Pizzicato Five ตำนาน Shibuya-kei ที่ไม่มีวันตาย

Share via:

Krissaka Tankritwong

Pizzicato Five : วง indie pop สุดเก๋! ตัวพ่อของวงการ Shibuya-kei

    นักฟังเพลงต่างประเทศ หัวนอกกระแสหลายๆคน คงคุ้นเคยกับชื่อนี้ “Pizzicato Five” (หรือชื่อย่อว่า P5) วงดนตรีในตำนาน! หัวหอกของดนตรี Shibuya-kei ในยุคเริ่มต้น ที่โด่งดังในหมู่นักฟังเพลงอินดี้ ชาวตะวันตก ช่วงยุค ’90 ด้วยลักษณะดนตรีที่มีการประพันธ์ที่มีการรวบรวมองค์ประกอบ จากเพลง pop ตะวันตก ในยุค ’60 ด้วยการคัดสรรค์มาอย่างดี โดยมีสโลแกนของซาวด์ในแบบตัวเองว่า “A New Stereophonic Sound Spectacular” อันเป็นวลีที่เราจะได้ยินอยู่บ่อยๆในงานของพวกเขา

    Pizzicato Five เป็นวงดนตรี indie pop เก๋ๆ ที่โด่งดังในยุค ’90 (แต่บ้านเราเพิ่งจะมารู้จักกันในช่วงยุค 2000 ภายหลังจากแยกวงแล้ว) ที่เรียกได้ว่า ยุคนั้น มีแต่คนเก๋ๆ เค้าฟังกัน (ใครอยากจะบัญญัติศัพท์เรียกบรรดาคนเก๋ๆเหล่านี้ว่า เด็กแนว หรือ Hipster ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด) วัฒนธรรม ชิบุยะเคย์ นั้นถูกเสพย์โดยเหล่าคนเก๋ๆ ที่มานั่งร้านคาเฟ่เก๋ๆ และเปิดเพลงชิคๆ เก๋ๆ อย่าง Bossa nova , Chill out และเพลงของ P5 (ซึ่งฟังดูน่าหมั่นไส้มากใช่มั้ย แต่นี่แหละคือ วัฒนธรรม ชิบุยะเคย์ ที่คนให้ความสำคัญกับ Style และความมีรสนิยมมาก) ซึ่งปฎิเสธไม่ได้เลยว่าวง P5 นั้นแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีแนวนี้ หนึ่งในสองวงที่คนจดจำมากที่สุด (คู่กันกับ Cornelius หรือ Flipper’s Guitar) เรียกได้ว่า ถ้าใครเป็นมือใหม่หัดฟังชิบุยะเคย์จะต้องได้รับการแนะนำให้มาเริ่มต้นฟัง Pizzicato Five เป็นชื่อที่ถูกนึกถึงเป็นวงแรกๆอย่างไม่ต้องสงสัย วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับพวกเขาและตำนานดนตรีที่พวกเขาสร้างไว้กันอย่างจุใจ

เพื่อได้รับอรรถรสสูงสุด ท่านสามารถกดฟัง play list ของ P5 ไปด้วยในขณะที่เสพย์บทความ

( เพลงแนะนำ : The Night is Still Young / Baby Portable Rock / It’s A Beautiful day / Magic Carpet Ride / I Hear A Symphony / Such A Beautiful Girl Like You / Twiggy Twiggy / Nonstop to Tokyo / Triste )

