Sound Factor

Podcast EP.01 โอม Sound Factor

Share via:

Krissaka Tankritwong
Podcast EP.01 โอม Sound Factor

Podcast เป็นหนึ่งใน Content ที่ Verycat อยากนำเสนอให้กับผู้ติดตามมาตลอด เพราะอยากบอกเล่าเรื่องราวจากคนทำงานในสายอาชีพดนตรีผ่านการสัมภาษณ์จริง ให้เห็นถึงความสดใหม่กันแบบเรียล ๆ ซึ่งครั้งนี้ Verycat ได้ลงมือทำตามใจ ด้วยการขอประเดิมเริ่มต้น Podcast EP.01 เรื่องราวของโอม Sound Factor ผู้ผันตัวเองจาก Sound Engineer มาเป็นช่าง Acoustic หยิบยกบทบาทการจัดการเสียงในโปรแกรม ให้ออกมาอยู่ในห้องหรือพื้นที่จริง จนสามารทำเป็นอาชีพได้

แนะนำตัว และงาน Acoustic แบบสั้น ๆ
โอม Sound Factor เป็นช่าง Acoustic ซึ่งในที่นี้หมายถึงวัสดุบุภายในห้อง ที่ช่วยจัดการปัญหาเสียง ควบคุมเรื่องเสียงสะท้อน หรือเสียงในแต่ละย่านความถี่ ช่วยเซ็ตสถานที่ทำงานให้มีความเหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำ Soune Engineer และเริ่มหันมาทำงาน Acoustic ได้ 2-3 ปี มีลูกค้าทั้งคนในและนอกวงการเข้ามาเรื่อย ๆ

แรงบันดาลใจในการเริ่มทำ
เริ่มจากช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่คนทำเสียงในช่วงนั้นก็ต้องทำที่บ้านกันมากขึ้น ทำให้เราเริ่มใช้เวลาศึกษาพวกวัสดุต่าง ๆ บวกกับคนรู้จักที่อยากให้เราไปช่วยแก้ปัญหาเสียง ทำไมทำมาก็เริ่มมีการบอกต่อ มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ จนเราไม่สามารถทำงานที่เดิมได้ เลยออกจากการเป็น Sound Engineer และมาทำด้าน Acoustic จนถึงปัจจุบัน ด้วยความต้องการที่สูงขึ้นด้วย เช่น นักเรียนที่สนใจในการทำเพลง มีอุปกรณ์ทำเพลงให้ได้เสียงดี ๆ แล้ว แต่เขาก็ทำไม่ได้จริง เพราะห้องที่ทำงานยังมีปัญหาเรื่องเสียง เราก็มีบทบาทหน้าที่ตรงนี้ เหมือนอัพเกรด Bedroom Studio ให้มีมาตรฐานมากขึ้น หลายศิลปินเดี๋ยวนี้ก็ทำงานจาก Bedroom Studio ด้วยเหมือนกัน

งาน Acoustic แตกต่างจากอาชีพดนตรีปกติ
นอกจากเนื้องานที่แตกต่างแล้ว เราออกมาทำ Acoustic แบบของตัวเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร มันไม่เหมือนงานประจำ ไม่มีการรับเงินเดือนแล้ว เราต้องเป็นหลักคนเดียว เหนื่อยมากขึ้นแต่ก็ทำด้วยแพสชั่นที่เป็นงานของตัวเอง ไม่ใช่งานของคนอื่นเหมือนตอนทำงานประจำ

เข้าใจตัวเองชัดขึ้น
เรามีแพสชั่นในการทำด้านนี้อยู่แล้ว ในช่วงที่เป็น Sound Engineer ก็ได้ไปที่สตูดิโอต่าง ๆ ได้เห็นว่าแต่ละสตูดิโอมี Room Tone ที่ไม่เหมือนกัน บางห้องมีเสียงสะท้อน บางห้องแทบไม่มี เราก็ชอบถามเจ้าของห้อง ทำให้ได้เรียนรู้และสนใจด้านนี้ ซึ่งพอได้มาทำมันก็เลยมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น

เป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว
ในส่วนระยะสั้นก็เป็นการทำงานติดตั้ง Acoustic ในทุก ๆ วัน ซึ่งหลัง ๆ ก็เริ่มมีงาน Acoustic ที่แตกไลน์ออกไปอยู่ในผับ โรงอาหารในโรงเรียนหรือโรงพยาบาล ห้องประชุม ในการเทสรถก็มี ระยะยาวก็เลยเป็นการเอาแนวคิดการทำสตูดิโอไปขยายกิจการ ตอบรับกับตลาดให้กว้าง นอกเหนือจากงานในวงการดนตรีให้ได้มากที่สุด

