โตเกียว 1 เดือน Day 29 : สัมภาษณ์ ให้หายข้องใจ ในดนตรี Shibuya

Share via:

Krissaka Tankritwong

    จากเมื่อวาน Day 28 : ตามรอย Cornelius ที่ Nakameguro มาต่อกันวันนี้ เป็นวันที่มีโปรแกรมไปหลายที่มาก

เติมพลังกับข้าวแกงกะหรี่แบบ local กันก่อน

    ออกมาหาข้าวแกงกะหรี่กินแถวบ้าน ร้าน kiki curry เป็นร้านข้าวแกงกะหรี่สไตล์ local ญี่ปุ่นแท้ๆ ตกแต่งแบบบ้านๆ… คือสั่งมา มีแค่ข้าวกับแกงกะหรี่จริงๆ เนื้อเน้อไรไม่มีเลย อยากได้เนื้อต้องสั่งแยกต่างหากเพิ่ม ยังดีที่ตักพวกผักดองเท่าไรก็ได้ แล้วให้โคตรเยอะมากกกก รสชาติก็โอเค พอกินได้ ป้าถามว่าอร่อยมั้ย ก็ตอบๆไป ไฮ่ๆๆ โออิชิๆ ไฮ่ (จริงๆเพราะพูดเป็นแค่นี้…)

P1700989

kiki curry เติมพลังตอนเช้าก่อนลุยด้วยข้าวแกงกะหรี่ local

P1700986 P1700990

    ทีแรกเดิมที ทริปนี้นึกว่าจะชิลล์ๆ ไม่เร่งร้อน เพราะเห็นมีเวลาตั้งเดือน แต่ที่ไหนได้… เอาเข้าจริงๆ เที่ยวเละเทะไม่ซ้ำที่ทุกวัน… นี่ก็เข้าสู่วันท้ายๆของการเดินทางแล้ว ผมเลยคิดเอาไว้ว่า ขอชิลล์ๆผ่อนคลายๆบ้างหลังจาก play hard มาทั้งเดือน จึงคิดจะแช่ออนเซนตราบจนวินาทีสุดท้ายในญี่ปุ่น เลยหาข้อมูลออนเซนที่น่าสนใจในละแวกโตเกียวดู เจอที่น่าสนใจคือ Maenohara Onsen (http://www.sayanoyudokoro.co.jp/) จริงๆก็จิ้มมามั่วๆแหละ ไม่รู้หรอกว่าจะเป็นไง…

    เอาล่ะ นั่งรถไฟไปออนเซนกันดีกว่า ลงที่สถานี Akabane แถว Mitsugi park คือแต่ละชื่อไม่คุ้นมาก่อนเลย มันไกลจากตัวเมืองจริงๆด้วย แถวนี้มันอะไรกันหว่า ไม่รู้จักเลย 555+ เดินๆไป ตรงข้ามออนเซนเจอห้าง ลองแวะเดินเล่นๆ บรรยากาศเชยๆ โทรมๆ คล้ายพาต้า คือมันไกลตัวเมืองแล้วจริงๆด้วย… ญี่ปุ่นนี่ก็มีจุดแบบนี้เหมือนกันนะ ไม่ใช่ทุกที่จะดูชิค ดูทันสมัยไปหมด

P1700994 P1700998 P1710009 P1710050


 

Maenohara Onsen บ่อน้ำร้อนสงบจิตใจ ใกล้โตเกียว

    ชอบออนเซนที่นี่มากเลย มีสวนที่สงบแต่งดงาม ทำให้เพิ่งรู้ตัวอีกอย่างว่า ชอบสวนญี่ปุ่นมาก เป็น favorite ใหม่ ประจำตัวอีกอย่าง บ่อน้ำที่นี่ ดีกว่าที่โอเอโดะแถวโอไดบะนะ ในขณะที่ที่นั่นดูจะเป็นบ่อแบบแฟนซีๆ จัดฉากๆหน่อย แต่ที่นี่จะรู้สึกออริจินัลกว่า ได้ความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า แล้วก็มีบ่อแปลกๆหน่อยเยอะ เช่น บ่อที่เป็นส่วนตัว เป็นถังน้ำที่เข้าไปนั่งได้คนเดียว กับอีกบ่อ เป็นน้ำตื้นๆเหมือนที่นอนสำหรับลงไปนอนหลับได้ อ่าห์ ผ่อนคลายจัง…

