ลิขสิทธิ์เพลง

วิธีจดลิขสิทธิ์เพลง ยังไงไม่ให้งง? หลายข้อสงสัยในนี้มีคำตอบ

Share via:

Krissaka Tankritwong

บทความนี้ มีเวอร์ชั่นอัพเดท ปี 2020 แล้วในเวบไซต์ใหม่ของเรา verycatsound.co ติดตามได้ที่ link

4 สิ่งที่ควรรู้ก่อนจดลิขสิทธิ์เพลง


เนื่องด้วยช่วงนี้ผมเริ่มทำเพลงโปรเจคเพลงตัวเองอย่างจริงจัง (CRiSCA) แล้วก็เริ่มดำเนินการเรื่องต่างๆ รวมถึงขั้นตอน จดแจ้งลิขสิทธิ์เพลง กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (Dip)

และได้เจอปัญหาวุ่นวายมากมาย จากการเตรียมเอกสาร.. (นี่ไปมารอบที่สามแล้วยังไม่จบเลย) เดี๋ยวต้องเซ็นโน่นนี่ ใช้ตัวจริง เดี๋ยวต้องแยกคนแต่งเนื้อกับทำนอง ต้องมอบอำนาจ แล้วไหนคือลิขสิทธิ์ของการเรียบเรียง คิดยังไง สารพัดคำถาม…

สรุปคือ… โคตรงง…

จากความคลุมเครือของระเบียบการ และข้อความในเอกสารต่างๆ ที่คิดแล้วว่า นักดนตรี นักแต่งเพลง หลายคนคงปวดหัวเช่นเดียวกันแน่ๆ 

ผมจึงรวบรวมคำถามไปถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฏหมาย หรือ “คลินิกลิขสิทธิ์” ที่ตั้งอยู่บนชั้น 11 ของอาคาร (ที่จริงคือ ถามเยอะจนโดนไล่มาถามชั้น 11 นั่นเอง…)

เจ้าหน้าที่ตอบคำถามต่างๆไว้ดีมาก ค่อนข้างเคลียร์ จึงอยากจะมาแชร์กับเพื่อนๆ นักแต่งเพลง นักทำเพลง ทำดนตรี ด้วยกัน เพราะคิดว่าหลายคนคงจะ “งง” เหมือนที่ผมเคยงงแน่นอน

ก่อนอื่นเลย สำหรับคนที่จะไปจดลิขสิทธิ์ ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ก่อนเลยครับ

ลิขสิทธิ์เพลง

จดลิขสิทธิ์เพลง

วิธีจดลิขสิทธิ์เพลง ทำยังไงไม่ให้งง?

ขั้นที่ 1 : เตรียมเอกสาร

เตรียมเอกสารต่างๆ เข้าไปอ่านระเบียบการที่เวบทางการเลยครับ https://www.ipthailand.go.th

ขั้นที่ 2 : ทำตามไกด์

อ่านวิธีการต่างๆในเวบ blog ที่เคยมีคนแนะนำไปแล้วได้เลยครับ (อ้าว…) แนะนำเวบของพี่มิ้นท์ http://www.rabhat.com/song-copyright/

หลายคนคงมีคำถามว่า อ้าว… แล้วผมจะเขียนทำไม? ในเมื่อให้ไปดูเวบคนอื่น ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะถึงทำตามที่เขียนไว้แล้ว มันก็ยังมีข้อสงสัยให้งงกันอยู่ดี เพราะหลายอย่างในเอกสารนั้น กำกวม ไม่ชัดเจน อย่างที่บอก เรื่องเบสิคๆ ให้อ่านจากเวบที่เคยมีคนให้ข้อมูลไว้อยู่แล้วละกันนะครับ ผมจะขอเขียนเฉพาะสิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาที่ทำให้ หลายๆคน งง กันดีกว่า มาเข้า hightlight ของเรากันเลย