การทำ Branding
จริง ๆ พอทำได้จากที่จบทางด้านดนตรีเชิงพาณิชย์ ก็เอาความรู้การตลาดมาใช้ได้บ้าง แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่ม เพื่อให้ตามเทรนด์โลก ดูยูทูปช่องการตลาดบ้าง พยายามหาคอร์สระยะสั้นที่ทำให้เอามาใช้ได้จริง อยากตอนจะจดเป็นบรัท ก็ศึกษาอยู่ประมาณ 2 เดือน ซึ่งก็มีคิดในกระดาษไว้ก่อน ถ้ามันไม่เวิร์คตั้งแต่ในกระดาษก็แสดงว่าเราต้องคิดใหม่ ส่วนคอนเทนต์ในเพจหลัก็ทำเอง โลโกก้ก็คิดเองและจ้างให้เขาทำต่อ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดนตรีก็ต้องศึกษาการตลาดไว้ด้วยเหมือนกัน

ขั้นตอนการทำงาน
เริ่มจากฟังปัญหาของลูกค้า โดยเขาจะทักเขามาในไลน์หรือ Inbox เช่น มีปัญหาเสียงก้อง เราก็สอบถามข้อมูลให้ชัดเจนว่าจริง ๆ แล้วอยากใช้ห้องนี้ทำอะไรบ้าง เราก็จะเซ็ตเป้าหมายที่เราต้องแก้ได้ถูก อีกหนึ่งที่ต้องรู้ก็คือขนาดห้องของลูกค้าว่ามีลักษณะพื้นที่เป็นยังไง ใหญ่เล็กแค่ไหน จากนั้นจึงคำนวณค่า RT60 ซึ่งใช้วัดเสียงสะท้อนต่าง ๆ บอกกับจำนวนการใช้แผ่นบุว่าต้องใช้ขนาดเท่าไหร่
สมมุติว่าเป็นห้องขนาด 5 x 5 เมตร แบบที่ยังไม่ใส่เฟอร์นิเจอร์ เราก็จะรู้ได้ทันทีว่ามีค่า RT60อยู่เท่าไหร่ ต้องใช้ผนังเยอะแค่ไหนเพื่อให้ได้ตามเกณฑ์ อาจจะไม่ต้องเป๊ะแบบระดับช่างทำห้องเสียงจริง ๆ ก็ได้ แต่ก็ถือว่าช่วยแก้ปัญหาได้มาก ในงบการทำที่ต่างกันมากด้วย
พอคำนวณเสร็จก็จะเป็นการตกลงราคากัน หลังจากนั้นก็จะเริ่มผลิตชิ้นงาน โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน โดยเรามีโรงงานและทีมที่ทำวัสดุโดยเฉพาะ เรื่องความเร็วเลยเป็นอีกจุดเด่นในบริการ เพราะหลาย ๆ ที่ทำด้านนี้ ก็ใช้เวลารอมากถึงเดือนครึ่งเลยก็มี ซึ่งพอผลิตชิ้นงานเสร็จก็นัดวันเข้าติดตั้ง ซึ่งใน 1 วันเราสามารถจัดคิวติดตั้งได้ 2-3 คิว ขึ้นอยู่กับสเกลงาน

ความรู้ที่ได้จากคนรู้จริง
ที่ทำได้ทุกวันนี้ไม่ได้มาจากการศึกษาเองอย่างเดียว มีครั้งหนึ่งเราได้รับงานลูกค้าที่เขาเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว แต่ปกติเขาจะอยู่ต่างประเทศ ตอนในไทยลูกเขาก็กำลังทำห้องและให้เราไปช่วย เราเลยได้รู้เรื่องวัสดุต่าง ๆ แต่ละตัวมันมีค่าสะท้อน ค่ากระจายเสียงไม่เท่ากัน จริง ๆ หลายอย่างในบ้านเราที่หลายคนเข้าใจกัน มันผิดหมดเลย เช่น ฟองน้ำ รังไข่ สำหรับงานดนตรีจริง ๆ ไม่แนะนำสองอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นห้องที่แก้ปัญหาเสียงก้องอย่างเดียวก็อาจจะพอไหว