    พนักงานนี่มีป้าๆด้วย เดินเข้าเดินออก ท่ามกลางผู้ชายแก้ผ้าหน้าตาเฉยเลย…

P1710045

Maenohara Onsen

 

P1710066

สวย สงบ ฟิน ~_~

 

P1710065

บรรยากาศด้านใน

     แช่ออนเซนเสร็จ มานั่งกินไอติมสบายอารมณ์ ห้องรับประทานอาหารก็ดีมาก ชอบมาก สงบ สวย

     มันมีโซน stone bath ด้วย เป็นสปาหินร้อน แปลกไม่เคยลอง แต่ไม่ทันละ เวลาไม่อำนวย ไว้คราวหน้าละกัน (เมื่อไรล่ะเนี่ย T-T คงอีกเป็นปี)

P1710072

สบายใจจัง ผ่อนคลายจัง ~_~

P1710079 P1710082


ต่อไปนี้คือ highlight จริงๆของวันนี้! นั่นคือ เราจะไป…

นัดสัมภาษณ์ Dr. Usui แห่งวง Motocompo

ให้หายข้องใจ อะไรคืออะไร ในดนตรี Shibuya กัน

    รีบกลับมาชิบุยะ เพราะนัดสัมภาษณ์ Dr. Usui ไว้ที่ Freshness Burger ข้างๆ ร้าน HMV ที่จริงก็แค่อยากนัดคุยกับเขา เพราะอยากรู้หลายเรื่องเกี่ยวกับวงการดนตรี แต่ก็อัดเทปสัมภาษณ์เก็บไว้ เผื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงได้ด้วย เราคุยกันหลายเรื่อง ได้เข้าใจหลายๆเรื่อง แม้จะถามสิ่งที่อยากรู้ได้ไม่หมด เพราะสื่อสารกันยากนิดหนึ่งก็ตามที 5555+

    ก่อนหน้านี้ผมนึกว่าเขาจะเคืองผมจนไม่อยากให้สัมภาษณ์ซะอีก เพราะผมอาจจะเคยเผลอพูดเรื่อง sensitive บางอย่างในวงการดนตรีของเค้าไป ผมดันเคยไปพูดประมาณว่า ดนตรีแนวนี้เดี๋ยวนี้ทำ Techno กันหมด (ดนตรีของวงเค้าด้วย) ดูจะเป็นเทรนด์นะ เป็นเพราะ Yasutaka Nakata ดังรึเปล่า? ซึ่งพอมารู้ทีหลังว่า เค้าทำเพลงมาก่อนนากาตะอีก เลยซีด เผลอพูดไปไม่ได้คิด -_-‘ เลยเป็นกังวลมาก ผมนี่รีบขอโทษขอโพยเลยครับ นึกว่าเค้าจะเกลียดผมซะแล้ว ปรากฎว่าผมคิดมากไปเอง สุดท้ายเขาก็ตอบตกลงให้สัมภาษณ์ -_-‘ เขาเป็นคนเป็นมิตร และใจกว้างกว่าที่ผมคิด ขอโทษด้วยครับ

    ผมได้สัมภาษณ์หลายเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งเกี่ยวกับวงการดนตรีอินดี้ของญี่ปุ่น เรื่องของ Shibuya-kei และสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่เนื่องจาก มีปัญหากับไฟล์ข้อมูล ทำให้บางส่วนของไฟล์เสียงสูญหายไป จึงขอสรุปเอาเท่าที่จำได้นะครับ

ประวัติส่วนตัว Dr. Usui และวง Motocompo

– Dr. Usui ไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นชื่อที่เขาใช้ในวงการ (ทีแรกผมก็นึกว่าเขาเป็น doctor จริงๆซะอีก) ส่วน Nobuya Usui คือชื่อจริงๆ

– เขาเป็นเพื่อนกับ โมโมโกะ วงฟูตอง

– เขาทำวงชื่อ Motocompo (http://www.motocompo.com) มาตั้งแต่ปลายยุค ’90 ซึ่งเป็นช่วงปลายๆของยุค Shibuya-kei โดยวงเขาถูกขนานนามจากโปรดิวเซอร์ของ Flipper’s Guitar ว่าเป็น “New Shibuya-kei”