ขั้นที่ 3 : อ่านเอกสารแล้วมีเรื่อง “งง” ใช่มั้ยล่ะ ?  ไม่อยากไปๆมาๆหลายๆรอบแบบผม อ่านที่ผมรวบรวมสรุปมาจากเจ้าหน้าที่นี่ได้เลยครับ

– ที่จริง “ลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องจด” งานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เป็นของผู้สร้างอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ นับแต่วินาทีที่สร้างสรรค์มันขึ้นมา

– การจดลิขสิทธิ์ ที่จริงแล้ว ไม่ใช่การจด แต่คือ “การแจ้งลิขสิทธิ์” เป็นการแจ้งให้ทางหน่วยงานเค้ารับรู้เฉยๆ เพื่อบันทึกข้อมูลเก็บไว้ ว่าเราได้ทำงานชิ้นนี้ (การที่ผมใช้คำนี้ ไม่ได้ใช้คำที่ถูกต้องว่า “แจ้งลิขสิทธิ์” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายเฉยๆ)

– ประโยชน์ของมันคือ ก็แค่แจ้ง… แค่นั้นแหละ ถามว่า มีประโยชน์ในชั้นศาลมั้ย มี… บ้าง แต่ไม่ได้มีน้ำหนักขนาดจะตัดสินทุกอย่างได้ ในกรณีที่เกิดกรณีพิพาทขึ้นมา ยังไงซะก็ต้องประกอบกับหลักฐานอื่น และการพิสูจน์ว่าเราเป็นเจ้าของ เป็นคนที่ทำผลงานขึ้นมาเองจริงอยู่ดี

แต่! ประโยชน์ของมันอีกข้อ ก็คือ มันจำเป็นสำหรับเอาไว้เป็นหลักฐานสำหรับการแจ้งขอเลข ISRC (คล้ายๆเลข ISBN ในหนังสือ) ซึ่งมันย่อมาจาก International Standard Recording Codeคือ รหัสสากลของสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั่วโลกโดยจะแสดงแหล่งที่มาแต่ละประเทศของสิ่งบันทึกเสียง ไอ้เลขตัวนี้มันเอาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการนำเพลงไปขายทั้ง online และ offline โดยการจะปั๊มแผ่นก็ต้องมีเลขนี้เช่นกันครับ (ไว้ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกทีครั้งหน้าๆนะครับ ขอติดไว้ก่อน)

– ก็แค่นี้แหละ… คือนั่นแปลว่า ที่จริงมันจะยังไม่จำเป็น ถ้าไม่ได้จะปั๊มแผ่น หรือนำเพลงไปขายในสื่อออนไลน์สตรีมมิ่งต่างๆ เราอาจจะทำๆเพลงไปก่อนเป็นซิงเกิลๆ แล้วค่อยรวบรวมไปจดทีเดียวก็ได้ ตอนจะปั๊มแผ่น

– ถ้าเป็นแผ่นทำมือ แบบไม่ได้ปั๊มจำนวนมากอะไรงี้ ก็ยังไม่ต้องมีเลขนี้ก็ได้

– สรุป ให้นะครับ… มีเวลาก็จดไปเถอะ เพราะถ้าทำเพลงเป็นศิลปินจริงจัง ยังไงซักวันก็ต้องจดอยู่ดี แต่ถ้าไม่มีเวลาก็ไว้ก่อนก็ได้

– กระบวนการทำ มันมอบอำนาจให้มาทำแทนกันได้ก็จริง แต่! เค้าต้องการเอกสารตัวจริง เซ็นตัวจริง จากเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ดี การเซ็นมอบอำนาจ ทำให้มีอำนาจเพียงสามารถเขียนแก้คำบางอย่างแทนเจ้าของสิทธิ์ได้บ้าง แต่ลายเซ็นยังไงก็ต้องตัวจริง (ระวังกันไว้ด้วยครับ ข้อนี้ เพราะผมเสียเวลาไปๆมาๆหลายรอบละ เลยอยากเตือนกัน) สรุปนะครับ ไม่ต้องมอบมันหรอกอำนาจ ให้เซ็นตัวจริงกันนี่แหละ

 

จดลิขสิทธิ์เพลง

เจอแบบนี้ ติ๊กข้อไหนดี?

