่สาม เริ่มไม่ได้ซ้อมแล้ว เพราะสาขาที่ผมเรียนเป็นสาขาเกี่ยวกับการผลิตดนตรี ไม่ใช่การเป็นนักดนตรีโดยตรง เท่ากับว่า ผมมีช่วงเวลาที่จริงจังกับการซ้อมแบบ Academic ที่เข้มข้น แค่ 3 ปีเท่านั้นเอง และผมได้เริ่มอาชีพ Producer ที่เป็นความฝันของตัวเองได้สำเร็จ ช่วงปลายๆ 20 นี่เอง
ตอนแรกผมนึกว่าตัวเองน่าจะอ่อนที่สุดในรุ่น แต่ระหว่างที่เข้าเรียนผมก็พบว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่ผมคนเดียวที่ไม่ได้ฝึกดนตรีจริงจังตั้งแต่เด็กมา มีบางคนพื้นฐานน้อยกว่าผมอีก แต่ก็สอบเข้ามาเรียน ผมขอเรียกเป็นนามแฝงว่านาย B ละกันนะครับ
นาย B เค้าหลงใหลในดนตรี Jazz และเพิ่งมาเริ่มเรียนเปียโนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกเลย แล้วก็มาสอบ น่าจะสอบผ่านแบบฉิวเฉียดเลย แต่ประสบการณ์การเล่นดนตรีของเค้าเรียกได้ว่าแทบไม่เคยมีมาก่อนเลย แทบจะเริ่มมาปีเดียวตั้งแต่พื้นฐานเลย เป็นคนที่รั้งท้ายที่สุดในรุ่น แต่นาย B ก็เป็นคนขยันไม่แพ้ใคร ผมเห็นเค้าใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะเริ่มเล่นได้เท่าๆกับที่ผมเล่นได้ตอนสอบเข้า (น่าจะสักประมาณ 3 ปี) แล้ว เหมือนร่างกายของเค้าต้องการการปรับตัวและคุ้นเคยกับดนตรีอยู่นาน และที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือ หูเค้าไม่ค่อยดี ไม่ได้แปลว่าร่างกายไม่สมบูรณ์อะไรแบบนี้นะครับ แต่แปลว่า วิชา Ear Training เข้าขั้นแย่มาก คือร้องเพลงเพี้ยน ไม่สามารถจับเสียงที่ฟังและร้องเลียนแบบได้ว่าเป็นเสียงเดียวกันหรือไม่
การสังเกตนาย B ทำให้ผมพบว่า สิ่งที่ต่างกันระหว่างผมกับนาย B คือ “ชั่วโมงบิน” ที่คลุกคลีกับดนตรี ที่จริงแล้วผมกับนาย B เริ่มซ้อมแบบจริงจังเพื่อเข้าสอบด้วยเวลาหนึ่งปีพอๆกัน แต่สิ่งที่ต่างคือ ผมสามารถต่อยอดไปได้ไวมาก เพราะผมมีความคุ้นเคยกับดนตรีก่อนหน้านี้มาแล้วร่วมสิบปี แม้ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีแบบงูๆปลาๆ แต่มันหล่อหลอมทำให้เกิดพื้นฐาน ประสบการณ์และชั่วโมงบินที่เหนือกว่า สิ่งที่ได้คือ ผมมีหูที่ดีมาก เนื่องจากการร้องเพลงไปด้วยตีคอร์ดไปด้วยเป็นเวลาสิบปี เพราะชอบร้องเพลง และร้องได้ถูกต้องเป๊ะหมด มันคือการฝึก Ear Training ชั้นดีโดยที่เราไม่รู้ตัว ผมแม่นเรื่องโน้ต เรื่องระดับเสียง เรื่องคีย์มากๆ มาจากการทำสิ่งพวกนี้ซ้ำๆมาสิบปี แต่การเรียนนั้นทำให้ผมจัดระเบียบความรู้ได้เข้าที่เข้าทางและต่อยอดได้อย่างดี
นอกจากนี้ทักษะในการเล่นเครื่องดนตรี แม้จะไม่ได้ถูกฝึกมาแบบถูกต้อง แต่ไหวพริบในการเคลื่อนไหวของร่างกายมันดีกว่า มีความคล่องแคล่วกว่าคนที่ไม่มีชั่วโมงบินสิบปีนี้ เท่าที่สังเกตดู นาย B มีความเกร็งมากเวลาเล่นเปียโน แต่ผมไม่มีเลย
