flipper's guitar

Flipper’s Guitar จุดเริ่มต้นของ Cornelius ผู้บุกเบิกดนตรีย่าน ชิบุยะ

Share via:

Krissaka Tankritwong

     Flipper’s Guitar คือชื่อของ วง Duo ญี่ปุ่น จากโตเกียว ที่โด่งดังในฐานะผู้บุกเบิกกระแสดนตรี สไตล์ ชิบุยะ ให้โด่งดังในยุค ’90 เคียงคู่กับ Pizzicato Five โดยวงนี้มีสมาชิกดั้งเดิมทั้งหมด 5 คน (ซึ่งต่อมาเหลือแค่ 2 คน) เป็นวงดนตรีในแนว Neo-Acoustic ที่มีการนำซาวด์แบบดนตรีตะวันตกหลากหลายแนว อาทิ Bossanova , Burt Bacharach ,British 80s guitar pop , Indie Dance, Acid Jazz, Swinging 60s London, การทดลองดนตรี ในแบบของ Brian Wilson , ภาพยนตร์ฝรั่งเศส , Psychedelia ฯลฯ

    ถ้าพูดถึงวงนี้ ก็คงต้องพูดถึงบุคคลสำคัญที่เป็นแกนกลางของวง ผู้ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดของวงการดนตรี ชิบุยะ เคย์ และ อินดี้ญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “Cornelius” หรือชื่อจริงคือ “Keigo Oyamada” โดยเราจะเห็นความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีมากมายของเขาที่ปรากฎออกมาทางการเรียบเรียงดนตรีที่พิถีพิถัน ที่มีทิศทางไปในการทดลองนำส่วนผสมใหม่ๆ มาประกอบขึ้นในโครงสร้างแบบเพลง pop อยู่เสมอ ในงานของ Flipper’s Guitar นั้นเขากล่าวว่า ได้รับอิทธิพลจาก “3B” นั่นคือ “Beck , The Beatles และ The Beach Boys” วันนี้เรามาย้อนดูอดีตของเขากันว่า ก่อนจะมาเป็น Cornelius นั้น วงดนตรีที่เป็นจุดก่อกำเนิดอย่าง Flipper’s Guitar นั้นมีที่มา ผ่านร้อนหนาวอะไรมาบ้าง


เชิญรับฟัง playlist ของ Flipper’s Guitar เพิ่มอรรถรสการเสพย์บทความได้เลยครับ

flipper's guitar

Kenji Ozawa และ Keigo Oyamada สองหนุ่ม Flipper’s Guitar

จุดเริ่มต้นจาก Peewee’60s ถึง Lollipop Sonic

    Keigo Oyamada (Cornelius ในปัจจุบัน ตำแหน่ง ร้องนำ และกีตาร์) แกนนำของวง ในช่วงที่เรียนอยู่ Junior high school ร่วมกับ Yukiko Inoue (คีย์บอร์ด) ได้เริ่มต้นสร้างวงดนตรีของตัวเอง ในชื่อ “Peewee’60s” ในโตเกียว ปี 1987 จนได้พบกับ Kenji Ozawa (เป็นหลานชายของ Seiji Ozawa เป็น Conductor ชาวญี่ปุ่น เขามีตำแหน่งในวงคือ กีตาร์) และ Yoshida Shusaku (เบส) และ Yasunobu Arakawa (กลอง) เข้ามาร่วมวง และได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น “Lollipop Sonic” (ฟังตัวอย่างเพลงที่เคยแนะนำไปได้ที่โพสต์ เจาะลึกประวัติศาสตร์ดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Shibuya-kei ตอนที่ 1 : ยุคก่อนกำเนิด)

    เริ่มจากการทำดนตรีกันเอง อัดเอง ทำเป็นเดโม่ ลง tape cassette ขายเอง ในแบบ production คุณภาพเสียงต่ำ แต่ด้วยความโดดเด่นของลักษณะดนตรี neo-acoustic ที่ไม่เหมือนใครในช่วงนั้น จึงทำให้เป็นที่สนใจของบรรดานิตยสาร จนกระทั่งไปถูกใจ เข้าตา Yoshida Zin แห่งวง Salon Music เข้า โยชิดะจึงตกลงปลงใจช่วย produce อัลบั้มแรกให้ โดยมีข้อเสนอว่าต้องเปลี่ยนชื่อวง ซึ่งนั่นก็คือที่มาของ วงดนตรีต้นกำเนิดแนว Shibuya-Kei ในตำนานอย่าง “Flipper’s Guitar” นั่นเอง

lollipop sonic

Lollipop Sonic กับสมาชิก 5 คนดั้งเดิม ก่อนจะเป็น Flipper’s Guitar เก่าจนรูปหายากมาก

 

