คีย์ดนตรีคืออะไร คนดนตรีควรรู้ เรียนทฤษฏีดนตรี

คีย์ของดนตรี คืออะไร เรื่องที่คนดนตรีทุกคนควรรู้

Share via:

Krissaka Tankritwong

คุณเคยเจอมั้ย เล่นดนตรี ร้องเพลง หรือทำเพลง แล้วมีคนบอกว่า “มันผิดคีย์”
หรืออีกกรณีนึง มีคนมาบอกคุณว่า เพลงคีย์นี้รู้สึกหม่นไปหน่อย ลองเปลี่ยนเป็นอีกคีย์ดูมั้ย ให้อารมณ์มันเปลี่ยน
ตกลง “คีย์” แปลว่าอะไรกันแน่?

(คำเตือน* บทความนี้มีศัพท์เฉพาะทางดนตรีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจากเนื้อหานี้ เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ศัพท์เทคนิคพวกนี้ ถ้าใครที่อ่านไม่เข้าใจ แนะนำให้ศึกษาทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติม เพราะถ้าให้อธิบายทั้งหมดในบทความนี้ มันจะยาวเกินไป)

แน่นอนครับ จะมีคนสองประเภท คือคนที่รู้ กับคนที่ไม่รู้
คนที่รู้คือคนที่ร่ำเรียนดนตรีมาถึงจุดนึง มีความเข้าใจในทฤษฎีดนตรี อาจจะพื้นฐานไปจนถึงขั้นแตกฉาน แต่เข้าใจแน่ๆว่า คีย์ แปลว่าอะไร

ส่วนคนที่ไม่รู้ จะมีความเข้าใจที่น้อยกว่านั้น แต่บางทีเข้าใจผิดไปเอง อาจจะเคยได้ยินหรือจำต่อๆกันมาแบบผิดๆ
ทีนี้บางทีความไม่รู้ก็มักจะทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารตามมาอยู่บ่อยๆ #คนไม่รู้มักจะไม่รู้ตัวเองว่าไม่รู้

โดยความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยๆ จากประสบการณ์ของผม จะมีอยู่สองข้อ


ความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยๆ และปัญหาของการไม่เข้าใจเรื่องคีย์

1. เข้าใจผิดว่า “คีย์ = โน้ต , Pitch หรือระดับความสูงต่ำของเสียง”

มันผิดถูกครึ่งนึง ผิดครึ่งนึงครับ คีย์คือระดับความสูงต่ำของเสียง นั่นถูก แต่มันไม่เท่ากับ โน้ตตัวใดตัวหนึ่ง ที่ถูกต้องคือ มันเท่ากับ เซตของโน้ต 7 โน้ต ในสเกลนั้นทั้งหมดต่างหาก

ตัวอย่าง

นาย ก. กำลังร้องเพลงที่ตัวเองแต่ง เพื่อบันทึกเสียงในห้องอัด โดยที่ นาย ข. รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้ นาย ก. จำโน้ต จำเมโลดี้ได้ไม่ค่อยแม่น เลยร้องผิดๆถูกๆ ซึ่งเดิมที เพลงเป็นเพลงคีย์ C โน้ตที่นาย ก. ร้องผิด จากเดิมต้องเป็นโน้ต E แต่นาย ก. ร้องโน้ต D
นาย ข. จึงบอกว่า “ท่อนนี้ร้องผิดคีย์นะครับ” (นาย ข. เข้าใจคำว่าคีย์ผิด แต่ refer ถึงการผิดโน้ต หรือผิด Pitch)
นาย ก. กำลัง งง ว่ามันผิดคีย์เหรอ นาย ก. จึงถามกลับไปว่า นี่เพลงคีย์ C ใช่ไหมสรุป
นาย ข. ตอบว่า “ใช่”
นาย ก. ก็ยัง งงๆ ต่อ เพราะที่นาย ก. เข้าใจเรื่องคีย์ มันคืออีกอย่าง 
สรุปสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ กว่าจะรู้เรื่อง เสียเวลาในห้องอัดเปล่าๆไปหลายสิบนาที

2. เข้าใจผิดว่า “คีย์ = Octave”

ผมไม่รู้จะบรรยายยังไง เอาเป็นว่าดูในตัวอย่างเอาเลย

ตัวอย่าง

คุณกำลังร้องเพลงกับเพื่อนในโบสถ์ แล้วคุณแน่ใจว่า คุณร้องโน้ตถูกต้องแล้ว แต่เพื่อนข้างๆคุณ กลับบอกว่า “คีย์ต้องสูงขึ้นอีก มันต่ำเกินไป” 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณร้อง โน้ต C แต่เพื่อนคุณร้องโน้ต C เหมือนกัน แต่เป็น Octave บน หรือโน้ตที่อยู่สูงขึ้นไปเป็นขั้นคู่ 8 ซึ่งที่จริงเป็นโน้ตเดียวกัน คีย์เดียวกัน ซึ่งแน่นอน ถ้าคุณไม่มีความเข้าใจดนตรีดีพอ แล้วคุณเชื่อเพื่อนคุณ คุณอาจจะพยายามดันเสียงขึ้นไปอีก จนกลายเป็นโน้ต D หรือ Eb ทำให้กลายเป็นผิดโน้ต ทำให้เกิดคู่เสียงแบบ Dissonance ที่ไม่เข้ากัน และเสียงประสานพัง

3. เข้าใจผิดว่า “เพลงขึ้นต้นคอร์ดอะไร = คีย์นั้น”

ปัญหาที่นักดนตรีหลายคนคงเคยเจอ เวลาที่เพื่อนในวงบอกว่า “เพลงนี้ ขึ้นต้นคอร์ด C เป็นเพลงคีย์ C” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมันไม่ใช่ทุกเพลงที่เป็นแบบนั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานเมเจอร์สเกลก่อนว่า ใน 1 คีย์ จะมีคอร์ดที่ใช้ได้ทั้งหมด 7 คอร์ด ( อาทิ คีย์ C มีคอร์ดในคีย์ที่ใช้ได้คือ C Dm Em F G7 Am Bdim ) แต่ว่าแต่ละคอร์ดมันสามารถเรียงลำดับยังไงก็ได้ในเพลง แล้วแต่การออกแบบของผู้แต่ง,ผู้เรียบเรียงเพลง ฉะนั้นไม่จำเป็นว่าขึ้นต้นเพลงมา ต้องเป็นคอร์ดแรกของคีย์
ขอยกตัวอย่าง กรณีศึกษาที่พบเจอกันได้บ่อย อย่างเช่น เพลงดังอย่าง “หยุด – Groove Riders” ที่ขึ้นต้นเพลงเป็นคอร์ด C แต่ที่จริงแล้ว เพลงทั้งเพลงคือคีย์ G
คีย์ G มีคอร์ดที่ใช้ได้ในคีย์นั้นอยู่ 7 คอร์ด ได้แก่ G Am Bm C D7 Em F#dim นั่นเท่ากับว่า ในเพลงนี้เค้าออกแบบโดยขึ้นต้นเพลงด้วยคอร์ดลำดับที่ 4 นั่นคือ C ซึ่งถ้าเราสังเกตจากคอร์ดที่ใช้ทั้งเพลง ก็จะรู้ได้เองว่า เพลงนี้เป็นเพลงคีย์ G ไม่ใช่คีย์ C เพราะมีคอร์ดที่อยู่ในคีย์ G เป็นตัวบ่งบอก

4. เข้าใจผิดว่า “คนละคีย์ = คนละอารมณ์”

ถ้าถามว่า แต่ละคีย์ส่งผลต่ออารมณ์ของเพลงมั้ย (ในบริบทนี้จะหมายถึง คีย์ชนิดเดียวกัน เช่น Major Scale อย่างเดียว) ผมขอตอบว่า ส่งผลบ้าง แต่น้อยมากครับ สิ่งที่ส่งผลต่อารมณ์เพลงส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากการเลือกคีย์ แต่มาจาก การเลือกใช้เสียงประสานต่างๆ ทางเดินคอร์ดที่แตกต่างกัน รวมไปถึงคู่เสียง และความสัมพันธ์ระหว่างเมโลดี้กับคอร์ด มากกว่า ซึ่งนั่นแปลว่า จะเปลี่ยนเป็นคีย์ไหนก็ตาม หากยังใช้ท่าเดิม ทางเดินคอร์ดเซตเดิม เสียงประสานแบบเดิม ยังไงอารมณ์ก็คงเดิม 95% 

ตัวอย่าง

นาย ก. เป็นโปรดิวเซอร์มือใหม่ ที่รับงานจากลูกค้าเจ้าหนึ่งมา เมื่อทำงานส่งไปให้ลูกค้า มีคอมเม้นท์กลับมาว่า “ตอนนี้นักร้อง ลองร้องดูแล้วโอเคกับเพลงแล้ว แต่ทางเราอยากให้ปรับตัวเพลงให้สดใสขึ้นหน่อยค่ะ มันฟังดูหม่นไป”
นาย ก. จึงแก้ปัญหาด้วยการ ปรับเพลงจากคีย์ C ให้เสียงสูงขึ้น กลายเป็น คีย์ E และทำ Backing Track ใหม่ เตรียมไว้บันทึกเสียง
เมื่อถึงวันบันทึกเสียง ปรากฏว่า นักร้องร้องไม่ได้หลายท่อน เสียงไม่ถึง เพราะระดับเสียงทั้งหมดถูกปรับ จากคีย์ C เป็นคีย์ E ซึ่งสูงขึ้นถึง 4 semi-tones  และตัวเพลงก็ยังคงมีปัญหา ลูกค้าบอกว่า ก็ยังฟังดูหม่นอยู่ดี กว่าจะแก้ไข กว่าจะจบงานได้ เสียเวลา เสียเงินค่าห้องอัด เพิ่มไปโดยใช่เหตุ

ขอยกตัวอย่างเคสที่ผมเคยเจออีกหนึ่งเคส

ผมเคยทำงานกับนักร้องอาชีพท่านหนึ่ง ตอนส่งเพลงไปให้ทดลองคีย์ สามคีย์ เค้าบอกว่าได้หมด เอาคีย์ไหนก็ได้ ผมเลยบอกว่า งั้นขอเลือกคีย์ C นี่นะครับ
เมื่อวันนัดบันทึกเสียงมาถึง ปรากฏเค้าร้องอีกคีย์นึงทั้งๆที่ Backing Track เป็นอีกคีย์นึง ผมเลยบอกว่า ร้องผิดคีย์นะครับ ที่เลือกกันมันเป็นคีย์ C นะครับ ต้องปรับนิด ให้คีย์สูงขึ้นครับ เค้าบอกโอเค ไม่มีปัญหา
พอร้องมาอีกรอบ ปรากฏเค้าร้องคีย์เดิม แต่บีบเสียงให้เล็กลง…

หัวจะปวด….


ที่จริงแล้ว คีย์คืออะไร? เราเปลี่ยนคีย์ทำไม? อะไรคือ สาระสำคัญ ของมัน?

1. คีย์ คือ ระดับเสียงของ เซตตัวโน้ตทั้งหมด ใน บันไดเสียง หรือ Scale นั้นๆ

ไม่ขอลงลึกเรื่องนี้มากเกินไปนะครับ อย่างที่บอกจะยาวเกินไป แต่เอาเป็นว่า คีย์ C กับ คีย์ D ต่างกันแค่ว่า มันเป็นระดับเสียงที่สูง หรือต่ำกว่ากัน “ทั้งเซต” นั่นเอง แต่จะเป็นคีย์ไหนก็ให้สำเนียงแบบเดียวกัน ถ้าเป็น Scale ชนิดเดียวกัน อาทิ Major Scale เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า

Scale C Major มีโน้ต 7 ตัว คือ C , D , E , F , G , A , B
ถ้ายกคีย์ขึ้น 1 เสียงเต็ม กลายเป็น
Scale D Major ก็จะมีโน้ต 7 ตัวที่สูงขึ้นไป 1 เสียงเต็ม ทุกตัวเท่าๆกัน กลายเป็น D , E , F#, G , A , B , C#

(ผมเชื่อว่า คนที่ยัง งง เพราะไม่เข้าใจเรื่อง # หรือความห่างของเสียง กรุณาศึกษาเพิ่มเติมเรื่องทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นนะครับ ทางเราก็มีสอน)

2. เราเปลี่ยนคีย์เพื่อ ให้เหมาะกับระดับเสียงที่นักร้อง ร้องได้

คนเราแต่ละคน มี range หรือระดับเสียงที่ไม่เท่ากัน บางคนร้องได้แต่ช่วงเสียงต่ำ บางคนเสียงกว้างหน่อย ร้องขึ้นสูงได้เยอะก็ดีไป แต่ไม่ใช่ทุกคน ซึ่งข้อจำกัดนี้ ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนคีย์ของดนตรีทั้งหมด ตามนักร้อง ให้นักร้องสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ ร้องได้ดีใน range ของตัวเอง ส่งผลทำให้เพลงออกมาไพเราะที่สุด

3. เราเปลี่ยนคีย์เพื่อ สร้างสีสันหรือสำเนียงที่แตกต่าง ในแต่ละช่วงของเพลงๆเดียวกัน

ในทาง Music Composition หรือการประพันธ์เพลง ถ้าเราแต่งเพลงในคีย์เดียวกันตลอดทั้งเพลง ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงแบบเดิมๆ Composer บางคนที่เริ่มเบื่อกับความจำเจแบบเดิมๆ จึงเริ่มแสวงหาวิธีเรียบเรียงเสียงประสานแบบใหม่ๆที่ให้สำเนียงที่ต่างออกไป จึงเริ่มทำการเปลี่ยนคีย์ในเพลง ทำให้เพลงนั้นๆ มีช่วงที่เป็นคีย์อื่นนอกจากคีย์หลักของเพลง 

แต่ถ้าเป็นเพลงคีย์เดียว ที่ไม่ได้มีลูกเล่นการเปลี่ยนคีย์ข้างในเพลง “แท้จริงแล้ว การเลือกคีย์แทบไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเท่าไรต่อการ Compose เพลงเลย”

คุณสามารถแต่งเพลงด้วยคีย์ที่ง่ายที่สุดอย่างคีย์ C ได้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว แล้วค่อยนำไปปรับเปลี่ยนคีย์อีกทีเพื่อให้เข้ากับนักร้อง นั่นคือเรื่องของกระบวนการ Music Production

มีเกล็ดความรู้เกี่ยวกับคีย์อีกนิดหน่อยคือ อาจารย์ของผม (อาจารย์สำเภา ไตรอุดม คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร) เคยบอกว่า ในมุมของนักดนตรี คีย์มีผลบางอย่างต่อจิตวิทยาการเล่นดนตรี

กล่าวคือ บางคีย์ที่เล่นยาก ตอนท่ีนักดนตรีเล่นจะโฟกัสมากกว่า เกร็งกว่า ทำให้อารมณ์เพลงออกมาค่อนข้างซีเรียส
แต่บางเพลงที่เป็นเพลงที่คีย์เล่นง่าย นักดนตรีจะรู้สึกสบายเวลาเล่น เล่นคล่องกว่า และทำให้อารมณ์เพลงออกมาฟังดูสบายๆเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ที่กล่าวมาก็คือมีผลน้อยมาก เทียบไม่ได้กับผลที่เกิดจากท่วงท่าในการ Composition ของบทเพลงอยู่ดี และก็ไม่ใช่ผลในทางที่สัมพันธ์กับระดับเสียงสูงต่ำแต่อย่างใด


ผมขอออกตัวก่อนว่า ความรู้ที่ผมแชร์นี้ เป็นความรู้ที่ร่ำเรียนและสืบทอดกันมาจากระบบ Academic หรือในรูปแบบมหาวิทยาลัย ถ้าใบปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 ทางด้านดนตรีนั่นไม่ได้หลอกผม มันก็น่าจะถูกต้อง 100% 

อันที่จริง การไม่รู้ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ทุกคนมีสิ่งที่ไม่รู้กันทั้งนั้น เพียงแต่ถ้ารู้ว่าที่ถูกคืออะไรแล้ว ก็อยากให้ใช้ให้ถูกนับแต่นั้น จะได้ไม่เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดนะครับ

อยากฝากให้แชร์สิ่งนี้ไปให้เพื่อนนักร้องนักดนตรีที่ยังเข้าใจเรื่องคีย์ผิดกันอยู่ให้มากที่สุด บางทีเจอบ่อยๆก็ปวดหัวนะครับ เวลาทำงานดนตรีแล้วสื่อสารกันยาก ขี้เกียจหัวจะปวดอีกต่อไป ขอบคุณครับ #คีย์แปลว่าอะไร มาช่วยกัน #แชร์ให้คนไม่รู้ รู้ซะที


The Real Producer
REAL / DEEP / EXCLUSIVE

หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream

เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ

หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link

http://mkt.verycatsound.academy/mf2

——————

Contact

Line ID :

  • เรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
  • เรื่องจ้างทำเพลง @verycatsound

Tel. : 0856662425
Website : verycatsound.com
FB : http://www.facebook.com/verycatsound
YT : http://www.youtube.com/c/verycatsound

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.