– เขามีส่วนช่วยผลักดันกระแส “Neo-Shibuya-kei” (หาอ่านเรื่องของ Neo-Shibuya-kei ได้ใน link ย้อนรอยประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 4 : อวสานและการเปลี่ยนแปลง ) ในช่วงแรกๆ ที่เกิดการรวมเป็นกลุ่มก้อนของศิลปินอย่างพวก Capsule , Plus-tech squeeze box , Hazel Nut Chocolate รวมถึงค่ายอย่าง Contemode ของนากาตะ หรือ Usagi-Chang ด้วย (ตัวเขาเองก็เคยมีผลงานในค่ายนี้)

– วง Motocompo มีลักษณะดนตรีแบบ Electronic Pop นักร้องผู้หญิง (คล้ายกับ Capsule หรือพวกศิลปินในกลุ่ม Neo Shibuya-kei) ที่เขาทำ ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 2010  แต่ปัจจุบันเขาได้ริเริ่มทำโปรเจคส่วนตัวโปรเจคใหม่ ที่ไม่เหมือนกับ Motocompo คือรวบรวมนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ มารวมวงในชื่อ (M)otocompo (อ่านว่า โอโตคอมโป),( motocompo.com/otocompo ) ส่วนตัวผมคิดว่า โอโต น่าจะมาจากคำว่า โอโตโกะ ที่แปลว่าผู้ชาย โดยมีลักษณะดนตรีที่เปลี่ยนไป มาเน้นความเป็น band มากขึ้น และมีสีสันสนุกๆ แบบ ska เข้ามาผสม

– นอกจากงานในฐานะศิลปิน เขายังมีโปรเจคโปรดิวซ์เพลงให้กับหลายศิลปิน อาทิ เช่น XXX of wonder , Kitcat (ศิลปินที่ผมได้ไปดู live ในวันก่อนๆ Day14 : กลิ้งๆหมุนๆกับ เทศกาลดนตรี คนเพี้ยนๆที่ ไซตามะ และ Day16.2 : บ้าไปกับพวกเธอ Powann ที่ Shibuya Star Lounge ) และมีอาชีพหลักเป็นคนทำดนตรีประกอบโฆษณา , Animation และเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการ Shibuya-kei ในฐานะคนทำเพลงมาอย่างยาวนาน

Dr. Usui แห่งวง Motocompo ผู้คร่ำหวอดในวงการ Shibuya-kei

Dr. Usui แห่งวง Motocompo ผู้คร่ำหวอดในวงการ Shibuya-kei

คำถามเกี่ยวกับวงการดนตรีญี่ปุ่น และวงการ Shibuya-kei

ถาม : Shibuya-kei ในความคิดของคุณคืออะไร?

– แถวๆนี้ (บริเวณ HMV Shibuya, Freshness Burger ที่เรานั่งกันอยู่) เรียกว่า Udagawacho สมัยก่อนแถวๆ นี้มีร้านขายแผ่นเสียงอยู่เต็มไปหมดเยอะกว่าปัจจุบันซะอีก และส่วนมากก็เป็นแผ่นเพลงตะวันตก เท่ห์ๆ เก๋ๆ มีวัยรุ่นและคนฮิพๆ ชอบมาเดินหาซื้อแผ่นกันแถวนี้ ซึ่งดนตรีญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขายคนในย่านนี้ เรียกว่า Shibuya-kei

ถาม : คุณคิดว่า ดนตรีแบบ Shibuya-kei นั้นคืออะไร? และทำยังไงถึงจะเป็นดนตรีแนวนี้?