ภาพจำที่ทรงอิทธิพล

    ในขณะที่แฟนๆบางกลุ่ม จดจำ ดนตรี Shibuya-kei ด้วยภาพของ Keigo Oyamada จาก Cornelius หรือ Flipper’s Guitar กับดนตรีแบบ Guitar pop, Alternative กลิ่นอาย Experimental แต่ก็มีแฟนๆอีกไม่น้อยที่จดจำภาพของดนตรีชิบุยะในแบบภาพจำของ Pizzicato Five ด้วยลุคของวง ที่เป็นชายวัยกลางคน ทรงผมเฉิ่มๆ เนิ้ดๆ คนหนึ่ง กับ หญิงสาวเปรี้ยวๆ แฟชั่นไอค่อน แต่งตัว retro อีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ Konishi Yasuharu (โปรดิวเซอร์) กับ Maki Nomiya (นักร้องนำ) ทั้งคู่มาพร้อมกับสไตล์เพลงน่ารัก มุ้งมิ้ง สดใส แต่ทว่าเปี่ยมด้วยพลังงานและชีวิตชีวา อันได้รับแบบอย่างทั้งลุคของวง กับ ลักษณะดนตรี จากดนตรีหลายแนวในอดีตมาอีกที อาทิ เช่น Ye-ye จากฝรั่งเศสยุค ’60 (ที่เป็นต้นตำรับภาพจำของ โปรดิวเซอร์ 1 + นักร้องหญิง 1 และเพลงอารมณ์ไร้เดียงสาของเด็กสาว) ซึ่งจากอิทธิพลที่ P5 รับมา ก็ดูเหมือนจะส่งต่ออิทธิพลนี้ให้กับวงดนตรีรุ่นใหม่ๆอีกนับไม่ถ้วน

    ด้วยซาวด์ดนตรีอินดี้ป๊อป กลิ่นอาย retro เป็นเอกลักษณ์ โด่งดังและทรงอิทธิพลต่อวงการดนตรีทั่วโลก แน่นอนว่า อิทธิพลนั้นส่งมาถึง ศิลปิน Neo-Shibuya รุ่นใหม่ๆอย่าง Capsule อัลบั้มแรกๆ ( แม้ Yasutaka Nakata เจ้าตัวจะบอกว่า ไม่ค่อยได้ฟังงานของ P5 นักก็ตาม ) หรือในไทยอย่าง นาเดีย สุทธิกุลพานิช และ mr.z สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ กับค่าย DOJOCITY ของเขา ที่เห็นได้ชัดถึงการรับแนวคิดบางอย่างจาก Shibuya-kei culture มาใช้ในงานของตัวเอง หรือแม้แต่วงดนตรีที่ออกตัวว่าเป็น Shibuya-kei อย่างชัดเจน อย่าง ละอองฟอง ในยุคปัจจุบันก็ตาม

    วงดนตรีวงนี้มีผลงานออกมาอย่างมากมายในช่วง 16 ปีของอายุวง ทั้งอัลบั้มเต็ม , Compilation , EP และ remix อัลบั้ม ฯลฯ นับรวมกันมีมากถึง 72 อัลบั้ม! เรียกได้ว่า ต้องมี Collecting guide สำหรับการตามเก็บงาน P5 กันโดยเฉพาะเลยทีเดียว ประวัติของพวกเขานั้นยาวนานกว่า 30 ปี ผ่านทั้งร้อนและหนาว ทั้งอดทนยืดหยัดต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ กว่าจะมีวันที่ประสบความสำเร็จ ผ่านทั้งการเริ่มต้นและการจากลา ที่เปี่ยมด้วยน้ำตาแห่งความประทับใจ มันช่างดราม่าและแสนจะญี่ปุ๊นญี่ปุ่นจริงๆ.. ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มรู้จัก Pizzicato Five กับประวัติอันยาวนานของพวกเขากันเลย

ละอองฟอง

อิทธิพลต่อวงการเพลงไทย 1 : ละอองฟอง วงดนตรีจากไทยที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็น Shibuya-kei

 

ตำนาน 30 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้

 

ยุค ’80 : สิบปีแห่งความอดทน

(ช่วงสมาชิก 4 คน นักร้องคือ Mamiko Sasaki , ช่วงสมาชิก 3 คน นักร้องคือ Takao Tajima)

    Pizzicato เป็นศัพท์ทางดนตรีคลาสสิค แปลว่า การดีดเครื่องสาย เช่น ไวโอลิน (จะทำให้ได้โทนเสียงเฉพาะที่มีความสดใสกว่า ซึ่งแตกต่างจากการสีด้วยไม้) ส่วน Five ก็มาจากจำนวนสมาชิกในวงตอนเริ่มแรก

