ฝึกบริหารไอเดีย แต่งเพลง ใน10นาที! [เคล็ดลับจากBERKLEEตอนที่ 2]

Share via:

PAHT EKKUL

Songwriting Lessons: บริหารไอเดีย แต่งเพลง ใน 10 นาที!

ลับสมองและปลายปากกาให้คม! [ตอนที่2]

       ผ่าน 5 วิธีเริ่มต้นการ แต่งเพลง ไปแล้วในโพสต์ที่ผ่านมา เราก็มาต่อกับการบริหารไอเดียที่มีในหัวกันเลยนะครับ  ในตอนที่ 2 นี้จะเป็นการเน้นหาไอเดียโดยเริ่มจากภาพรวมของเพลงครับ และอาจจะเน้นไปที่เนื้อหาในเพลง(เนื้อร้อง) สักหน่อยครับ กับแบบฝึกหัดแรก “Object Writing” สั้นๆ แค่ 10 นาทีเท่านั้น พอได้ทำแล้วมันจะทำให้คุณรู้สึกคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป จนต้องทำทุกวันเพื่อพัฒนาตัวเอง !

เคยมั้ย? อยากเขียนเพลง แต่ไม่มีฟิล?

     นักดนตรีหรือนัก แต่งเพลง หลายคนเริ่มเขียนเพลงเพราะ “มีเรื่องที่จะเล่า” มีธีม อย่างเช่น เพิ่งอกหักมา หรือไปตกหลุมรักใครสักคน เจอเรื่องแย่ๆ จนไปถึงมีความสุขมากๆ แต่งเพลง ให้คนรักเพื่องานแต่งงาน เราก็เห็นมาแทบทุกรูปแบบ อารมณ์เหล่านี้จะคอยช่วยให้เราสร้างสรรค์ผลงานได้ง่ายขึ้นเพราะมันเป็นสิ่งที่เราเพิ่งเจอ เพิ่งสัมผัสมา เอ๊ะ.. นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีฟีล ชีวิตเฉยเรียบ มีความสุขพอดีๆ ก็เขียนเพลงไม่ออกรึเปล่า ? ถ้าคุณเริ่มรู้สึกแบบนี้มันก็ไม่ผิดครับ

     แต่!.. นักดนตรีมืออาชีพ หรือศิลปินหลายๆคน บางทีเค้ารอฟีลไม่ได้ครับ! บางทีก็ต้องทำให้ได้ทันที เพราะมันไม่ทันกิน!! อย่างเช่นอาชีพ รับแต่งเพลง แบบ Music Production ต่างๆ (เช่น verycatsound.com ที่ผมทำอยู่) เวลามันไม่รอเราใน deadline ที่กำหนดไว้ครับ

     เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมุ่งมั่นอยากพัฒนาฝีมือการ แต่งเพลง ของตัวเอง และลับปลายปากกาให้คม คุณควรจะหาวิธีบริหารไอเดีย เพื่อทำให้ต่อมความคิดสร้างสรรค์ของคุณมันตื่นตัวและพร้อมจะเขียนเพลงอยู่เสมอ ! ผมจะแบ่งปันวิธีที่ผมใช้ และเรียนรู้มานะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจ ในตอนนี้อาจจะสอนได้ไม่ครบหมด แต่จะมีแบบฝึกหัดให้ลองเล่นกันครับ

ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร? มาลอง Object Writing กันดีกว่า !!

        สิ่งแรกที่ผมเรียนที่ Berklee ในวิชา การเขียนเนื้อร้อง คือ “Object Writing” ครับ(จากหนังสือ Writing Better Lyrics ของ Pat Pattison) “Object Writing” คืออะไร? ทำยังไง? สรุปง่ายๆก่อน เลยครับ Object Writing คือการฝึกการ “เรียบเรียง” และ “ดึง” สิ่งต่างๆ ในความทรงจำ และ ประสาทสัมผัส ให้ออกมาเป็นภาพ “ด้วยการเขียนมันออกมา!” 

        อาจฟังดูยากใช่มั้ยครับ?? แต่ไม่เลย แบบฝึกหัดนี้ถูกคิดขึ้นมา เพื่อให้เราฝึก และพัฒนาตัวเองครับ เราทำแบบฝึกหัดนี้เพื่อเป็นการเปิดใจ เปิดหัวให้เราดึงสิ่งต่างๆในความทรงจำ หรือในความคิดออกมาได้รวดเร็วและเป็นอิสระ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ เพราะฉะนั้น   ทำเลยครับ ยิ่งทำเยอะยิ่งดี


 7 ขั้นตอน “Object Writing”

 

 1. ใช้เวลาแค่ 10 นาทีในตอนเช้า

     เวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ใช้เวลาแค่ 10 นาทีในตอนเช้า  อันนี้ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองนะครับ ตั้งแต่เริ่มเขียนแล้วพอครบ 10 นาทีให้หยุดเขียนทันที เท่าไหนเท่านั้นครับ เราขอแค่นี้ครับ เวลาช่วงเช้าหลังจากตื่น เตรียมกระดาษกับปากกาไว้นะครับ

2. ใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่ง

     ในแบบฝึกหัดนี้ให้เขียนในมุมมอง บุคคลที่หนึ่งครับ เพราะว่าเป็นวิธีแรกๆที่จะสื่อสารได้ง่ายสุด เวลาคนอ่าน อ่านแทนตัวว่า “ฉัน” ก็จะสามารถรู้สึกถึงสิ่งที่เราเขียนได้ง่ายขึ้นครับ เราจะเน้นไปที่การทำให้คนอ่าน(คนฟัง) สมผัสสิ่งที่เราเขียนให้ได้มากที่สุด

3. ใช้การรับรู้ 7 อย่าง

      ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก การรับรู้ทั้ง 7 ในการทำ Object Writing “ที่ทำให้เรามีตัวตนเป็นแบบที่เราเป็น” ก่อนนะครับ Object Writing จะมุ่งไปที่การพัฒนาการเรียบเรียงและถ่ายทอดประสบการณ์จากสัมผัสเหล่านี้ครับ

3.1 การมองเห็นราเห็นเป็นสีอะไร เป็นภาพแบบไหน น่าดูมั้ย

3.2 การได้ยิน – เสียงรอบข้างที่เราได้ยิน มีเสียงฟ้าร้องหรือเสียงลมอะไรยังไง

3.3 การรับรู้รส – รสชาติ ของสิ่งที่เรารู้สึกตอนนั้นมันมีมั้ย ?

3.4 การสัมผัส – สัมผัสกับวัตถุอะไรรึเปล่า เย็น ร้อน อ่อน หรือแข็ง

3.5 การดมกลิ่น – เราได้กลิ่นอะไรจาก บรรยากาศรอบข้างมั้ย ?

3.6 การรับรู้ทางร่างกาย ความสุขทางกาย การหายใจ ลมหายใจ การเต้นของหายใจ

3.7 การรับรู้ “สิ่งรอบกาย ความเคลื่อนไหวต่างๆ ความสมดุลย์ของพื้น ลมพัด บลาๆ

พอจะนึกภาพออกใช่มั้ยครับว่าการรับรู้เหล่านี้คืออะไร รู้สึกยังไง งั้นมาลองเริ่มต้นเขียนกันเลยดีกว่าครับ

4. เลือกสถานที่ (เพื่อเป็น Object ให้เขียนถึง)

      บ้าน? สถานที่ที่ไปบ่อยๆ ถ้าเราพอจะดึงความทรงจำมาได้ง่ายๆ ครับ หยิบมันขึ้นมาแล้วเช็คทีละข้อเลยยยยย ผมจะยกตัวอย่างบ้านผมที่เชียงใหม่ซึ่งตอนเด็กๆผมไปทุกปี แต่ปัจจุบันขายไปแล้ว

ผมจะลองเขียนลงมาว่า

      “บ้านสองชั้นมีสวนเล็กๆไม่ใหญ่มากกำแพงสีขาวมีรอยเก่าเล็กน้อยตัดกับหลังคากระเบื้องที่สีน้ำตาลซีดจางลงตามกาลเวลา ฉันนั่งอยู่ในสวนที่มีหญ้าประปรายและต้นสนโอมล้อมรอบ บ้านหลังนี้อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆที่ตีนดอย ฉันได้ยินเสียงลมเบาๆที่เย็นสบายเมื่อสัมผัส กลิ่นของหน้าหนาวโอบอวลลอยมาตามลมทำให้ฉันสุขใจและไม่อยากขยับไปไหน”

      แค่นี้เลย ไม่ต้องสนใจเรื่องคำคล้องจอง สัมผัส หรือความเป็นเพลง เพราะว่า Object Writing คือการบริหารให้เราตื่นตัวและดึงความทรงจำในทุกๆประสาทสัมผัสของเราออกมา มันจะทำให้เราชินกับการ “สังเกตุ” และการเขียน และ ข้าถึงสถานที่เหล่านั้นในความทรงจำเรา เป็นนิสัย

       เป้าหมายของคุณคือ เขียนสิ่งที่ตาจำได้ เขียนสิ่งที่เคยได้ยิน ตอนนั้นกลิ่นที่นั่นเป็นอย่างไร อาหารที่นั่นรสเป็นยังไง ลมแรงมั้ย เขียนในแบบที่คุณสัมผัสมา เขียนในแบบที่คุณรู้โดยที่ยังไม่ต้องสนใจเรื่องคำว่ามันคล้องจองกันดีหรือยัง  แบบฝึกหัดนี้จะเน้นให้เขียนในมุมมองบุคคลที่หนึ่งก่อนครับ

