เรียนทำเพลง Treatment คืออะไร สำคัญยังไงกับการแต่งเพลง

Treatment คืออะไร สำคัญยังไงกับการแต่งเพลง

Share via:

Krissaka Tankritwong

ในการแต่งเพลง หรือ Song Writing บางทีแล้วมันไม่ได้มีสูตรตายตัว คนบางคนอาจใช้คนละวิธีในการแต่ง บางคนทำเนื้อก่อน บางคนทำทำนองก่อน บางคนทำดนตรีก่อน ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกครับ ขอเพียงใครถนัดแบบไหน และแบบไหนมันนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีได้ก็พอ ถ้านั่นเป็นการแต่งเพลงตัวเอง ที่คุณมีเพียงโจทย์เป็นตัวคุณเป็นที่ตั้ง

แต่ ในการทำงานระดับมืออาชีพ บางทีแล้วการต้องสื่อสารกับคนอื่นที่ทำงานด้วยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อมันเป็นการทำงานที่มีโจทย์เป็นตัวตั้ง และต้องการผลลัพธ์ที่มาตอบโจทย์นั้นให้ได้ นักแต่งเพลงอาจต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้งานออกมามีดี และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ทีนี้มันเลยจำเป็นต้องเรียนรู้ขั้นตอนหนึ่งที่เรียกว่า “Treatment”

Treatment คืออะไร?

ทรีทเม้นท์ คือภาพร่างของเนื้อเพลง ซึ่งยังไม่ใช่เนื้อเพลงจริง มันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่เราเริ่มทำก่อนจะเขียนเนื้อเพลง และหลังจากคิดเรื่อง หรือ Concept ของเพลงออกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น นักแต่งเพลงอาจจะไปรับงานเขียนเพลงโฆษณาจากลูกค้าเจ้าหนึ่ง ซึ่งไม่มีความรู้ทางดนตรี และได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่า จะทำเป็นเพลง Concept แบบนี้นะ ทีนี้ก่อนจะเริ่มเขียนเพลงขึ้นมาจริงๆ เราจำเป็นจะต้องทำให้ลูกค้าเห็นภาพคร่าวๆก่อนว่า แต่ละท่อนจะเล่าอะไร เนื้อหาประมาณไหนบ้าง เพื่อสื่อสารกันเข้าใจตรงจุด เป็นกระดูกสันหลังของเรื่องในเพลง และไปค่อยๆ แก้ไขจนเสร็จสมบูรณ์โดยมี Direction ที่ชัดเจน และไม่หลงทิศทาง

โดยสิ่งที่เขียนใน Treatment มันยังไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อเพลงจริงๆ เพราะมันอาจจะยังไม่ได้ถูกคิดคำมาให้เข้ากับเมโลดี้อย่างสละสลวยลงตัว เพียงแต่เอาเรื่องรู้เรื่องว่าท่อนนั้นๆต้องการจะสื่อสารอะไรพอได้ ก็เพียงพอ โดยในบางครั้ง คำหรือประโยคบางอย่างใน Treatment ก็อาจใช้ได้เลย ก็เอามาใช้ได้ หรือจะโละทั้งประโยคแล้วเขียนใหม่ให้ได้ใจความตามนั้นก็ได้

ยกตัวอย่าง Treatment เช่น

————

เพลงโฆษณาลูกอม Sour
จุดขาย : กินแล้วตื่น เพราะความเปรี้ยว ซ่า สดชื่น

Verse : ทำงานหรือเรียนแล้วเบื่อๆ ง่วงๆ ไม่สดชื่น ขาดพลัง ไม่มีไฟในการทำงาน ซึมเศร้า หมดกำลังใจในชีวิต ไม่มีความหวัง หัวตื้อ ทำยังไงดี

Pre Chorus : อยากได้อะไรมาช่วยให้สดชื่นหน่อย จะมีบ้างไหม

Hook : ลองอม Sour ดูไหม เม็ดเดียวตื่นเลย พร้อมทำให้สดชื่น มีพลัง พร้อมลุย

ซึ่งเมื่อทำเป็นเนื้อเพลงจริงๆแล้วอาจจะกลายเป็นแบบนี้ครับ

—————

ในวันที่เบื่อ ในวันที่เซ็ง ในวันที่ซึมเซา
ในวันที่เทาๆ ในวันที่เมฆฝน ไม่เป็นใจ
คิดงานไม่ออก หัวสมองไม่แล่น ไม่รู้เป็นอะไร
มันตื้อไปหมด เบลอจนขั้นสุด ไม่รู้ต้องทำไง

จะมีไหม สิ่งใดที่มาช่วยพาใจ ให้รู้สึกสดใหม่อีกครั้ง
จะมีไหม สิ่งที่จะพาให้ใจกลับมามี mood มี vibe
ลองมา ลองมาอม Sour Sour Sour Sour
ลองมา ลองมาโดน Sour Sour Sour Sour
เม็ดเดียวตื่น พร้อมทำให้สดชื่น
มีพลัง มีไฟ พร้อมลุยอีกครั้ง
ลองมาอม Sour Sour Sour