    ปี 1979 Konishi Yasuharu (Songwriter,Bass,Guitar,Keyboards) ผู้เป็นเหมือนแกนกลางของวง เขาพบกับเพื่อนของเขา Keitaro Takanami (Guitar,Keyboards) ที่มหาวิทยาลัย Aoyama Gakuin ทั้งคู่มาจาก Hokkaido และมีรสนิยมทางดนตรีที่ตรงกัน ได้ฟอร์มวงดนตรีและเป็นรูปเป็นร่างออกเป็นผลงานอัลบั้มเป็นครั้งแรกในปี 1985 ร่วมกับสมาชิกอีก 3 คน คือ Ryo Kamomiya (Keyboards), Mamiko Sasaki (Vocal) และ Shineo Miyata โดยต่อมาในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากฟอร์มวงไม่นาน Miyata ได้ลาออกจากวงไป ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 4 คน แต่เนื่องจากทางวงได้ใช้ชื่อที่ Release ซิงเกิ้ลแรกที่ออกไปตอนนั้นให้คนจดจำแล้วว่า “Pizzicato V” จึงตัดสินใจยึดเลข 5 ในชื่อวงไว้มาจนถึงบัดนี้ (แม้ตอนนั้นจะมีสมาชิกเพียง 4 คน) เพลงซิงเกิลแรกของวงนี้ คือ “Audrey Hepburn Complex” ที่โปรดิวซ์โดยเจ้าพ่อวงการอินดี้ญี่ปุ่นอย่าง Haruomi Hosono (Teichiku Records) ก่อนที่จะตามมาด้วยอีก EP คือ “Action”

    ปี 1986 ทางวงได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่อย่าง sony และมีผลงานอัลบั้มเต็มอัลบั้มใหม่อย่าง Couples ซึ่งล้มเหลวทางยอดขาย จนมีแรงกดดันจากทางค่ายให้ทางวงหานักร้องใหม่ โดย Kamomiya และ Sasaki ก็ตัดสินใจลาออกไปด้วยเช่นกัน ทำให้ทางวงกลับมาเหลือสมาชิกแค่ตัวหลัก 2 คน ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงนักร้อง จากหญิงเป็นชาย โดยได้ Takao Tajima นักร้องนำจากวง Original Love มาร่วมเป็นนักร้องคนใหม่ในวงด้วย (เจ้าตัวร้องสองวงเลย) ส่งผลให้ในยุคนี้ ซาวด์ของ P5 มีความแปลกออกไปอีก เพราะโทนเสียงของนักร้องชายที่แตกต่างจากนักร้องหญิงในตอนต้นมาก ในช่วงนี้สมาชิกของ P5 กลายเป็นมีทั้งหมด 3 คน ในช่วงอัลบั้ม “Belissima!” ของพวกเขาในปี 1988

Pizzicato Five

Pizzicato V ในช่วงเริ่มต้น กับยุคสมาชิก 4 คน (คนซ้ายนี่ใช่ลุงโคนิชิไหมเนี่ย?)

 

Takao Tajima

Takao Tajima จากวง Original Love ผู้นี้เคยเป็นนักร้องนำของ P5 ด้วยนะ

    อัลบั้มอีก 2 อัลบั้มต่อมาของพวกเขา คือ On Her Majesty’s Request (ปี 1989) และ Soft Landing On The Moon (ปี 1990) ล้วนประสบความล้มเหลวทางด้านยอดขายเช่นกัน ในยุคนี้นับเป็นปีที่พวกเขามุ่งมั่นและอดทนมากกับการทำอัลบั้ม เพลงที่พวกเขาทำในช่วงนี้มีร่วมร้อยเพลง อัลบั้มและ EP อีกหลายอัลบั้ม ที่แม้จะประสบแต่ความล้มเหลว แต่พวกเขาก็ยังพยายามสู้ต่อไป ถ้าเรานับตั้งแต่พวกเขาเริ่มก่อตั้งโปรเจคดนตรีร่วมกัน ก็นานร่วมสิบปีทีเดียว