– Shibuya-kei เป็นอะไรที่ฟังดู Simple แต่ยาก สำคัญที่วิธีการคิดในแบบ “ดิจิตัล” ไม่ว่าส่วนผสมที่คุณจะนำมาใส่จะเป็นอะไร จะมีกลิ่นแบบ Acoustic หรือ Electronic ก็ตามที แต่จะต้องมีวิธีการคิดในวิถีแบบดิจิตัลที่ว่านี้ คือการหยิบจับเอาส่วนผสมจากต่างที่มารวมประกอบร่างกันเป็นสิ่งใหม่ เช่น ดึงไลน์เบสจากเพลงนี้มา เอาไลน์กลอง samp มาจากเพลงยุคเก่า แล้วใส่เสียง synth สมัยใหม่ลงไป อะไรแบบนี้ ซึ่งมันจะต่างกับการทำดนตรีแบบ ด้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ผ่านวิธีคิดแบบดิจิตัลที่ว่า

ถาม : ทำไมบางทีผมถึงเคยได้ยินเพลงสำเนียงแบบ Shibuya-kei ในดนตรีแนวอื่นๆ อาทิ Chiptune หรือพวกเพลงประกอบเกมส์ , Animation?

– มีความเชื่อมโยงบางอย่างของดนตรี Chiptune , Shibuya-kei , Music Game , Animation Music และ Idol Music แม้ว่าจะเป็นดนตรีคนละแนวกัน แต่ในบางครั้งเราจะได้ยินสำเนียงแบบ Shibuya-kei ปรากฎในดนตรีแนวอื่นๆ อย่างพวก เกมส์ , การ์ตูน หรือ ดนตรีไอดอลกระแสหลัก สาเหตุคือ ชิบุยะเคย์เป็นดนตรีแฟชั่นๆ ในยุค ’90 ทำเอาเก๋ๆ เท่ห์ๆ ล้ำๆ สนองตัณหาตัวศิลปินเอง แต่มันก็เป็นดนตรีอินดี้ประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มียอดขายมากขนาดจะเลี้ยงตัวด้วยอาชีพนี้ได้ ทั้งศิลปินและโปรดิวเซอร์หลายคนจึงจำเป็นต้องทำงานอื่นเลี้ยงชีพ นั่นคือการเข้าไปทำดนตรีในแขนงต่างๆ ตามที่ว่ามา (Yasutaka Nakata จาก Capsule เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้ไปทำในสาย idol อย่าง Kyary Pamyu Pamyu กับ Perfume)

ถาม : Shibuya-kei เป็นอะไรกับ J-pop?

– ในช่วงยุค ’90 ดนตรีแนว Shibuya-kei ถูกแยกเป็นเอกเทศน์กับดนตรี J-pop ปกติอย่างชัดเจน และคนฟังก็เป็นคนละกลุ่มกัน ซึ่งไม่เหมือนในยุคปัจจุบัน ที่ปนกันจนแยกไม่ออกแล้ว บางศิลปินของ Shibuya-kei ก็มีสำเนียงที่เหมือน J-pop และบางศิลปินก็ไม่เหมือน คนฟังก็เช่นกัน บางครั้งก็เป็นคนละกลุ่มกับ J-pop บางครั้งก็เป็นกลุ่มเดียวกัน มันถูกรวมเข้าไปเป็น J-pop ประเภทหนึ่งไปแล้ว ซึ่งคนฟังบางคนก็ไม่ได้แยกแยะออกว่าต่างกับ J-pop ปกติยังไง โดยส่วนมากเป็นวัยรุ่น เด็กๆยุคใหม่ ส่วนคนที่แยกแยะออก มักเป็นคนจากยุค ’90 ซึ่งมาถึงตอนนี้ ไม่มีดนตรีที่เรียกว่า Shibuya-kei ที่แท้จริงแล้ว เพราะคำว่า Shibuya-kei เกี่ยวพันกับยุค ’90 ของญี่ปุ่นด้วย (แต่ผมเห็นว่าศิลปินบางคนอย่าง Hideki Kaji ที่อยู่ตั้งแต่ยุคนั้น ก็ยังทำแนวเดิมอยู่จนถึงยุคนี้นะ)

ถาม : ทั้งสองแนว Shibuya-kei กับ J-pop พวกเขารู้สึกต่อกันยังไง?

– ช่วงยุคที่เฟื่องฟูที่สุด ตอนนั้น Pizzicato Five กับ Flipper’s Guitar นั้นดังมากๆ พวกวง J-pop ปกติ ก็ยังชอบ แต่ศิลปิน Shibuya-kei ไม่ได้ชอบเพลงแบบ J-pop

ถาม : มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการ? ทำไมจู่ๆ ดนตรีอินดี้แนวนึงก็ถูกนำไปรวมกับดนตรีกระแสหลัก?