Flipper’s Guitar ตำนานผู้บุกเบิกวงดนตรี Shibuya-kei วงแรกของโลก  

อัลบั้มแรก : Three Cheers for Our Side

ไร้กำไร แต่ซื้อใจคนฟัง

    25 สิงหาคม ปี 1989 Flipper’s Guitar ได้ออกอัลบั้มแรกที่ชื่อว่า “Three Cheers for Our Side” โดยการเขียนเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษของ Ozawa ในแนว Neo-acoustic ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากในช่วงเวลานั้น (โดยได้รับอิทธิพล จากวงดนตรีเหล่านี้ คือ the Boy Hairdressers , Aztec Camera , Haircut 100, The Monochrome Set) โดยได้นำเพลงจากสมัยตอนเป็นวง Lollipop Sonic บางส่วน มาอัด มิกซ์ และมาสเตอร์ใหม่ ให้มีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น และเพิ่มเพลงใหม่เข้าไปอีกบางส่วน

    แม้อัลบั้มนี้จะล้มเหลวทางการตลาด แต่ถือเป็นอัลบั้มในตำนานอีกหนึ่งอัลบั้มที่ครองใจคนฟัง มีเพลงเด่นๆมากมาย อาทิ เช่น Coffee-milk crazy, Exotic Lollipop เป็นต้น โดยค่าย Smallroom ของไทย ก็เคยทำอัลบั้ม Smallroom 006 tribute to Flipper’s Guitar โดยให้ศิลปินสมอลรูมนำเพลงของ FG ไป cover ในแบบของตัวเอง ซึ่งส่วนมากก็เป็นเพลงเด่นๆที่น่าจดจำจากอัลบั้มแรกนี้เอง (ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ในโพสต์ มารู้จักกับ Shibuya-kei ย่านถิ่นกำเนิดดนตรีมุ้งมิ้ง)

flipper's guitar

ปกอัลบั้มแรก “Three Cheers for Our Side”

อัลบั้มที่ 2 : Camera Talk

สำเร็จดังพลุแตก และการบุกเบิก

    ต่อมา สมาชิกในวงถูกลดเหลือเพียงแค่ 2 โดยมีข่าวลือว่า เกิดจากโปรดิวเซอร์ของ Polystar เห็นว่า คนที่เป็นหัวหอกและหน้าตาของวงจริงๆแล้วมีแค่ Kenji Ozawa กับ Keigo Oyamada เท่านั้น (อีกทฤษฎีกล่าวว่า โอซาว่านั้นทำงานกับคนอื่นยาก อีกสามคนจึงลาออก)  ทางค่ายได้จับสองหนุ่มแต่งตัวซะใหม่ โดย present ความเป็น pop idols มากขึ้น และเริ่มทำเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้เข้าถึงผู้ฟังชาวญี่ปุ่นมากขึ้น

    พวกเขาได้รับความสำเร็จครั้งใหญ่เมื่อซิงเกิลภาษาอังกฤษ Friends Again ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ดัง ชื่อ Octopus Army – Shibuya de aitai! เมื่อต้นปี 1990 ซึ่งเพลงเพลง Friends Again นั้นดังถึงขนาดที่ว่า ค่าย Bakery Music ของไทย ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลทำเป็นเพลงภาษาไทย ให้กับศิลปินในค่ายในตอนนั้น คือเพลง “กะหล่ำปลีชีช้ำ” ของ Joey Boy นั่นเอง (เคยกล่าวไว้ในโพสต์ มารู้จักกับ Shibuya-kei ย่านถิ่นกำเนิดดนตรีมุ้งมิ้ง)

    ต่อมาในปีเดียวกัน ซิงเกิลที่สอง ที่มีกลิ่นอายแบบ ซาวด์แทรคหนัง Italy ชื่อ Young Alive in Love นั้นประสบความสำเร็จอีก และได้กลายเป็นเพลงประกอบ tv series ยอดนิยมในขณะนั้น ชื่อ Youbikou Bugi (Cram-school Boogie)

    ไม่นานนัก พวกเขาก็พร้อมสำหรับอัลบัมเต็มอัลบั้มที่สอง ที่มีเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด และมีแนวทางดนตรี pop ในแบบใหม่ของตัวเอง ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยมีส่วนผสมของความเป็น Bossanova , Latin, Vocal jazz, House และซาวด์แบบหนังสายลับ โดยอิทธิพลจากดนตรีอังกฤษก็ยังคงอยู่ ซึ่งอัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

    ในช่วงเวลานี้เอง วงการดนตรีอินดี้ของญี่ปุ่นจะพบศิลปินจำนวนหนึ่งที่ได้รับความนิยม และมียอดขายติดอันดับในร้าน HMV Shibuya โดยจะสังเกตเห็นได้ถึงจุดร่วมบางอย่างทางดนตรีในวงเหล่านี้ คือมีความสนใจในการใช้ซาวด์ดนตรีจากตะวันตกในหลายๆรูปแบบ โดยสื่อได้จำกัดความศิลปินเหล่านี้ว่าเป็นแนว “Shibuya-Kei” หรือดนตรีจากย่านชิบุย่า นั่นเอง (ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตัวศิลปินเองไม่เคยจำกัดความตัวเองว่าเป็นอะไรหรอก แต่สื่อมาใช้เรียกเอาเอง เพื่อใช้จำกัดความดนตรีรูปแบบนี้ที่มีซาวด์ที่มีรสนิยมมากกว่าดนตรี pop ในตลาดกว้างตอนนั้น)

flipper's guitar

ปกอัลบั้มที่สอง “Camera Talk”