———

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า จากใน Treatment ที่อาจจะอธิบายไว้สั้นบ้างยาวบ้าง แต่เป็นรูปแบบอธิบายความ แต่พอนำมาทำเป็นเพลงจริงๆ สิ่งเหล่านั้นเป็น Source ที่จะดึงมาใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่ขอให้เล่าเรื่องได้ประมาณเดิม ด้วยคำที่เปลี่ยนไปและถูกดัดแปลงให้สามารถเข้ากับเมโลดี้เป็นเพลงได้ลงตัวมาแล้ว

ประโยชน์ของ Treatment

1.ทำให้เกิด Direction ในการสื่อสารเรื่องของเพลงที่ชัดเจน

จะทำให้มีความชัดเจนว่าท่อนไหนต้องการสื่อสารอะไร และเมื่อแก้เพลงจะไม่หลงออกนอกประเด็น ไม่แต่งอะไรไปเรื่อยโดยทำให้หลุดการเล่าเรื่องเดิม ถึงแม้จะไม่ได้เอามาทำเพลงโฆษณาก็ตาม แต่จะเป็นเพลงตัวเองหรือเพลงรูปแบบไหน การทำ Treatment ก่อนก็จะช่วยได้มาก ทำให้ไม่แต่งไปเรื่อยแล้วหลงทางครับ

2.ทำให้แก้ไขง่าย

ในการทำงานกับบุคคลอื่นหรือลูกค้า เป็นไปได้ยากที่จะจบงานกันในรอบเดียว โดยส่วนมากต้องมีการปรับแต่งหรือแก้ไขกันจนกว่าจะลงตัวแล้วลูกค้าพอใจอยู่แล้ว การมี Treatment จะช่วยทำให้การแก้ไขนั้นเป็นไปโดยราบลื่น เพราะทั้งตัวเราและผู้ที่เราทำงานด้วยจะเห็นภาพชัดเจนว่า เมื่อมีการแก้ไขก็สามารถทำได้ตรงจุด และไม่หลุด Concept

3.ประหยัดเวลาทำงาน

อาจจะงงว่าประหยัดยังไง คือเมื่อมันเกิดกระบวนการ การทำ Treatment ขึ้นมา อย่างแรกเลย มันมีภาพร่างคร่าวๆของโครงเนื้อเรื่องเพลงให้เห็นแล้ว เราไม่ต้องด้นเองทุกอย่างใหม่หมด แล้วมีวัตถุดิบบางอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้เลย หรือสามารถคิดต่อยอดจากมันได้

อย่างที่สองคือ การขึ้น treatment ให้ลูกค้าโอเคก่อน ค่อยเริ่มแต่ง draft 1 เพราะมันมักจะทำให้เกิดความชัวร์มาก่อนแล้วว่า direction นี้ถูกต้องตรงใจลูกค้า การขึ้น demo ตัว draft1 ออกมาเลย โดยมีทั้งเนื้อเพลงทั้งทำนองใส่มาแล้ว แน่นอนว่าเราต้องเสียเวลาในการ Compose ตัวเมโลดี้ คอร์ด ขึ้นมาด้วย แล้วไหนจะต้องทำให้ลงตัวกับเนื้อร้องอีก ซึ่งเกิดการกินเวลาทำงานไปแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำไปถูกทิศทางแล้วรึยัง ฉะนั้นการขึ้นโครง Treatment ขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นการทำให้เกิดความชัวร์ร่วมกันก่อนว่ามันจะออกมาหน้าตาประมาณนี้นะ แล้วถึงค่อยเริ่ม Compose อะไรลงไปจริงๆ ไม่งั้นเกิดไม่ใช่ขึ้นมา แก้กันยับนะครับ กลายเป็นเสียเวลาหนักกว่าเดิม

สรุป

ถ้าคุณไม่ได้ทำงานที่เป็นงานเพลงส่วนตัว (หรือต่อให้ใช่ก็ตาม) และมีการทำงานกับคนอื่น อยากลองนำขั้นตอนการทำ Treatment ไปใช้ดูก็ได้นะครับ น่าจะได้ประโยชน์จากมันไม่มากก็น้อย ส่วนถ้าใครที่อยากเรียนรู้การแต่งเพลง รวมถึงเรื่อง Treatment อย่างละเอียดขึ้น สามารถติดต่อทางแอดมิน เพื่อขอรายละเอียดวิชาเรียน LV.1 ใน The Real Producer ได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแต่งเพลงทั้งหมด ทั้งเนื้อร้องและทำนองครับ

The Real Producer

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการเรียนทำเพลงแบบขั้นลึก จริงจัง Real , Exclusive , Deep หลักสูตร The Real Producer มีสอนทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ สนใจหลักสูตรติดต่อแอดมินใน Line @verycatacademy หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ link ด้านล่างสุดของบทความได้เลยครับ

—————————

VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
www.verycatsound.academy/funnel01
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
โทร. 085666242

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.