    ไม่น่าแปลกใจเลยกับความล้มเหลวทางยอดขาย เพราะลักษณะเพลงในยุคแรกของ P5 นั้นเรียกได้ว่า ค่อนข้าง “แปลก” จากเพลงปกติมากนัก และยังไม่ได้ไพเราะลงตัวลื่นหูในแบบเพลงฮิตของวงนี้ที่เราเคยได้ยินกัน อย่าง “Audrey Hepbern Complex” เพลงแรกที่เปิดตัววง เล่นเสียงเปียโนที่ต่ำมาก และประหลาดสุดๆ (เคยมีบางคนบอกว่า มันน่าจะเรียกว่า Audrey Hepbern Simple มากกว่า) ทางฝั่งเนื้อร้อง และชื่อเพลงที่ดูเหมือนจะมีความหมายนัยยะอะไรบางอย่างเกี่ยวกับ Audrey Hepbern นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังยุค ’60 (ผมอ่านเนื้อที่แปลเป็นอังกฤษ พยายามทำความเข้าใจเท่าไรก็ไม่เข้าใจ..) แต่ก็เป็นที่สังเกตได้ว่า ความพยายามในการขุด reference ยุค ’60 ของ Pizzicato Five นั้นเป็นจุดยืนที่มีมาตั้งแต่ตอนก่อกำเนิดวงแล้ว


นี่แหละ เพลงแรกของ Pizzicato V ประหลาดมากใช่ไหม…

ยุค ’90 : สิบปีแห่งความรุ่งโรจน์

(ช่วงสมาชิก 3 คน นักร้องคือ Maki Nomiya , ช่วงสมาชิก 2 คน นักร้องคนเดิม)

    ปี 1990 Maki Nomiya นักร้องที่เพิ่งได้ออกผลงานอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกของตัวเองในช่วงนั้น ได้เข้ามาร่วมในวง กลายเป็นนักร้องของ P5 แทน Takao Tajima ที่กลับไปตั้งใจทำวง Original Love ของตัวเอง ซึ่งการมาของ Maki Nomiya นั้นเป็นเหมือนการเข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ของ P5 เหมือนเคมีของเธอจะเข้ากันได้กับส่วนผสมทางดนตรีของวง ทำให้ซาวด์ของ P5 เกิดความลงตัว และเริ่มประสบความสำเร็จขึ้นมาหลังจากการทำงานที่ล้มเหลวทางยอดขายมาหลายปี

    พวกเขาได้เซ็นสัญญากับค่ายใหม่ อย่าง Nippon Columbia และหลังจากออก EP 3 แผ่น ที่เป็นการเปิดตัวยุคใหม่ของวงด้วยน้ำเสียงของโนมิยะ มากิ ในที่สุดอัลบั้มที่ 7 ของพวกเขา “This Year’s Girl” (เหมือนเป็นชื่ออัลบั้มที่อวดนักร้องใหม่ คือ โนมิยะ มากิ ว่าปีนี้ฉันขอนำเสนอผู้หญิงคนนี้นะ) ที่ได้รับความนิยมผิดหูผิดตากับ 6 อัลบั้มก่อนอย่างมาก ซึ่งในอัลบั้มนี้นี่เองที่ทางวงเริ่มคิดค้นวิธีการทำงานใหม่ๆ โดยการใช้เทคนิค Sampling (ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก อัลบั้ม “3 Feet High and Rising” ของวงอเมริกันฮิพฮอพ อย่าง De La Soul) ซึ่งตอนนั้นเองที่วิธีการทำงานแบบนี้ของ P5 ทำให้เกิดการเริ่มต้นแตกหน่อความนิยมในกระแสดนตรี Shibuya-kei ในช่วงยุค ’90 โดยอัลบั้มนี้ได้รับกระแสตอบรับดีมาก มีเพลงดังหลายเพลงอาทิ Twiggy Twiggy , Baby Love Child ถึงขนาดถูกนำไปประกอบรายการทีวี และสารคดี