– ในปัจจุบันดนตรี J-pop มีสไตล์ที่หลากหลายมากมายนำมาผสม จนการแบ่งแยกแนวดนตรีแต่ละแนว ว่าวงนี้วงนั้นเป็นแนวไหน? ซึ่งกำแพงเหล่านี้มันค่อยๆถูกทำลายลงในช่วง 10 ปีมานี้เอง วงการดนตรีของญี่ปุ่นนั้นหดเล็กลงมากๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการมาถึงของเทคโนโลยีและการดาวน์โหลด (นี่ขนาดเล็กลงแล้วนะ) และไม่มีเพลงที่ฮิตถล่มทลายเท่าสมัยก่อน ถ้าเทียบกันแล้ว เพลงที่ฮิตและขายได้สมัยนี้ ถ้าเทียบกับในยุค ’90 แล้ว มียอดขายต่างกันมาก

ถาม : คุณคิดยังไงกับ Kyary Pamyu Pamyu?

– ปามิว นั้นเป็นศิลปิน idol music ที่มีซาวด์แบบ Shibuya-kei ปกติเวลาที่เราทำศิลปิน Idol Electro Pop บางทีสำเนียงมันก็จะออกมาคล้าย J-pop หรือไม่ก็ออกมาคล้ายสไตล์แบบฝรั่ง แต่กับปามิวนั้นเป็นต่างออกไป ดนตรีของปามิวมีเมโลดี้แบบดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น แต่ผสมผสานด้วยซาวด์แบบ electronic ที่มี reference แบบสไตล์ตะวันตก ซึ่งทำให้ใหม่มาก และไม่เหมือนใคร และงานทางด้านภาพเอย หรือการเต้นเองก็ทั้งน่ารักและสนุกสนาน เจ๋งมากๆ ผมคิดว่า ปามิวนั้นได้ reference มาจากวงดนตรีในกลุ่ม Neo Shibuya-kei อย่าง Hazelnut Chocolate มานิดหน่อย (วงที่อยู่ในแวดวง Neo Shibuya-kei เช่นเดียวกันกับ Yasutaka Nakata และด้อกเต้ออุซุยก็ได้เคยสนับสนุนผลักดันพวกเขามาก่อนด้วย)

P1700536

Kyary Pamyu Pamyu ศิลปิน pop idol ที่มี sound แบบ Shibuya-kei

ถาม : ตอนนี้กระแส hipster ดังมากใน UK, New York , ประเทศไทยก็เช่นกัน มีฮิพสเตอร์อยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลก คุณคิดว่าในญี่ปุ่นมี Hipster มั้ย?

– มีนะ แถวชิบุยะ นี่แหละ

ถาม : พวกเขาฟังเพลงอะไร? แบบไหน?

– ฟังหลายแบบมากเลย

ถาม : มีคำว่า hipster ในภาษาญี่ปุ่นมั้ย

– Oshare (โอชาเระ) แปลว่า Fashionable น่าจะเป็นคำที่ใกล้เคียงที่สุด คือ Oshare People

ถาม : Oshare People นั้นฟังชิบุยะเคย์มั้ย?

– ถ้าเป็นเมื่อก่อนอะใช่ แต่ ณ ปัจจุบัน ฮิพสเตอร์เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่รู้จักคำว่า Shibuya-kei หรอก รู้จักแค่ Kyary Pamyu Pamyu เท่านั้น

ถาม : พวกเขาฟัง ปามิว ด้วย?