5. เลือกสิ่งของ หรือ วัตถุ

     อาจจะเป็นเป็นของสะสม ของที่มีคุณค่าทางจิตใจกับเรา หรืออะไรก็ได้ที่เรานึกขึ้นมาได้ เช่นแก้วน้ำ จานชามหรือจะไปถึงตู้เย็น ทีวี ตู้เก็บเสื้อผ้าก็ยังได้

     ที่ให้เลือก “สถานที่” หรือ “สิ่งของ” ก็เป็นเพราะว่าเราต้องการจะเลือกสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุดขึ้นมาก่อน เพื่อความง่ายในการเข้าถึงครับ  (ในแบบฝึกหัดหลังๆ จะมีเล่นกับพวก “ความรู้สึก” และ “อารมณ์” มากขึ้น

6. ความรู้สึกคือสิ่งสำคัญ

       เรื่องสำคัญคือการแสดงให้เห็นจากความรู้สึกไม่ใช่แค่เขียนการบรรยาย(ในภาษาอังกฤษอาจได้ยินบ่อยๆว่า Show, don’t tell)

**ตัวอย่าง**   ลองเปลี่ยนจาก “อากาศร้อน” เป็น “อากาศที่นี่ทำให้ฉันเหงื่อออก”

     การเขียนในมุมมองบุคคลที่ 1 ใน Object Writing เป็นเรื่องสำคัญเพราะมันจะเป็นการฝึกให้เราบรรยายประสบการณ์ที่เราสัมผัมมาในมุมมองของเรา แล้วพอผู้อ่าน(ผู้ฟัง) เขาได้อ่านเขาก็จะสามารถ “รู้สึก” ในสิ่งที่เราเล่า และเชื่อมโยงกับชีวิตเขาได้ด้วยภาษาและ การบรรยายที่เราดึงมาจากประสาทสัมผัสทั้ง 7 โดยตรง

“ถ้าคนฟังสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เราเล่าเข้ากับชีวิตตัวเขาเองได้ สิ่งที่เราจะเล่าก็จะน่าสนใจขึ้นมาทันที” – Pat Pattison

      ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องเป็นที่ๆเขาเคยไป หรือประสบการณ์ที่เขาเคยเจอ แต่ถ้าเรา “แสดง” ให้คนเห็นภาพได้เค้า มันก็เป็นไปได้ที่เค้าจะอินกับเนื้อหาเรา

7. อย่ากลัวว่าจะเขียนเรื่องเดิมๆ เรื่องราวซ้ำๆ

    ผมเชื่อว่าความรู้สึกต่อสถานที่และสิ่งของนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ของใครของมันซึ่ง คนเรารู้สึกไม่เหมือนกันอยู่แล้ว การฝึก object writing จึงสามารถทำให้คนๆนึง แสดงตัวตนของคนนั้นออกมาได้อย่างเต็มที่ ว่าเขาผ่านประสบการณ์แบบไหนมา มองเห็นแบบไหน ได้ยินอะไรมาบ้าง

“ตัวคุณเองก็เป็นคุณที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนคุณด้วย”

    และแน่นอนความรู้สึกเหล่านี้ก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันตามช่วงของชีวิตด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวที่จะต้องเขียนเรื่องเดิมๆนะครับ เราทำให้มันแตกต่างได้แค่เราลองทำดูสักครั้งสองครั้ง เราก็จะรู้ว่า “นี่แหละตัวฉัน” 

 

P1720502


 สรุป

     แบบฝึกหัดนี้จะตอบโจทย์คนที่ “ไม่มีฟีลยังไม่เขียนดีกว่า” หรือ “ไม่รู้จะเขียนอะไร” ได้ครับ อาจจะไม่ตอบได้ในทันที แต่ว่ามันจะทำให้คุณเริ่ม “หยิบ” และ เลือกบางส่วนในความทรงจำออกมาใช้ได้อย่างง่ายขึ้น แค่คุณทำครั้งแรกก็จะพบว่า “มีเรื่องที่อยากเล่า” มากมาย

     ผมหวังว่า ตอนที่2 นี้จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้คนทำเป็นแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาการ แต่งเพลง ของตัวเองนะครับ ไม่ต้องห่วงว่ามันจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์นะครับ เราทำเพื่อฝึกฝีมือ ทำให้สนุกนะครับ ใครทำแล้วก็มาแชร์กันบ้างก็ได้ครับจะได้แสดงความคิดเห็นกัน

     ขอให้โชคดีในเส้นทางดนตรีครับ มีอะไรมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ แล้วกับกันใหม่กับตอนพิเศษเร็วๆนี้ครับ !!! เป็นการแปลคำแนะนำของ John Mayer ในการแต่งเพลง จาก workshop ที่ Berklee ครับ  สวัสดีครับ

—– ภัทร เอกกุล ( PAHT EKKUL) —–

คอร์สออนไลน์ สอนแต่งเพลง ออนไลน์ เริ่มต้นด้วยโปรแกรม DAWs กับ VERYCATSOUND

เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจ ลองเข้าอ่านรายละเอียดได้ที่ link ครับ

Comments (197)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.