    ปี 1992 กับอัลบั้มที่ 8 “Sweet Pizzicato Five” พวกเขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆจาก จากทางเพลงประกอบละครทีวีที่ทางวงทำให้ จนกระทั่งดังเปรี้ยงที่สุดในปี 1993 กับซิงเกิ้ล “Sweet Soul Revue” ที่ถูกใช้ประกอบโฆษณาเครื่องสำอางค์ Kanebo ซิงเกิลนี้นอกจากจะฮิตขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปีนั้นแล้ว แล้ว ยังฮิตถึงขนาด สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ หรือ mr.z ศิลปินไทยค่าย Bakery Music ที่ไปเจอเพลงนี้แล้วชอบ เลยซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นภาคภาษาไทย ในเพลง “สงสัย” ในอัลบั้ม “return to retro” ปี 2000 อีกด้วย (หาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้จากบทความ มารู้จักกับ Shibuya-kei ย่านถิ่นกำเนิดดนตรีมุ้งมิ้ง)

pizzicatofive

ตั้งแต่ขุ่นแม่มากิเข้ามา อะไรๆก็เปลี่ยนไป : Pizzicato Five ในยุครุ่งโรจน์ จากซ้ายไปขวา Konishi , Maki และ Keitaro

 

nadia

อิทธิพลต่อวงการเพลงไทย 2 : NADIA

MADE IN USA : ในที่สุดก็โกอินเตอร์

    เดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน อัลบั้มที่ 9 “Bossa Nova 2001” อันเป็นการร่วมงานกันกับศิลปินร่วมแนวชิบุยะเคย์ อย่าง Cornelius ที่มา Produce ให้ จนเกิดเพลงฮิตอย่าง “The Night is Still Young” ทำให้ความโด่งดังของ P5 นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ได้ฤกษ์ debut อัลบั้มในฝั่งอเมริกาซะที ในปี 1994 ด้วย EP “Five By Five” กับค่าย Matador Records ซึ่งตามมาด้วยอัลบั้มเต็ม “Made in USA” ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมเพลงจากสามอัลบั้มล่าสุดของพวกเขา นำเสนอต่อหูคนฟังชาวมะกัน โดยขายได้มากถึง 200,000 แผ่นทั่วโลก

    ก่อนที่พวกเขาจะทำอัลบั้มต่อไป คือ “Overdose” ของพวกเขาเสร็จ Keitaro Takanami สมาชิกผู้บุกเบิกวงได้ขอลาออกจากวงไป ในยุคสุดท้ายนี้ P5 จึงเหลือสมาชิกแค่สองคนคือ Konishi Yasuharu กับ Maki Nomiya ซึ่งก็ไม่ได้มีผลต่อการเติบโตขาขึ้นของวงแต่อย่างใด พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามกับการทัวร์คอนเสิร์ต 14 ครั้งในแถบอเมริกา และยุโรป และได้ออกอัลบั้ม Compilation ชื่อ “The Sound of Music” ปี 1995 โดยเป็นการรวมเพลงฮิตหลากหลายเพลงในยุคของวงที่มี Maki มาร่วม
หลังจากอัลบั้ม “Romantique 96” ในปี 1996 (มีเพลงฮิตคือ Baby Portable Rock) พวกเขาได้ก่อตั้งค่ายของตัวเองชื่อ “Readymade Records” ในปี 1997 ซึ่งได้ออกอัลบั้มที่ได้รับความนิยมเป็น global ทั้งในและนอกญี่ปุ่น อย่าง “Happy End of the World”

    ปี 1998 – 1999 พวกเขายังขยันออกผลงานอัลบั้มและ EP มากมายทั้งไม่หยุดยั้ง อาทิเช่น “Playboy & Playgirl”, “JBL Maxisonic” , “A Perfect World” (ร่วมงานกับนักร้องรับเชิญ “Mieko Hirota”)

