ความเดิมจากตอนที่แล้ว… หลังจากที่ผมปลาบปลื้มน้ำตาไหลพรากกับ มหกรรมดนตรี 8-bit ที่ Tsutaya O-nest ไป วันนี้เราจะไปลุยกันหลายที่หน่อย
ช่วงเช้ากลับไปที่สวนอุเอโนะ เพื่อดูสิ่งนี้ เป็นนิทรรศการที่จัดใน พิพิธภัณฑ์ Ueno Royal Museum คือดีงามมากกกก แสดงภาพพิมพ์ไม้ (Ukiyoe) ของญี่ปุ่น ของศิลปินอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นอย่าง Hokusaiคนญี่ปุ่นต่อแถวดูกันแบบแน่นขนัดมากกก สุดยอดดด คนประเทศเค้าทั้งรักในศิลปะ และรักในวัฒนธรรมชาติตัวเองจริงๆ ไอ้การที่จะมีคนมาต่อแถวยาวเหยียดซื้อบัตรเข้าดูศิลปะกันเยอะแยะขนาดนี้เป็นภาพที่หาไม่ได้แน่นอนในประเทศเรา… อิจฉาคนประเทศนี้จริงๆ
Ukiyoe (อุ-คิ-โยะ-เอะ) คือภาพของญี่ปุ่นโบราณ ที่มีเทคนิคการทำคือ แกะสลักไม้ให้เป็นลวดลายตามต้องการ แล้วเอาสีมาทาเพื่อพิมพ์ประทับลงบนผ้า (ฟังดูเข้าใจยากหน่อย แต่กรรมวิธีจริงๆมันก็ยากจริงๆน่ะแหละ… ใครสนใจลองค้นข้อมูลต่อเอาเองละกัน) ซึ่งหลายคนอาจจะงง และรู้สึกว่ามันคืออะไร ไกลตัวจัง ขอให้ท่านลองนึกภาพญี่ปุ่นเก่าๆโบราณๆ เท่าที่นึกออกดู จะมีหลายภาพที่คงคุ้นๆตากันแน่ๆ เช่น ภาพคลื่นของแม่น้ำสุมิดะ คือภาพญี่ปุ่นโบราณๆพวกนี้แหละ ที่เรามักเข้าใจผิดเรียกว่าภาพเขียนญี่ปุ่น จริงๆแล้วมันไม่ใช่ภาพเขียนครับ… แต่มันเป็นภาพพิมพ์ไม้ เอาเป็นว่ใครสนใจลองค้นข้อมูลเรื่องอุคิโยะเอะต่อเอาเองละกัน
ด้านในจัดแสดงงาน ทุกยุคของฮกกุไซ และมีวิวัฒนาการทางลายเส้นและเทคนิคที่วิเคราะห์มาแล้วอย่างละเอียด บางภาพงดงามมากจนไม่น่าเชื่อว่า นี่นั่งอุตสาหะแกะไม้เป็นรายละเอียดเล็กๆขนาดนี้เลยหรอวะ… สุดยิด เสียดายที่ถ่ายรูปด้านในมาให้ดูไม่ได้
จริงๆผมไม่ ได้ชอบอะไรแถวนี้ซักเท่าไรนัก ที่นี่เหมือนย่านคนจีนในโตเกียว และตลาดนี้ก็ไม่ค่อยต่างจากสำเพ็งบ้านเราเท่าใดนัก น่าจะเป็นจุดที่เชยที่สุดในโตเกียว ซึ่งก็ยังอุตส่าห์รักษา theme ของย่านเอาไว้ได้อย่างดียิ่ง… คือนอกจากจะมีแต่ element แบบจีนๆเชยๆหน่อยแล้ว ยังมีร้านขายแผ่นแบบเก่าๆ เชยๆ อีกด้วย รักษา theme กันได้เนี้ยบจริงๆ… แต่สิ่งที่ดีอย่างเดียวของบริเวณนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ของกินที่ทั้งอร่อยและถูก
หลังจากหมดธุระในช่วงเช้า ผมกลับมาที่ Shibuya อีกครั้ง และพบเจออะไรหลายอย่างที่ไม่คาดคิด อย่างแรกคือที่นี่
ที่สะดุดเพราะว่าเห็นมีปกอัลบั้มของ Capsule อยู่บนป้ายด้านในด้วย คือโชว์ว่านี่คืออัลบั้มที่เป็นผลงานของศิษย์เก่าที่นี่ ตอนแรกตื่นตาตื่นใจพอสมควรเลยทีเดียว เพราะมีทั้ง Capsule, Perfume , Kyary Pamyu Pamyu เหมือนได้เจอว่า ที่นี่เองน่ะเหรอ ที่พวกนี้เคยมาเรียน
แต่ที่นี่ก็ยังไม่เท่าไร ถ้าเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ นั่นคือ…
กรี๊ดดดดดดดดดดดด! ใครว่า HMV ปิดไปแล้วกันนนนนนน อยากจะกรี๊ด อ้าวกรี๊ดไปแล้วนี่หว่า คือคงจะงงกันแน่นอนว่า
HMV นั้นคือ แบรนด์ร้านขายแผ่นเสียงจาก UK ที่โด่งดังมาก ช่วงยุค ’90 และมาเปิดสาขาที่ญี่ปุ่น ตรงห้าแยกชิบุยะ จนกลายเป็น Landmark ที่สำคัญมาเป็นเวลาช้านาน เป็นที่เลื่องชื่อลือชากันว่าที่นี่ขายแต่แผ่นเพลงฮิพๆ เท่ห์ๆ เก๋ๆ เดิ้นๆ จากทั้งต่างประเทศและในประเทศญี่ปุ่นเอง ถูกใจวัยรุ่นขาโจ๋ เด็กแนว ฮิพสเตอร์ เด็กอาร์ท ทั้งหลายในอดีต (ถ้าเทียบกับบ้านเรา ก็คือ ร้านป้าโดเรมี น่ะแหละ แต่ใหญ่กว่า ร้อยเท่า) และที่สำคัญ HMV ยังเป็นผู้สนับสนุนดนตรี Shibuya-kei อย่างเป็นทางการในยุค ’90 อีกด้วย เรียกว่าใครจะหาแผ่นเพลงแนวนี้ ยังไงก็ต้องเคยมาที่นี่