ความยาก ความท้าทายในการทำงาน
ตัวงานอาจจะไม่ได้ยากมาก ที่ยากจะมาจากเดตไลน์มากกว่า เพราะจากที่บอกว่าหลายเจ้าใช้เวลานาน เขาก็เลยเลือกเราจากจุดนี้ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นงานที่เร่งเกินไป จากที่ต้องผลิตปริมาณเท่าเดิม ก็ต้องผลิตให้ได้มากขึ้น แต่ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ทำให้ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราก็ผลิตได้มากขึ้น กลายเป็นเซ็ตมาตรฐานใหม่ไปในตัว
Sound Engineer ใช้พลังงานสมอง , Acoustic ใช้พลังงานกาย
ถ้าตอนเป็น Sound Engineer จะใช้พลังงานสมองมาก ซึ่งมันมาจากธรรมชาติของงาน ที่มักเจองานเร่งบ่อย ๆ บางครั้งต้องทำงานให้ทันออนแอร์ในรายการตอนเย็น แต่เพิ่งได้ไฟล์ทั้งหมดมาตอนบ่ายสาม ซึ่งเราต้องรับแรงกดดันทั้งหมดเพราะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถ้าไม่ทันก็จะเกิดความเสียหายเป็นเงินมหาศาล แต่ถ้างาน Acoustic ก็จะเป็นการใช้พลังงานกาย ในการผลิตชิ้นงานมากกว่า แต่ทั้งสองก็เป็นงานที่มีความสุขทั้งคู่ เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนชอบเรื่องเสียงทุกอย่าง กลับกันก็ทำอย่างอื่นไม่เป็น ที่เพิ่งมาเริ่มทำ Acoustic ตอนนี้เพราะเมื่อก่อนสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำ เช่น อยู่หอจะเลื่อยไม้ก็ไม่ได้ แต่ตอนนี้พร้อมแล้วเราก็สามารถทำมันออกมาด้วยแพสชั่นที่รัก และหาเงินจากมันได้

ความรู้ ทักษะที่ต้องมีในอาชีพนี้
อย่างแรกควรมีพื้นฐานดนตรี โดยเฉพาะเรื่องความถี่ตัวโน๊ต เช่น มีงานที่ต้องไปทำ Acoustic ในบ้านที่มีเปียโน และมีโน๊ต C ที่เสียงมันค้างนานกว่าตัวอื่น เราก็ต้องรู้ว่าโน๊ต C มันมีความถี่เท่าไหร่ และพยายามแก้ปัญหาให้ห้องไม่มีช่วงความถี่ที่ส่งผลกับโน๊ต C ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้เราก็จะแก้ได้ตรงจุด ซึ่งก็ต้องใช้ทักษะ Ear Training ของแบบดนตรีและ Sound Engineer ไว้ด้วย ซึ่งก็อาจจะหาเรียนเฉพาะทางได้บ้าง
ทักษะงานช่างทั่วไปก็ต้องมี เช่น การใช้อุปกรณ์ รู้จักโครงสร้างวัสดุ อันไหนใช้กับอะไร ซึ่งก็หาดูยูทูปบวกกับประสบการณ์การลองผิดลองถูก อาจะไม่ต้องเรียนจริงจังมาก แต่ต้องอาศัยการลงมือทำ
อีกทักษะก็จะเป็นการคำนวณ เป็นพวกพื้นฐาน ๆ ของ Sound Engineer เช่น ความถี่ เสียงสะท้อน ถ้าตอนนี้ก็มีที่ลาดกระบังที่มาคณะวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ จริง ๆ งานนี้ก็คล้าย ๆ กับการทำ Sound Engineer เช่น ลูกค้าต้องการให้ห้องนี้มีเสียงใสขึ้น นั่นคือถ้าเปรียบในโปรแกรม เราก็ต้องทำการคัทย่าน Low ออก

งานที่ประทับใจ
จริง ๆ แล้วประทับใจทุกงาน ทั้งงานเล็กงานใหญ่ บางครั้งลูกค้าสั่งให้เราไปติดแผ่นเดียวก็มี แต่เราก็ไปแม้จริง ๆ จะบอกลูกค้าไปแล้วว่ามันไม่ได้ผล แต่สุดท้ายตอนเขาจะติดเพิ่มเขาก็ยังไว้ใจใช้บริการเรา

ชีวิตประจำวันในการทำงาน
ส่วนใหญ่จะเซ็ตเวลาทำงานตามปกติ 09.00 – 17.00 น. ก็จะมียืดหยุ่นบ้างตามสเกลงาน บางครั้งก็จะมีทำเสาร์อาทิตย์บ้าง แต่ก็สามารถจัดการเวลาได้ มีเวลาพักพอประมาณ

ช่วงแรก เคยทำจนอยากเลิก
ช่วงแรกที่เริ่มทำ เคยอยากจะเลิกทำไปเลย แต่ไม่ใช่เพราะงาน Acoustic แต่เป็นงานด้านบัญชี เรื่องการหักภาษี อันไหนต้องหักไม่หักจากลูกค้า มันมีรายละเอียดยิบย่อยไปหมด บางครั้งเราโดยหักเงินไปโดยเสียเปล่าก็มี วิธีแก้ก็ศึกษามากขึ้น และจัดเวลาทำงานด้านบัญชี ด้านเอกสารเป็นรูทีน ส่วนเรื่องงาน Acoustic อันไหนที่เราทำได้ก็รับหมด อันไหนที่ทำไม่ได้ก็บอกไปตามตรง และก็ไม่รับ