PizzicatoFive

Pizzicato Five ในยุคสุดท้าย เหลือสองคน แต่เป็นภาพจำมากที่่สุด

ตกผลึกจนกลายเป็นเพชร

    ซาวด์ดนตรีของ P5 นั้นได้เข้าสู่ความกลมกล่อมในช่วงนี้ อันเป็นผลมาจากการตกผลึกทางการทำงานที่ลองผิดลองถูกมานับสิบปี โทนดนตรีที่เคยแปลกประหลาด ที่เคยทั้งหม่นหมองและสดใสผสมผสานกัน บัดนี้ถูกขัดเกลาให้สดใสปิ๊งดั่งเพชรเจิดจรัส เอกลักษณ์ทางดนตรีที่ค่อยๆถูกเหลาจนคมกริบ จาก reference แบบยุค ’60 เป็นการผสมผสานของดนตรีหลากหลายแนว ทั้ง Classical , Jazz, Bossanova จากบราซิล , Hip-Hop ฝั่ง East Coast , Ye-ye จากฝรั่งเศส, Electronic , เพลงป๊อปยุค ’60 ของอเมริกา ,Chicago House Music , Scottish Anorak pop ทั้งหมดนี้มาหลอมรวมกันด้วย Composition ที่พลิกแพลง กลายเป็นดนตรี pop น่ารักๆ แฮปปี้ๆ สำเนียงญี่ปุ่น กับดนตรีที่มีลูกเล่นเก๋ๆ แบบ sampling music ที่ผสมผสานดนตรีหลากหลายแนวเข้าด้วยกัน

    กลิ่นอายย้อนยุคที่ Pizzicato Five มีนั้น เกิดจากความหลงใหลในยุค ’60 ของ Konishi Yasuharu อันเป็นเหมือนการสร้างสูตรทางดนตรีให้กับ ดนตรี Shibuya-kei และศิลปินแนวนี้ในยุคต่อๆมา โดยเป็นภาพจำสองประการ ของลักษณะดนตรีแนวนี้ว่า 1. ต้องมุ้งมิ้งน่ารัก 2. ต้องรู้สึกย้อนยุค retro ’60  (อันที่จริงแล้ว ผมเห็นว่า ประการสำคัญอย่างที่ 3 ของลักษณะเฉพาะแบบ Shibuya-kei คือ การ mix & match องค์ประกอบทางดนตรี ซึ่งเป็นแก่นสารหลักของแนวนี้ แต่วงดนตรีหรือแม้แต่นักฟังเองส่วนมากกลับจำภาพของ P5 เป็นสัญลักษณ์จากข้อ 1 และ 2 ที่กล่าวไปมากกว่า)


“Baby Portable Rock” เพลงในยุครุ่งโรจน์ของ P5 ใสปิ๊งงงงง

ยุค 2000 ถึงปัจจุบัน : สิบปีแห่งการลาจาก

    หลังจากอัลบั้ม inter อัลบั้มสุดท้าย “The Fifth Release” กับค่าย Matador พวกเขาได้ประกาศยุบวงในปี 2001 ด้วยอัลบั้ม “Çà et là du Japon” และคอนเสิร์ตอำลาที่แสนจะซาบซึ้งกินใจ ที่เชิญเหล่าสมาชิกเก่าๆกลับมาเล่น เป็นการปิดฉากตำนานของวง Pizzicato Five อย่างสวยงาม โดย ทั้ง Maki และ Konishi ต่างทำผลงานส่วนตัวของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน Konishi นั้นทำผลงานของตัวเองในชื่อของค่าย Readymade โดยร่วมงานกับศิลปินหลากหลาย ไปตั้งแต่วงเมนสตรีมอย่าง Puffy, SMAP ไปจนถึงอินดี้อย่าง Cornelius, Kahimi Karie และมีงาน Remix ออกมามากมายโดยหยิบผลงาน inter อย่าง Ella Fitzgerald , เพลงของ Disney เป็นต้น

    ทางด้าน Maki Nomiya มีผลงานเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง และมีแฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่น เสียงของ Maki นั้นกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ Pizzicato Five งานของเธอยังถูกอกถูกใจเหล่าแฟนๆเก่าๆ ที่ยังคิดถึงกลิ่นอายของ P5 เธอเคยได้ร่วมฝากเสียงร้องเป็นภาษาไทยกับกับศิลปินไทยอย่าง Futon ในเพลง “High” และมีคอนเสิร์ตร่วมกับศิลปินอินดี้ไทยหลายคนทั้ง Futon , Bear Garden และ Stylish Nonsense จาก Panda Records และยังคงวนเวียนอยู่ใน Community ของศิลปินชิบุยะเคย์ โดยร่วมงานกับหลายคน อาทิ เช่น Towa Tei , m-flo , Dimitri From Paris เป็นต้น