– ก็อาจจะไม่นะ เขาอาจจะฟังพวก Hardcore กันมากกว่า มันเป็นเทรนด์ของ Oshare People สมัยนี้ แต่ก็มีบางคนที่อาจจะชอบปามิวก็ได้ แต่คิดว่า คนอายุประมาณ 20 พวกเขาคงไม่ค่อยชอบปามิวหรอก พวกเขาชอบดนตรีตะวันตกมากกว่า ประเด็นคือ ฉันคิดว่า Hipster คือ คนที่คลั่งไคล้ในวงดนตรีที่ไม่ดัง ไม่เป็นกระแสหลักมากกว่า (ดนตรีชิบุยะเคยเป็นดนตรีเก๋ๆแบบฮิพสเตอร์ยุค ’90 ฟังเมื่อก่อน แต่ปัจจุบันซาวด์แบบนี้แมสขนาดเป็น J-pop แล้ว จึงไม่อยู่ในความสนใจของฮิพสเตอร์ยุคปัจจุบัน)

ถาม : หนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มบอกว่า Shimokitazawa เป็นถิ่นเด็กแนว หรือย่านฮิพสเตอร์ คุณคิดแบบนั้นรึเปล่า?

– เป็นได้นะ บางที ชิโมคิตะฯ อาจจะ ถูกเรียกว่า Japanese hip town ในปัจจุบัน ผมเกิดที่โตเกียวและอยู่มาหลายปีจนไม่รู้เหมือนกันว่าคนนอกมองแบบนั้น คนหนุ่มสาว หลายคนอยากไปที่ ชิโมคิตะฯ เพราะมันดัง และมีร้านค้ามากมาย บูติก ชอป คาเฟ่ ต่างๆนานา

ถาม : ใครคือกลุ่มคนที่อยากไป ชิโมคิตะฯ ศิลปิน, นักดนตรี? พวกเขาอยากไปทำไม?

– นักดนตรีหลายคนอยู่ที่นั่น เพราะมีคอมมิวนิตี้อยู่ มีทุกแนว ทุกสไตล์ ส่วนมากเป็นอินดี้ หรือ J-pop ก็มี มีทั้งคนหนุ่มสาว ทั้งคนมีอายุแหละ มีพวกนักแสดงรุ่นใหม่อะไรแบบนี้ด้วย มันเป็นย่านของ ศิลปะและดนตรีน่ะ

ถาม : สำหรับดนตรี มีสไตล์เฉพาะของ ชิโมคิตะฯ มั้ย? (Shimokita-kei อะไรแบบนี้)

– ส่วนมากเป็น Rock , เสียงกีตาร์ไฟฟ้าอะไรแบบนี้ หรือ Acoustic ก็มี ลองเปรียบเทียบกับชิบุยะ คือ ถ้า Shibuya-kei คือ วิถีแบบดิจิตัล ความมีสไตล์ ความเก๋ ความเดิ้น ความชิค และมีความเป็นคนเมืองแบบ urban แล้ว ดนตรีในแบบ Shimokitazawa จะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับความ Urban โดยสิ้นเชิง เพราะส่วนมาก คนใน Shimokitazawa นั้นมาจากต่างจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ใช่คนเมืองหลวง พวกเขาชอบอะไรที่ไม่ใช่วิถีแบบดิจิตัล แต่ชอบสิ่งที่เป็น organic , acousitc , guitar band อะไรแบบนี้

ถาม : มี kei อื่นอีกมั้ย นอกจาก Shibuya-kei กับ Visual-kei

– มีแค่สองอันนะ ที่ดัง คิดว่า เพราะอันอื่นคาแรกเตอร์มันไม่สตรองมาก

ถาม : ผมเข้าใจถูกมั้ยว่าชื่อ Shibuya-kei คือการนำห้าแยกที่ย่านชิบุยะมาเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง บรรยากาศ และความ cross culture มาบ่งบอกลักษณะทางดนตรี