รายได้น่าพอใจ ตอบโจทย์ความมั่นคง
เรื่องรายได้ถือว่าน่าพอใจ และก็มั่นคงด้วย ถ้าเทียบกับงานดนตรีสมัยนี้ ในบางงานที่ไม่ต้องการงานที่ละเอียดมาก ก็จะเริ่มมี AI มาแบ่งชิงพื้นที่งานไป(แต่งานที่ต้องการความละเอียดก็ต้องใช้คนในสายอาชีพดนตรีอยู่ดี) ส่วนงาน Acoustic มันค่อนข้างมีความ Handmade มันไม่ได้มีแบบสำเร็จรูปเหมือนเรา เราก็ยังทำได้เรื่อย ๆ

การเติบโตของอุตสาหกรรม Acoustic
อนาคตน่าจะเติบโตมากกว่านี้ อาจจะมีการผลิตวัสดุที่หลากหลายและตอบโจทย์มากขึ้น อยากต่างประเทศเขาก็มีหลากหลายวัสดุมากกว่าบ้านเรา และต่อไปก็น่าจะมีความต้องการใช้บริการด้านนี้มากขึ้น เช่น สถานที่ท่องเที่ยวหรือบ้านที่ต้องการความมินิมอล แต่ด้วยวัสดุที่ทำให้ได้ Mood ที่มินิมอล ส่วนใหญ่ก็ทำให้เกิดเสียงสะท้อนทั้งนั้น เราก็ช่วยตอบโจทย์ด้านนี้ได้ ในวงการเพลงก็น่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นด้วย เพราะกรแต่งเพลงในสมัยนี้ก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น หลายคนก็ทำจากที่บ้าน ซึ่งเราก็ช่วยในเรื่องการอัพเกรด Bedroom Studio ได้

แนะนำสำหรับคนที่อยากทำอาชีพนี้
ต้องชอบ รักในเรื่องเสียง ยิ่งถ้าเคยทำเพลงมาก่อนด้วยก็ดี เพราะเราจะเข้าใจปัญหาว่าเกิดจากอะไร เข้าใจว่าต้องทำอะไรถึงแก้ปัญหานั้นได้ คนที่ทำงานด้านช่างก็มาทางนี้ได้ แค่ศึกษาเรื่องเสียงเรื่องดนตรีเพิ่มเข้าไป

ให้กำลังใจ คนที่สนใจอาชีพนี้ และอาขีพดนตรี
ถ้าค้นตัวเองเจอแล้วว่าชอบเสียง ชอบดนตรี ไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตาม เชื่อว่าถ้าเราเรียนอย่างจริงจัง ฝึกซ้อม ลงมือทำ ใส่สุดกับมัน เราสามารถหาเงินจากมันได้แน่นอน ที่สำคัญต้องมุ่งมั่น มีแพสชั่น และทำงานให้มีคุณภาพด้วย เชื่อว่าสามารถทำเป็นอาขีพได้แน่นอน

ช่วงแถม เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ในบ้านสามารถทดแทนวัสดุจริงได้ระดับหนึ่ง
หลายวัสดุรอบตัวสามารถใช้แทนวัสดุ Acoustic ได้ในระดับหนึ่ง ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าวัสดุต่าง ๆ จะแบ่งออกเป็น Absorber และ Diffuser หรือวัสดุที่ดูดซับและกระจายเสียง เราก็พยายามเลือกวัสดุที่ช่วยในการดูดซับเสียง ในบริเวณที่เราทำงานด้านเสียง เช่น ม่าน โซฟาผ้า หมอน พรม เตียง พวกวัสดุที่มีความนุ่มสามารใช้ได้หมด อย่างม่านก็เลือกที่มีความหนาสัก 5 mm ก็ได้ ถ้ามันเล็กหรือบางไปก็จะไม่ได้ผลเท่าไหร่ แต่ว่าการทำแบบนี้ก็จะเป็นการมองความเรื่องความถี่ หรือเราไม่รู้ความถี่จริง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
นี่คือเรื่องราวของ Podcast EP.01 โอม Sound Factor ใครที่ชื่นชอบและอยากให้ทำ Podcast บอกเล่าเรื่องราวในวงการของคนไหน สามารถคอมเมนต์แนะนำกันมาได้ หากสนใจอยากทำเพลงเป็นอาชีพได้จริง สามารถติดต่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหลักสูตร The Real Producer หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนครับ

The Real Producer
REAL / DEEP / EXCLUSIVE
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ

หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :
– เรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
– เรื่องจ้างทำเพลง @verycatsound
Tel. : 0856662425

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.