อัลบั้มที่ 3 : Doctor Head’s World Tower

จุดจบเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

    หนึ่งปีหลังจากความฮิตของ Camera Talk นั้น Flipper’s Guitar เปลี่ยนทิศทางทางดนตรีอีกครั้ง โดยเอาความ Pop ที่ฟังง่ายออก โดยได้รับอิทธิพลซาวด์แบบ psychedelic มาใช้ในอัลบั้มที่ 3 “Doctor Head’s World Tower” (ชื่ออัลบั้มมาจาก the Monkees หนัง ปี 1968) โดยได้มีการทดลองเอาแซมเปิ้ลเสียงมาจากบทพูดในหนัง

    แต่หลังจากนั้นไม่นาน เพียงสามเดือนต่อมา เมื่อ 29 ตุลาคม 1991 Flipper’s Guitar ประกาศแยกวงอย่างไม่คาดฝัน Oyamada กับ Ozawa ไม่คุยกันอีกเลย โดยมีข่าวลือว่าแย่งผู้หญิงคนเดียวกัน (แต่มีอีกข่าวนึงมาจากปากของคนวงใน บอกว่าเป็นแค่การปกปิดสาเหตุที่แท้จริง ที่จริงคือ มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างแสดงสดที่มีการใช้อุปกรณ์เปิดเสียง Sample ตอนแสดงสด แล้วออกมาไม่ดี เป็นบ่อเกิดให้ทะเลาะผิดใจกันครั้งใหญ่ระหว่างทั้งคู่)

    ปลายปี 1991 ตำนานของ Flipper’s Guitar ได้ถึงกาลอวสาน เพียง 3 อัลบั้ม แต่ซาวด์แบบ Shibuya-Kei นั้นถือว่าเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น โดยช่วงปลายยุค ’80 นี้เอง เพราะความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขาย และผลงานที่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ไมีวงดนตรีหน้าใหม่ในแนวนี้ผุดขึ้นมาเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด และพวกเขาได้ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก ผู้เปิดประตูวัฒนธรรมอินดี้สู่โลกเมนสตรีมให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

flipper's guitar

ปกอัลบั้มที่สาม “Doctor Head’s World Tower”

หลังจากการแยกวง

    Kenji Ozawa ไปทำดนตรี J-pop mainstream โดยเลิกยุ่งเกี่ยวกับวงการเพลงอินดี้ญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ได้ทำเพลงฮิตในวงการ j-pop มากมาย และมีแฟนจำนวนหนึ่งที่ยังคงติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น ก่อนที่จะหายไปใช้ชีวิตใน New York  ล่าสุดเคยเห็นเขายังคงทำอัลบั้มเดี่ยวอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งงานในปัจจุบันก็ไม่ได้รู้สึกว่า mainstream อะไรมากมาย เพียงแต่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นๆในวงการชิบุยะเคย์เท่านั้นเอง

    ส่วน Keigo Oyamada ได้ร่วมงานกับศิลปินอื่นในสาย Shibuya-kei อาทิ Pizzicato Five, Kahimi Karie และมีผลงานมากมายในฐานะ Producer ที่ทำค่ายเพลงของตัวเอง และยังคงทำผลงานของตัวเองมาถึงปัจจุบันในชื่อ Cornelius ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ความเป็นผู้นำทางดนตรีหัวก้าวหน้าอยู่เสมอ และกลายเป็นดั่งแกนกลางของดนตรีชิบุยะเคย์ และเป็นเทพเจ้าของวงการเพลงอินดี้ญี่ปุ่นไปแล้ว ในโพสต์ต่อๆไป เราจะมาเจาะลึกเรื่องราวของเขา ในฐานะ Cornelius กันต่อนะครับ

ที่มา
http://members.jcom.home.ne.jp/tfg2001/fgabio1.htm
http://en.wikipedia.org/wiki/Flipper%27s_Guitar
http://www.allmusic.com/artist/flippers-guitar-mn0002070179/biography
http://www.monitorpop.com/cornelius_old/flippers.html

Flipper's Guitar

Flipper’s Guitar ในวัยเยาว์

 

Kenji-Ozawa

Kenji Ozawa กับผลงานเดี่ยวของตัวเอง

 

Keigo Oyamada

Keigo Oyamada ผู้ซึ่งกลายมาเป็น Cornelius เทพของวงการอินดี้ญี่ปุ่น

พบกับเรื่องราวเจาะลึกดนตรีสนุกๆ เหล่านี้ได้ที่นี่ VERYCATSOUND.COM

Comments (1)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.