– ที่จริงคำว่า ชิบุยะเคย์ มันเป็น กลยุทธ์ สำหรับโปรโมทดนตรีซะมากกว่า ไม่ถึงขนาดเป็นสัญลักษณ์อะไรขนาดนั้น ส่วนใหญ่ถูกนะ แต่เรื่องต้นกำเนิดที่แท้จริงมัน ไม่ถูกทั้งหมด ตอนที่วงผม Motocompo อยู่กับค่าย Polystar ผมได้ทำงานกับ Producer ของ Flipper’s Guitar และ Pizzicato Five ซึ่งเขาเป็นคนออกมาเองพูดว่า ฉันนี่แหละเป็นคนเรียกคำว่า ชิบุยะเคย์ เองคนแรก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อแบ่งแยกดนตรีแนวที่ตัวเองทำให้ดูแตกต่างกับดนตรีอื่นในตลาดตอนนั้น เขาคิดว่า ดนตรีพวกนี้น่าจะขายได้ในย่าน ชิบุยะ เขาจึงตัดสินใจที่จะใช้คำนี้ นั่นแหละคือความหมายและต้นกำเนิดที่แท้จริง เพราะว่า ชิบุยะเคย์ กำเนิดในช่วง ปลายยุค ’80 ช่วงนั้น มีวัยรุ่นแนวๆทั้งหลาย เหล่าฮิพสเตอร์ นิยมอยู่ในที่นั่น คือมันเป็น ที่ฮิพๆ ที่แรกที่กำเนิดมาก่อนชิโมคิตะฯ แต่ตอนนี้มันมีบางส่วนที่แยกตัวออกไปที่ชิโมคิตะฯ จนทำให้ยุค ’90 เปนต้นมา ชิโมคิตะฯ เริ่มค่อยๆใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากตอน ’80 ที่เล็กมาก ในเวลายี่สิบปี ที่นั่นกลายเป็นเมืองของฮิพสเตอร์อีกเมืองหนึ่งนอกเหนือจากชิบุยะ

(ได้รู้ความจริงซะที 555+)

คำว่า Shibuya-kei จริงๆก็เป็นเหตุผลทางการตลาดนั่นแหละ… เรื่องห้าแยกก็ไม่เกี่ยวเท่าไรหรอก

ถาม : แต่ในมุมมองของชาวต่างชาติคนอื่นที่ไม่ได้เป็นแฟนดนตรี เขาคิดว่า Harajuku เป็นที่ของ วัยรุ่น ในปัจจุบัน และ ชิโมคิตะก็ด้วย แน่นอนว่าพวกเขาก็คงรู้จักชิบุยะด้วย แต่ฉันคิดว่าพวกเขารู้จักในฐานะที่เป็นที่ชอปปิ้งมากกว่าที่เทรนดี้นะ?

– ฮาราจุกุ นั้นเป็นเมืองสำหรับวัยรุ่นมา 30-40 ปีแล้ว เพราะว่า ผมเคยเห็นหนังที่พูดถึงฮาราจุกุอยู่บ่อยๆ

ถาม : มีดนตรีของ ฮาราจุกุ มั้ย? ค่าย Asobisystem นี่ใช่มั้ย?

– ส่วนมากแล้ว ร้านต่างๆ แถว ฮาราจุกุ จะเป็นเกี่ยวกับพวก ดีเจ เกี่ยวกับอะไรโทนๆ fashion , celebrity dj ดารา คนดังๆ ชิคๆ มาเปิดแผ่น อะไรแบบนี้มากกว่า มีพวก studio สอนเต้นเยอะแยะไปหมด เป็นเมืองไอดอลแนวชิคๆ

ถาม : มีเมืองของ Visual-kei มั้ย?

– Ikebukuro กับ Saitama จังหวัดทางเหนือของโตเกียว tokyo พวกเขามีคลับและ live house เยอะเลย และอีกที่ก็แถว Meguro

ถาม : เมืองของ Hiphop มีมั้ย?

– Shibuya ไง ชิบุยะคือเป็นที่รวมดนตรี Electronic ทุกอย่างที่เป็นสไตล์แบบคนเมืองๆ ยกเว้น Visual-kei แต่บางที วงวิชวลเคย์ก้อมี แสดงดนตรี ที่ชิบุยะเหมือนกันแหละ

ถาม : อ๋อ มันแบบนี้นี่เอง

– เฉพาะที่ ชิบุยะ มี ไลฟ์เฮ้าส์ มากกว่า 100 ที่ และมีทุกสไตล์ จริงๆพวกที่เป็นดนตรี Acoustic ก็มี แต่จะน้อยหน่อย และที่ๆเยอะรองลงมาคือ ชิโมคิตะซาวะ มีประมาณ 50-60 ที่ ทั้งสองย่านนี้คือที่ๆ มีดนตรีเยอะที่สุดในญี่ปุ่น ว่าแต่… นี่กี่โมงแล้ว? คุณต้องไปดู gigs (การแสดงดนตรี) นี่ ใช่มั้ย?