HMV Shibuya นั้นเปิดให้บริการมาเป็นเวลานานจนกระทั่งเจอวิกฤตการณ์เศรษฐกิจซบเซา และตลาดเพลงที่ย่ำแย่ หดตัวลงอย่างมากเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในช่วงเข้าสู่ยุค 2000 ที่ CD เริ่มขายได้น้อยลงนั้น HMV ได้ปิดตัวลงหลังจากยืนหยัดต่อสู้มาเป็นเวลานาน (ในปัจจุบันนี้ ตึก HMV กลายเป็นตึกขายเสื้อผ้าวัยรุ่น คือ Shibuya 109 นั่นเอง)
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีเจ้าของกิจการรายใหม่ ใช้ชื่อแบรนด์ HMV มา co กับ ร้านสะดวกซื้ออย่าง lawson เพื่อสร้างแฟรนไชร์ร้านขาย CD ไปทั่วญี่ปุ่น และเพียงอาศัยชื่อเสียงของแบรนด์ HMV เดิมเท่านั้น แต่ไม่ได้ขายเพลงประเภทเดียวกับ HMV ต้นตำรับแต่อย่างใด จนกระทั่ง…
ก่อนหน้าที่ผมจะมาญี่ปุ่นเพียงไม่กี่เดือน มีเจ้าของกิจการอีกราย (คนละเจ้ากัน) ได้เปิดร้านนี้ (HMV Record Shop) ที่บริเวณชิบุยะอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่จุดเดิมเป๊ะๆ แต่ก็ยังอยู่ในระแวก อุดากาวะโชว (Udagawacho) อันเป็นย่านที่เป็นต้นกำเนิดดนตรี Shibuya-kei ในอดีตนั่นเอง และลักษณะของแผ่นที่ Selection มาขาย ทั้งแผ่น CD และแผ่นเสียง ล้วนคัดมาแต่เพลงรสนิยมดีๆจากต่างประเทศ และในประเทศ รวมถึงดนตรี Shibuya-kei ทั้งในอดีตและปัจจุบันอีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์เดิมของ HMV อย่างแท้จริง
ช่วงที่ผมไปนั้นโชคดีหลายต่อ เป็นช่วงประจวบเหมาะพอดีที่มีหนังสือ Shibuya-kei ออกถึงสองเล่ม (หลังจากที่ไม่มีคนพูดถึงเรื่องนี้ไปเป็นสิบปี) หนึ่งในนั้นคือ เล่มนี้ (ชื่อหนังสือคือ Shibuya-kei ตรงๆเลย) เขียนโดยบุคคลสองคนนี้ “Wagasukai Minoru และ Yamasaki Jirou” ผมโชคดีมากที่ได้ไปงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่ร้าน HMV พอดี มีการสัมพภาษณ์กว่า ชั่วโมงครึ่ง เนื้อหานั้นถึงพริกถึงขิง น่าสนใจจริงๆ (ทำอย่างกะฟังออก ๕๕๕)
นอยแปลให้ฟังคร่าวๆ ได้ความประมาณว่า สมัยก่อนดนตรีในญี่ปุ่น ยุคต้นๆ ’90 ยังไม่มีดนตรีแบบนี้ คือมีแต่ pop ไปเลย ไม่ก็ jazz ไปเลย แต่เขาได้ยินเพลง pop ที่มีความเป็น jazz ผสมอยู่ในตัวดนตรีเป็นครั้งแรก นั่นคือเป็นช่วงเริ่มๆตั้งไข่ของดนตรีแนวนี้ และสองคนนี้แหละเป็นคนที่เริ่มใช้คำนิยามว่า Shibuya-kei เป็นคนแรกๆ
หลังจากยืนฟังอย่างตั้งใจด้วยความซาบซึ้ง (ทำเหมือนฟังรู้เรื่อง อีกแล้ว…) ผมก็ได้สอยหนังสือของเฮียแกมาหนึ่งเล่มเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับเพิ่มเป้าหมายอีกหนึ่งอย่างในชีวิตแล้วว่า ชีวิตนี้กูต้องอ่านไอ้เล่มนี้รู้เรื่องให้ได้… ( ปล. เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าพวกคนที่บ้าญี่ปุ่น ซื้อของอะไรที่เป็นภาษาญี่ปุ่นมาเสพย์ทั้งที่อ่านไม่รู้เรื่องนี่มันโคตรโอตาคุเลยว่ะ มาวันนี้ผมก็เป็นแบบนั้นละครับ T-T )
จบวันละ ขอฝากคลิปสัมภาษณ์ คุณ Wagasukai Minoru และ Yamasaki Jirou ไว้เผื่อใครสนใจแล้วฟังรู้เรื่องนะครับ ๕๕๕ (ปล. มีเวอร์ชั่น web ให้อ่านด้วย ที่นี่ )
คลิป Shibuya-kei book interview ทั้ง 6 ตอน ที่นี่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6
จบวัน
ตอนหน้าเตรียมพบกับ Day 14 : Guru Guru Mawaru เทศกาลดนตรีกลิ้งๆหมุนๆ! ของคนเพี้ยนๆ!