– ในกรณีที่ผู้แต่งเนื้อ กับทำนอง เป็นคนๆเดียวกัน ทุกอย่างจะง่ายราบลื่นมาก เหมือนดังที่ไกด์ของพี่มิ้นท์ว่าไว้ ให้ติ๊กในข้อ ทำนองและคำร้อง

– ในกรณีที่ผู้แต่งเนื้อ กับทำนอง เป็นคนละคนกัน ทีนี้ล่ะ ยุ่งยากขึ้นละครับ คุณต้องทำเอกสารทั้งหมด 2 ชุด ชุดหนึ่งสำหรับคนแต่งเนื้อ (ติ๊กข้อ คำร้องที่แต่งเพื่อประกอบทำนอง) อีกชุดสำหรับคนแต่งทำนอง (ติ๊กข้อ ทำนอง) แล้วเขียนแยกกัน เข้าใจชัดเจนนะครับ แล้วเวลาเขียนไม่ต้องไปยุ่งกับตรงคำว่า “ผู้แต่งร่วม” เพราะไม่ถือเป็นผู้แต่งร่วม เป็นการแต่งแยกส่วนกัน เนื้อร้องกับทำนอง

– คำว่า ผู้แต่งร่วม ใช้ในกรณีที่ ในทำนอง แต่งกันมากกว่าหนึ่งคน หรือในคำร้อง แต่งกันมากกว่าหนึ่งคน

– เอกสารที่สองคนเขียนแยกกัน ต้องแจกแจงรายละเอียดการทำงานทุกอย่างอย่างชัดเจน โดยไม่ไปทำให้สับสนกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ถ้าแต่งเนื้ออย่างเดียว ให้เขียนแต่เนื้อร้อง ถ้าแต่งทำนองอย่างเดียว เนื้อร้องไม่ต้องเขียน แต่คอร์ด หรือไม่ก็เขียนกำกับไว้ให้ชัดเจนด้วยว่า เนื้อร้องไม่ได้ทำ แนวคิดในการทำงานก็เช่นกัน คนเขียนเนื้ออธิบายแนวคิดเนื้อ คนแต่งทำนอง อธิบายแนวคิดการแต่งทำนอง

– เสริมให้อีกนิดเรื่องการ print เนื้อร้องส่ง อักษรต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 16 

– หลายคนอาจสงสัยว่า โน้ตเพลง กับ แผนภูมิเพลง คืออะไร??(ผมก็ด้วย..)

คืออะไร โน๊ตเพลงมีลิขสิทธิ์ด้วยเหรอ แล้วแผนภูมิเพลงคืออะไร ร่ำเรียนมาขนาดนี้ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ?? งงมากๆ คือมันยังงี้ครับ ผมจะอธิบายให้ฟัง

– คำว่า “โน๊ตเพลง” ของทางกรมทรัพย์ฯเค้า หมายถึงว่า.. COMPOSE ของเครื่องดนตรี SOLO ชิ้นเดียว งงมั้ย? เช่น สมมุติ ผมทำเพลงกับนาย slash ชื่อเพลง sweet child 0′ mine แล้วในเพลงนั้น ผมบอกให้นาย slash เล่นอิมโพรไวส์อะไรก็ได้ โดยที่ผมไม่ได้เขียนโน๊ตให้เค้าเล่น นาย slash ได้เล่นกีตาร์ท่อนนึง ออกมาโดยคิดโน๊ตพวกนั้นด้วยตัวเอง แบบนี้ ลิขสิทธิ์เพลงจะอยู่กับผมที่เป็นคนแต่งเพลง แต่นาย slash เป็นเจ้าของสิทธิ “โน๊ตเพลง” กีตาร์ ท่อนนี้ของเพลงนี้ 

– โดยมีข้อแม้บางอย่างว่า บางทีถ้าเป็นการจ้างเพื่อให้มาเล่นในเพลง อาจนับลิขสิทธิ์เป็นของคนจ้าง และไม่สามารถนับเป็นลิขสิทธิ์โน๊ตเพลงของนักดนตรีได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสัญญาจ้างเป็นสำคัญ