ที่พูดมานี่ไม่ได้คิดจะมาอวยว่าผมเก่งอะไรนะครับ ในการเล่นดนตรีผมก็ไม่ได้เก่งเท่าๆเพื่อนคนอื่นในคลาสที่มีประสบการณ์มากกว่า ถือว่าตัวเองก็ค่อนข้างเล่นดนตรีห่วยด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับคนที่เล่นมาตั้งแต่เด็ก แต่ประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อสารก็คือ ต่อให้คุณไม่เคยซ้อมจริงจังกับดนตรีมา แต่ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ดนตรีมาบ้าง แม้ว่าจะเล่นมันเล่นๆเป็นงานอดิเรก ร้องเพลงตีกีตาร์อะไรทั่วไป นั่นแหละครับ ที่จริงมันมีผล มันช่วยคุณได้มากๆตอนคุณจะมาฝึกมันให้จริงจังขึ้น และหูคุณจะถูกพัฒนามาโดยอัตโนมัติ อย่างที่ผมเคยบอกในโพสต์ก่อนๆแล้วว่า หูดีเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็น Producer , Composer ถ้าคุณหูดีมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจจะแทบไม่ต้องฝึก Ear Training เพิ่มเลย หรือฝึกน้อยกว่าคนอื่นมากๆ นั่นเป็นไปได้ครับ
หรือใครที่คิดว่าตัวเองเป็นอย่างนาย B เลย คือใหม่เอี่ยมจริงๆ ก็อย่าท้อครับ ปัจจุบันผมเห็นนาย B เล่นเครื่องดนตรีเก่งกว่าผมซะอีก เพราะพอผมมาประกอบอาชีพเป็นสาย Producer เต็มตัวแล้ว ผมก็แทบไม่ได้ฝึกซ้อมสกิลเครื่องดนตรีเพิ่มเลย เริ่มเมื่อไรก็ไม่สายหรอกครับถ้าเรารักมันจริงๆและพยายามตั้งใจ บวกกับวินัย
หลายๆคนมีความฝันอยากประกอบอาชีพดนตรี ถ้าเป็นอันนี้มันก็อาจจะมีเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคนเราเมื่ออายุมากขึ้น ย่อมต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามตัว และดนตรีกว่าจะเก่งจนสามารถประกอบอาชีพได้ ย่อมต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 2-3 ปี เท่าที่ผมคิดนะ แล้วแต่ความสามารถ ความขยันของแต่ละบุคคลอีก ทีนี้ถ้าบางทีคุณอายุมากแล้ว เช่น ไปเลข 40-50 แล้ว มันก็จะมีปัญหาหน่อย เพราะคุณอาจจะหาเงินได้ไม่ทันกับรายจ่ายที่ต้องใช้ แต่ผมคาดว่า ถ้าอายุประมาณนั้นคุณคงมีรายได้หรืออาชีพที่โอเคอยู่แล้ว ถึงมาเริ่มเรียนสิ่งนี้ ฉะนั้นมันอาจไม่ใช่ปัญหา ส่วนอายุช่วง 30 ผมก็ยังมองว่าก็ยังทันอยู่ เพียงแต่คุณก็ต้องมีทางออกเรื่องการเงินไว้แล้ว สำหรับเรื่องรายได้ที่ในช่วงแรกๆ ที่อาจจะน้อยหรือไม่มีเลย เช่นคุณอาจจะมีทุนอยู่แล้ว หรือมีอาชีพทำเงินอาชีพอื่นรองรับอยู่แล้ว
แต่ถ้าคุณไม่ได้มีเป้าหมายทางดนตรีที่เงินทอง หรือการประกอบอาชีพ อันนั้นคือสิ่งที่ดีมาก เพราะมันจะไม่มีคำว่าสาย เมื่อคุณรักดนตรีจนเหมือนชีวิตโดนคำสาปดนตรี ยังไงคุณจะไม่สามารถหนีความสนใจใคร่รู้ของตัวเองไปได้ วันนึงเมื่อคุณพร้อมแล้วมาลุยกับมันเพื่อสร้างผลงานศิลปะเพื่อความสุขของตัวเอง หรือเพื่อสร้างงานดนตรีในอุดมคติของคุณเป็นงานอดิเรก หรืออยากให้คนทั่วไปได้ฟัง ได้มีชื่อเสียง ได้ทำตามความฝันของตัวเองก่อนตาย นั่นไม่มีคำถามว่าสายเลยครับ หลายๆคนที่ไม่ใช่คนรักดนตรีแบบเราๆอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม แต่ผมว่าพวกเรากันเองส่วนใหญ่เข้าใจนะ
ผมเห็นทั้งลูกค้าที่ติดต่อเข้ามา หรือคนที่มาเรียนทำเพลงหลายคนที่เป็นผู้ใหญ่ Gen X ไปถึง Boomer ก็มาเรียน แล้วก็มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองได้เรียน ได้ทำ ชีวิตคนเรามันก็ไม่ได้ยาวขนาดนั้น ชีวิตนี้ถ้ามีโอกาสก็ทำสิ่งที่ฝันที่อยากทำเถอะครับ
หวังว่าคำตอบที่ผมให้ จะเป็นประโยชน์กับใครหลายๆคนนะครับ
ถ้าใครสนใจเรียนทำเพลงเป็น Producer , Composer ก็ติดต่อหลักสูตร The Real Producer ของเราได้ครับ
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ
หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :