คุณเคยไหมครับ ชอบฟังเพลงต่างประเทศ ทั้งๆ อาจจะมีคนพูดว่า ทำไมชอบ? ฟังออกด้วยเหรอ? แต่คุณก็รู้สึกว่าสำเนียงดนตรีมันถูกจริต และไม่ได้ใส่ใจกับภาษา
แล้วคุณเคยลอง blind test ไหมว่า ถ้าเปิดเพลงมา อาจเป็นแค่ intro ของเพลง หรืออาจเป็นเพลงบรรเลง โดยไม่มีเนื้อร้องขึ้นเลย คุณสามารถแยกแยะออกได้ว่า อันไหนเพลงต่างประเทศ ประเทศไหน และอันไหนเพลงไทย?
ถ้าเคย แสดงว่าคุณสัมผัสได้ว่า สำเนียงของดนตรีแต่ละชาตินั้นมีอยู่จริง
แล้วเคยสงสัยไหมครับว่า สำเนียงพวกนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ในเมื่อมันใช้โน้ตดนตรีสากลแบบเดียวกัน?
ทำไมเราฟังเพลงในรูปแบบดนตรีสากล ของแต่ละชาติ มันถึงมีสำเนียงที่แตกต่างกัน?
ต้องบอกก่อนนะครับว่า บทความนี้ไม่เกี่ยวกับดนตรีที่เป็นประเภณีดั้งเดิมของแต่ละชาติด้วย อาทิ ดนตรีไทย ดนตรีญี่ปุ่นโบราณ ฯลฯ แต่เรากำลังพูดถึง ดนตรีสมัยใหม่ ที่ใช้ตัวโน้ตหรือทฤษฎีดนตรีสากลในการสร้างมันขึ้นมาเหมือนๆกัน แต่ทำไมมันเกิดเอกลักษณ์หรือสำเนียงที่ฟังแล้วรู้ได้ว่า เป็นดนตรีของชนชาติไหน โฟกัสเฉพาะเรื่องสำเนียงดนตรีล้วนๆ โดยไม่มีเรื่องภาษาหรือคำร้องเข้ามาเกี่ยวด้วย คือแค่ฟังตัวดนตรีบรรเลงอย่างเดียว ยังรู้ความแตกต่างของสำเนียงได้
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังเพลงต่างประเทศ โดยเฉพาะเพลงญี่ปุ่น และผมสนใจและสงสัยในหัวข้อนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เป็นที่มาที่ทำให้ผมเข้าไปเรียนรู้การทำเพลงในระดับมหาวิทยาลัย
แม้จะเรียนจนแตกฉานด้านดนตรีมาแล้ว ผมก็ยังคงมีคำถามนี้อยู่ เพราะเรามีเพลงในอุดมคติที่เราชอบ และอยากทำให้ได้ แต่พอมันยังทำไม่ได้ เราจึงพยายามแกะรหัสของมันออกมาให้ได้ว่ามันทำยังไงให้ได้แบบนั้น ผมจึงพยายามหาความรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการเดินทางไปหาคำตอบด้วยตัวเองที่ญี่ปุ่น ทั้งการทดลองทำการ reverse engineering กระบวนการทำเพลง และทั้งการศึกษา score การพยายามวิเคราะห์และสร้างเพลงใหม่ด้วยการสังเคราหะ์จากความรู้ที่มี เรียกว่าเอาทุกรูปแบบ และต้องรู้ความลับของสำเนียงที่เกิดขึ้นให้ได้
จนหลังจากเรียนจบได้สามปี ก็มีอยู่วันหนึ่งที่ผมทำสิ่งนั้นได้ เรียกได้ว่า ยูเรก้า จู่ๆก็รู้สึกว่าพบคำตอบที่ตัวเองตามหามานานแล้ว และมันเป็นคำตอบที่ใช้ตอบคำถามได้หลายอย่าง ไม่เพียงแต่เฉพาะการทำเพลงสำเนียงญี่ปุ่น แต่มันเป็นเหตุผลว่าทำไมสำเนียงเพลงของแต่ละชาติจึงไม่เหมือนกัน และสามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาสำเนียงเพลงของชาตินั้นๆที่สนใจได้หมด ในที่นี้ผมจะพูดแบบกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงที่สำเนียงชาติไหนนะครับ
นี่คือหัวข้อหลัก อย่างแรก ลักษณะการใช้ Melody กับ Chord ที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่หลายคนคงเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ทันสังเกตและเกิดการมองข้าม ถ้าคนที่มีความรู้ทางดนตรีไม่มาก อาจเข้าใจว่า เมโลดี้คือสิ่งที่กำหนดอารมณ์หรือบรรยากาศของเพลง ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ถ้าเทียบกันแล้ว คอร์ดมีผลมากกว่า โดยเมโลดี้ทำหน้าที่สร้างการจดจำมากกว่า แต่คอร์ดหรือ harmony กำหนดอารมณ์และบรรยากาศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็คงเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากสำหรับคนที่มีความรู้เรื่องดนตรี
แต่อย่างที่บอกว่า มีบางอย่างที่หลายคนมองข้ามมันไป ที่จริงแล้วมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำหนด vibe ของเพลงอยู่อีก มันไม่ใช่แค่เมโลดี้ หรือไม่ใช่แค่คอร์ด แต่มันคือ “ความสัมพันธ์ของ Melody กับ Chord”
ผมค้นพบเรื่องนี้ในระหว่างการทดลองทำสำเนียงเพลงแบบที่ต้องการให้ได้ ผมพบว่า ไม่ว่าผมจะพยายามใช้คอร์ด หรือเมโลดี้ เลียนแบบเพลงต้นแบบเพียงใด มันก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกถึงสำเนียงแบบเดียวกันได้เลย และผมหาสาเหตุไม่เจอว่าทำไม แต่ด้วยการทำซ้ำมากๆ และการสังเกต จู่ๆก็มาค้นพบบางอย่าง นั่นคือสิ่งที่ว่าไป
ความสัมพันธ์ของ Melody กับ Chord นั้น มันสามารถทำให้เกิดสำเนียงที่แตกต่างได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้เมโลดี้ที่ตกตัวที่เป็น Consonance มากๆ อยู่บ่อยๆ เพลงจะมีสำเนียงไปในทาง Consonance หนักมาก จนโน้มเอียงมาทางเป็นเพลงเด็ก ที่รู้สึกหวาน ลื่นหู ฟังง่าย ซึ่งยิ่งใช้มาก มันก็จะยิ่งหวาน จนหวานเลี่ยนเกินไป นั่นคือ สำเนียงแบบเพลงเด็ก
ในทางกลับกัน ถ้าเพลงมีการใช้เมโลดี้ที่ตกตัว Dissonance ยิ่งมากเท่าไร สิ่งที่จะได้คือเพลงที่มีความไม่เข้ากันของเสียงอยู่มาก ยิ่งมากจะยิ่งแปร่ง ยิ่งขม ยิ่งหลอน หรือยิ่ง กลายเป็นเพลงที่ฟังยาก ซึ่งเราอาจได้ยินเพลงแบบนี้จากพวก Jazz อยู่บ่อยๆ
แต่ในการทำเพลงจริงๆแล้ว มันคือการ Balance ระหว่าง Consonance และ Dissonance ทั้งสองอย่างนี้ให้สมดุลย์ และตามแต่ taste หรือรสนิยมของผู้สร้างด้วยว่า ชอบได้ยินคู่เสียงแบบไหนบ่อยๆ
ยกตัวอย่างว่า เพลงๆเดิมที่เมโลดี้เหมือนกันเด๊ะ แต่เปลี่ยนทางเดินคอร์ด ที่จริงแล้วมันจะได้อารมณ์ของทางเดินคอร์ดนั้นๆ ผสมกับ ความสัมพันธ์ของคู่เสียงคู่ใหม่ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นมันจึงต้องมีการใส่ใจในการเลือกโน้ตทั้งสองมิตินี้
การขยับหรือปรับเปลี่ยนโน้ตหรือคอร์ด จะทำให้เกิดคู่เสียงที่ต่างออกไปจากดั้งเดิม และทำให้ vibe บรรยากาศ หรือสำเนียงเพลง แตกต่างออกไปอีก
การเข้าใจเรื่องนี้ทำให้ผมเข้าใจถึงความสำคัญของการเรียน Harmony , 4 Part Writing , Interval , Counter Point , Jazz Harmony เรื่องยากๆทั้งหมดที่ถูกขัดเกลามาจากวิทยาลัยดนตรี ทั้งหมดทันที ว่าที่เรียนไปทั้งหมดนั้นมันเชื่อมโยงกันยังไง มันเป็นสิ่งเดียวกันและใช้ได้ในดนตรีทุกแนว การเรียนเรื่องตัวโน้ตแบบเข้าใจทุกอณูมันสามารถทำให้เราใกล้ชิดกับดนตรีและละเอียดอ่อนในการเลือกโน้ตเลือกคอร์ด ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของ Melody กับ Chord และมีผลต่อการสร้าง Vibe หรือสำเนียงเพลงที่เราต้องการ ที่เราอยากออกแบบนั่นเอง
ฉะนั้นถ้าคุณอยากรู้ว่า ดนตรีสำเนียงของประเทศนั้นๆ มันทำยังไง ลองแกะและสังเกตมันให้ลึกถึงระดับความสัมพันธ์ของเมโลดี้กับคอร์ดดู ว่าเค้าใช้ท่าไหนบ่อยๆ แล้วจะพบเบาะแสเองครับ
สิ่งที่ทำให้เกิดการเลือกใช้ เมโลดี้ คอร์ด และความสัมพันธ์ของเมโลดี้กับคอร์ด ที่เกิดขึ้นในข้อแรก นั้นมีที่มาอีกทีว่าแต่ละประเทศมีสภาพแวดล้อมบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ หรือเกิดจากพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และวัฒนธรรม
ผมยกตัวอย่างง่ายๆครับ
ญี่ปุ่น – คนถูกปลูกฝังระเบียบวินัยมาดีมาก แต่คนญี่ปุ่นมีความจริงจังในสิ่งที่ทำ และเป็นเจ้ารายละเอียด สามสิ่งนี้หล่อหลอมทำให้ เวลาคนญี่ปุ่นทำดนตรี ก็มี mindset บางอย่างที่เป็นเฉพาะตัว กล่าวคือ รายละเอียดเยอะ ไลน์เยอะ ยิบ แต่ถูกจัดเรียงแบบเป็นระเบียบ และชอบใช้ทางคอร์ดที่รู้สึก Dramatic เพราะเป็นคนจริงจัง
อเมริกา – พื้นที่เยอะกว้างใหญ่ มีอิสระเสรี ตรงไปตรงมา ถ้าสังเกต ดนตรีที่ทำโดยคนอเมริกัน แม้จะแนวเดียวกัน แต่จะรู้สึกถึงความโล่ง แต่หนักแน่น แตกต่างจากญี่ปุ่นแบบชัดเจน และมักใช้ท่าสแตนดาด ที่เรียบง่ายแต่ฟังดูดี ทางเดินคอร์ดไม่ค่อย Dramatic เท่าคนญี่ปุ่น
ฝรั่งเศส – เจ้าแห่งความอาร์ท มองโลกมุมแปลก ชอบประชดประชัน ตลกร้ายเสียดสี – ถ้าใครเคยฟังเพลงฝรั่งเศส ไม่ว่ายุคไหน จะเจอจุดร่วมบางอย่าง คือมีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ความรู้สึกค่อนข้างมาก และมักใช้คอร์ดที่มีความแปลกประหลาด เดาอารมณ์ยากว่าจะมาโทน major หรือ minor กันแน่ มีการเปลี่ยนคีย์ modulation หรือ ยืมคอร์ด แปลกๆมาบ่อยๆ ตลอดเวลา ซึ่งให้ความรู้สึก surreal
ทั้งหมดนี้เป็นการสังเกตการณ์ของผมเอง ซึ่งอาจจะถูกบ้างไม่ถูกบ้าง เพราะแต่ละคนก็อาจมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่เป็นแนวทางในการสังเกตที่ผมยกตัวอย่างไว้ให้
ใครที่สนใจในสำเนียงของดนตรีประเทศไหนลองวิเคราะห์และสังเกตดูด้วยตัวเองได้ครับ อาจพบคำตอบที่แม้แต่ผมเองก็อาจจะยังไม่เคยนึกถึงมุมนั้นมาก่อน
เมื่อมันเกิดการเลือกใช้ตัวโน้ต ที่แตกต่างกัน ที่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมปัจจัยต่างๆแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาเลยคือ ความนิยม การเคยชิน และการสืบทอดวิชาดนตรี
อาจมีท่าบางอย่างในทางดนตรีที่คนในพื้นที่นั้นนิยมใช้ อย่างที่ได้กล่าวไป ท่าบางอย่างพอนิยมใช้กันมากในญี่ปุ่น จนคนทำต่อๆกันมาจนเป็นความเคยชิน กลายเป็นรสชาติแบบหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นั่น และเมื่อเกิดความเคยชิน พอคนรุ่นต่อมาที่เริ่มเล่น หรือเรียนรู้ดนตรี กระบวนท่ายอดนิยมเหล่านั้น ก็จะถูกถ่ายทอดออกมาจากคนรุ่นก่อน สืบต่อไปยังรุ่นต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น ในไทยเอง ผมเชื่อว่า คนดนตรีจำนวนมากเริ่มต้นหัดเล่นดนตรีนั้น หัดจากกีตาร์ ตีคอร์ด และไม่พ้นคอร์ดยอดนิยม C , Dm , F , G7 ราวๆนี้ และอาจเคยเล่นเพลงของ Loso กันมา หรือฝึกเพลง More Than Word นั่นแหละครับ เราทำกันต่อมาจนเป็นวัฒนธรรม จนสำเนียงเพลงแบบนี้คุ้นชินและถูกผลิตซ้ำเมื่อเราโตขึ้น และสืบทอดมันต่อไป
ทีนี้ในกรณีของประเทศอื่น สิ่งที่เค้าเริ่มต้นอาจจะไม่เหมือนเรา ความคุ้นชินที่เป็นคนละอย่างกัน อาจจะมีเซตคอร์ดยอดนิยมที่ติดอยู่ในหัว อยู่ในนิ้ว ไม่เหมือนกัน มีเพลงเริ่มแรกที่ฝึกเล่นไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าสำเนียงจึงต่างออกไป และเค้าก็ชินแบบนั้นของเค้า เป็นวัฒนธรรมการเล่นดนตรีของเค้า เป็นความนิยมที่ คุ้นชิน และสืบทอดต่อมา จนมันเกิดความแข็งแรงของสำเนียงอะไรบางอย่างที่ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตและแยกแยะความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
ดนตรีทุกชาติ ทุกสำเนียงล้วนมีเสน่ห์
บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการด้อยค่า หรือยกย่องดนตรีรูปแบบไหน ชาติไหน หากแต่เป็นการชี้ทางให้กับผู้ที่สนใจในความแตกต่างของสำเนียงดนตรี ดนตรีแต่ละรูปแบบ แต่ละสำเนียง แต่ละชาติ ล้วนมีเสน่ห์ในรูปแบบของตัวเอง ชอบไม่ชอบอยู่ที่รสนิยมเฉพาะบุคคลนั้นๆ เพราะบางคนอยากทำแบบนู้นแบบนี้ได้ แต่ยังไม่เข้าใจว่าต้องทำยังไงถึงจะได้แบบนั้น
ขออภัยหากมีศัพท์เทคนิคมากเกินไปจนไม่เข้าใจ แนะนำให้หาความรู้เพิ่มเติมในโพสต์อื่นๆของเรา หรือถ้าสนใจเรียนทำเพลงระดับลึกจนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เจอกันในคลาส The Real Producer ได้ครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ
หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :
Tel. : 0856662425
Website : verycatsound