Readymade

Konishi ยังทำผลงานตัวเองในชื่อค่าย Readymade (จากภาพคืออัลบั้ม remix เพลงดีสนีย์สุดยุ่งเหยิง)

 

Maki Nomiya

ขุ่นแม่ Maki Nomiya ได้กลายเป็น แฟชั่นไอค่อน และเป็นตัวแม่ของวงการไปแล้ว

ยุคปี 2011 ถึงปัจจุบัน : การกลับมาอย่างผู้อาวุโส

    หลังจากหายจากการทำอัลบั้มในชื่อ Pizzicato Five ไปถึง 10 ปี ในที่สุด เดือนมีนาคม 2011 Konishi ก็มี surprise โดยออกอัลบั้ม “Pizzicato One” เป็นการนำเพลงสากลที่เป็นที่นิยมมาทำใหม่ โดยมีโทนเพลงแตกต่างจากเดิมมาก จากเพลงโทนสดใสน่ารัก กลายเป็นลักษณะดนตรีแบบหม่นเทา เศร้า มีชื่ออัลบั้มว่า “One And Ten Very Sad Songs” อาจเป็นภาพสะท้อนในจิตใจบางอย่างของ Konishi ที่แก่ขึ้นตามวัย เหมือนเป็นผู้อาวุโสของวงการที่มองย้อนกลับไปสู่ตำนานบทเก่าๆ ที่ตนได้เคยสร้างไว้ให้กับวงการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงดนตรีของญี่ปุ่นและของโลกมาจนถึงปัจจุบัน

    การกลับมาครั้งนี้ แม้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ฟังมากมายเหมือนในอดีต แต่ถือเป็นก้าวที่น่าสนใจของดนตรีชิบุยะเคย์ (แม้เจ้าตัวจะเลิกจำกัดความว่าตนเป็น ชิบุยะเคย์ แล้วก็ตาม) ภายใต้ความหม่นเศร้าของโทนเพลง เรายังสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายแบบเก่าของ Pizzicato Five ในอดีต ที่เป็นผลพวงต่อยอดจากผลึกที่ตกตะกอนมาร่วม 30 ปี ในวงการของลุง Konishi ซึ่งไม่ว่าเจ้าตัวจะยอมรับหรือไม่ แต่เขาก็ยังเป็นหนึ่งในหัวหอกของชิบุยะเคย์ ที่ยังอยู่ในความศรัทธาของเหล่าแฟนๆตลอดมา แนวคิดของการนำพาชิบุยะเคย์แบบเดิมๆ ออกนอกกรอบไปสู่ความหม่นเศร้า นั้นอาจจะสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปินคนอื่นๆ เหมือนที่เคยเป็นมาก็เป็นได้

PIZZICATO ONE

Pizzicato One : จาก 5 ค่อยๆลดมาจนเหลือ 1 ฟังดูช่างเหงาจับใจ T-T

 

P5 Collecting Guide

ภาพจากเวบ Pizzicato File ผู้สะสมทั้ง 72 แผ่นของ P5 ได้ครบหมด!

 

pizzicato five

ภาพปกอัลบั้มในอดีต

 

Pizzicato Five

ปกอัลบั้มในอดีต

 

Pizzicato Five

ภาพถ่ายแฟชั่นเซต (ไม่ค่อยจะมีรูปชัดๆตรงๆหรอก)

ที่มา
http://www.songresource.com/pizzicato-five/biography/
http://en.wikipedia.org/wiki/Pizzicato_Five_discography
http://pizzicato-file.cocolog-nifty.com/
http://www.portfolios.net/profile/PandaRecords

หากใครสนใจ CD อัลบั้มของ Pizzicato Five นั้นสามารถสั่งได้ที่ Amazon.com ที่ link นี้เลยครับ Pizzicato Five Albums ราคาไม่แพงอย่างที่คิด

   

 

ติดตามบทความเจาะลึกดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น หรือเรื่องของ Shibuya-kei ได้ที่นี่ VERYCATSOUND.COM

Comments (10)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.