ไม่ได้ถาม : ใช่แล้ว! ผมต้องไปดู Chabe นี่หว่า! คุยเพลินจนลืมเวลาเลย!

จบการสัมภาษณ์ ขอบคุณ Dr.Usui มากๆ เป็นประโยชน์มากๆ ต่อไปไม่รู้จะมีโอกาสได้เจอกันอีกไหม หวังว่าสักวันนะ ^^


Cubismo Grafico ที่ Shibuya Guest

    แนะนำให้รู้จักโดยสังเขปกันก่อน Cubismo Grafico เป็นอีกหนึ่งศิลปินแนว Shibuya-kei ที่ผมติดตามผลงานมานาน เขามีชื่อจริงๆว่า Gakuji Matsuda โดยมีชื่อเล่นในวงการว่า Chabe (ชา-เบะ) เพิ่งรู้เนี่ยว่า คนญี่ปุ่นนิยมตั้งชื่อเล่นให้ตัวเอง (อย่าง Dr. Usui ก็เหมือนกัน) Chabe เป็นคนที่มีรสนิยมในดนตรีที่ดีมาก และทำดนตรีหลากหลายแนว ตั้งแต่ House , Disco , Electronic , Pop-rock , Raggae , Ska แต่ในทุกๆแนวที่เขาทำจะมีลายมือเฉพาะตัวอยู่ นอกเหนือจากการทำดนตรีเป็นศิลปิน เขายังเป็น DJ ที่ selection เพลงเจ๋งๆเท่ห์ๆมีรสนิยมมาได้อย่างน่าสนใจ และหาตัวจับยาก โดยในอดีตชาเบะ เคยทำค่ายเพลงจี๊ดๆค่ายหนึ่งชื่อ Escalator Records ที่ซึ่งปัจจุบันเลิกทำไปแล้ว เปลี่ยนเป็นร้านขายแผ่นเสียง selection จากต่างประเทศ ชื่อ Big Love Records แทน

    หลังจากสัมภาษณ์ Dr. Usui เสร็จแล้ว ผมรีบไปดู Chabe ต่อ ที่ Shibuya Guest ร้านบ้าอะไรตั้งชื่อร้านได้ search หายากชิบหาย… เลยไปไม่ทันเลย จนแพททริกส่งที่อยู่มาให้ ไปถึง Chabe เล่นเสร็จละ เซ็ง T-T เจอแต่ศิลปินอีกคน ไม่รู้ชื่ออะไร เป็นแนวกีตาร์โฟล์คๆ หน่อย เดินเข้าไปคุย ชาเบะ ก็บอกว่าเล่นไปแล้ว เป็นเซตดีเจเปิดแผ่น อยากฟังมาก T-T ที่นี่เป็นร้านเล็กมากๆ เหมือนมีแต่คนรู้จักกันทั้งร้าน มีผมเป็นส่วนเกินอยู่คนเดียว T-T

    หลังจากจบการแสดง ก็มีแต่ชาเบะขึ้นมาพูดอะไรบนเวทีไม่รู้เหมือนเล่นตลกกันกับคนอีกคนนึง คือฟังไม่รุ้เรื่องไง… ไม่รุ้ขำไรกัน แล้วก็คงพล่ามกันอีกนาน กลับดีกว่างั้น เสียดายนิดๆ รอบหน้าพลาดไม่ได้ นี่ผมเสียตังค์ค่าบัตร เข้ามาทำไมเนี่ย?

เดินกลับ เล่นสตรีทก่อนนอน จบวัน ตอนหน้าพบกับ Day 30 : อำลาอาลัย ชิบุยะ-ฮาราจุกุ T-T

P1710122

ขวา Chabe หรือ Gakuji Matsuda หรือที่เรารู้จักกันในชื่อศิลปิน Cubismo Grafico นั่นเอง (ส่วนทางซ้ายผมไม่รู้ชื่อจริงๆ… ภาษาญี่ปุ่น คิดว่าคงเป็นเด็กปั้นแกคนนึง)

 

P1710124

โปสเตอร์ในห้องน้ำที่ Shibuya Guest ถ่ายทำไมไม่รู้… มันดูน่าสนใจดี น่าจะเป็นศิลปินอะไรสักอย่าง

P1710111 P1710112 P1710115

 

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.