– ส่วนอีกข้อ คือ คำว่า “แผนภูมิเพลง” แท้จริงแล้วมันก็คือ ARRANGING หรือ การเรียบเรียงเสียงประสานดนตรี นั่นเอง ทีนี้ล่ะหายงงเลย ก็สงสัยมาตั้งนานว่าทำไม ลิขสิทธิ์มันไม่มี การเรียบเรียงดนตรีอยู่ด้วย ที่แท้เค้าใช้คำแปลกๆแบบนี้นี่เอง

– แต่มีเงื่อนไขในการ จดแจ้งลิขสิทธิ์ แผนภูมิเพลง อยู่ว่า ต้องส่งหลักฐานที่เป็น FULL SCORE ที่มีโน๊ตของทุกเครื่องดนตรี อยู่ด้วย ไม่งั้นเค้าจะไม่รับ ถ้ามีแต่ตัวดนตรีให้ฟัง เค้าจะไม่รับ

– แต่การจดแจ้งลิขสิทธิ์ ของทำนอง หรือ MELODY หลัก ของเพลง สามารถจดได้ เพียงแค่มีแผ่น CD ที่มีเพลงให้ฟัง โดยไม่ต้องมีโน๊ตให้ดูก็ได้ (ไหงงั้น)

– นั่นเท่ากับว่า การจดแจ้งลิขสิทธิ์ของการ เรียบเรียงดนตรี ยุ่งยากกว่ากันมาก เพราะการทำ FULL SCORE ไม่ได้ง่ายๆ และค่อนข้างกินเวลามาก จึงไม่ค่อยนิยมจดกัน ทีนี้การพิสูจน์อะไรในชั้นศาล ทำได้ยากแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ต่างๆนั้นไม่ใช่นักดนตรีด้วย สื่อสารกันค่อนข้างยากเรื่องตัวโน๊ต

– ในกรณีของเพลงคัพเวอร์ เพลงรีมิกซ์ หรือการเรียบเรียงดนตรีใหม่ จากเพลงเดิมที่มีอยู่แล้ว (RE-ARRANGING) การจะทำให้ถูกต้องจริงๆ คือต้องขออนุญาตและได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ทำนองและเนื้อร้องเพลงนั้นๆก่อน จึงจะขอจดแจ้งได้

– เจ้าหน้าที่บอกว่า ในอนาคตอาจปรับอะไรบางอย่างเพิ่มอีก เพื่อให้ลดความยุ่งยากสับสน ข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่ผมไปถามไว้เมื่อ วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2017

หายงงกันมั้ย?

จบละครับ นึกไม่ออกแล้วว่า น่าจะมีคำถามไหน หรือข้อไหนอีกไหมที่ไม่เคลียร์ ถ้ายังไง ใครมีข้อสงสัย ลองคอมเม้นท์สอบถามไว้ หรือถามที่เพจก็ได้ครับ ถ้าผมตอบได้จะตอบให้ หรือไม่ก็จะไว้รวบรวมคำถามไปถามเจ้าหน้าที่ให้อีกรอบตอนไปครั้งหน้า หวังว่าคงจะช่วยให้ นักแต่งเพลง หายงงกันได้บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ต้องไปๆมาๆหลายรอบแบบผม T-T ขอบคุณครับ

ติดตามตอนต่อ ของเรื่องลิขสิทธิ์ได้ที่เวบไซต์ใหม่ของเรา verycatsound.co ได้ที่ link

4 สิ่งที่ควรรู้ก่อนจดลิขสิทธิ์เพลง

——————————————————————————————————-

คอร์สออนไลน์ สอนแต่งเพลง ออนไลน์ เริ่มต้นด้วยโปรแกรม DAWs กับ VERYCATSOUND

เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจ ลองเข้าอ่านรายละเอียดได้ที่ link ครับ

Comments (287)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.