Nakata Yasutaka

Yasutaka Nakata สุดยอดโปรดิวเซอร์เบื้องหลัง Perfume , Kyary Pamyu Pamyu

Share via:

Krissaka Tankritwong

 

    ถ้าเป็นนักฟังเพลง ที่ติดตามวงการอินดี้ญี่ปุ่น ต้องเคยได้ยินชื่อเขา หรือไม่ต้องอินดี้หรอก.. เพราะตอนนี้มันเป็นยุคที่เพลงญี่ปุ่นกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง และสำเนียงทางดนตรีที่เค้าสร้างไว้ก็ถูกยอมรับในวงกว้างและโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว อาทิ วง Perfume ที่เป็นเหมือนตัวแทนของ J-pop ในเวทีโลกอย่าง Coachella นั่นก็คือฝีมือการโปรดิวซ์ของเขานั่นเอง

“Yasutaka Nakata” สุดยอดโปรดิวเซอร์

ที่โด่งดังในดนตรี Techno/Electro Pop กลิ่นอายญี่ปุ่น (หลายคนเรียกว่าเป็น Daft Punk แห่งญี่ปุ่น) โดยเป็นผู้นำกระแส Neo-Shibuya-kei มาเผยแพร่ครองแผ่นดิน J-pop mainstream ในปัจจุบันได้สำเร็จในที่สุด

ขออธิบายคร่าวๆสักนิดนะครับ เพราะหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แยกแยะแนวดนตรีบางคำ อาทิเช่น คำว่า Shibuya-kei มันเป็น scene หรือกลุ่มศิลปินกลุ่มหนึ่งที่มีแนวทางและซาวด์ที่เฉพาะตัว โด่งดังในยุค ’90 และปิดฉากตัวเองตอนขึ้นยุค 2000 แนวดนตรีนี้จะมีคาแรกเตอร์แบบ ล้ำสมัย เป็นครั้งแรกของดนตรีญี่ปุ่นที่มีความผสมผสานดนตรีตะวันตกหลากหลายแนว หลายยุคสมัยเข้ากับความเป็น J-pop โดยแนวนี้ถูกเรียกว่า Shibuya-kei (เคย์นั้นแปลว่า เขตหรือแนวก็ได้) เนื่องจากสะท้อนภาพลักษณ์ความ (โอ-ชา-เระ) หรือความโก้เก๋ของคนในย่าน Shibuya ในยุคนั้น

หลังจากที่กระแส Shibuya-kei มันได้ตายไปหลายปี เพราะวงดนตรีที่เป็น iconic อย่าง Pizzicato Five ยุบวงไปในปี 2000 จนไม่คิดว่าจะมีใครโดดเด่นขึ้นมา ก็มีเขานี่แหละที่ชุบชีวิตสร้างชีวิตชีวาให้กับวงการ เป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้ซาวด์แบบ Neo-Shibuya-kei กลายเป็นกระแสหลัก และได้รับการยอมรับในวงกว้างจากคนทั้งโลก นักวิชาการทางดนตรีหรือคอลัมนิสต์ในญี่ปุ่นนั้นขนานนามมันว่า Neo-Shibuya-kei ซึ่งหมายถึง การทำ “เอาอย่าง” พวก Shibuya-kei หรือการมี Shibuya-kei ดั้งเดิมเป็นต้นแบบ แต่นำกลับมาชุบชีวิตขึ้นใหม่ และพัฒนาไปมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยการทำงานหนักอย่างมากหลายปีของเขา จากวง Capsule วงอินดี้เล็กๆ ที่คนดูโหรงเหรง ไม่ค่อยมีคนสนใจ ตอนต้นยุค 2000 (อ่านเรื่องของ Capsule เพิ่มเติมได้ที่ Link ) ตอนนี้กลายเป็นโปรดิวเซอร์ที่ประดิษฐกรรมทางดนตรีที่เขาสร้างขึ้นอย่าง Perfume และ Kyary Pamyu Pamyu นั้นดังข้ามโลก สู่หูผู้ฟังกระแสหลัก จนทะลุกรอบคำว่าอินดี้ หรือ ชิบุยะไปแล้ว ผมเชื่อว่า นอกจากผม ที่เป็นแฟนอันยาวนานมาตั้งแต่สมัย Capsule ยังไม่ดัง ณ ตอนนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถวายตัวเป็น “ติ่ง” ของเฮียแกเรียบร้อยหมดหัวใจไปแล้ว วันนี้เรามารู้จักเขากันให้มากขึ้นกัน

ประวัติโดยย่อ

Yasutaka Nakata ( 中田 ヤスタカ )
เกิด วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1980 ที่ Kanazawa จังหวัด Ishikawa
เขาเป็น Songwriter, Music Producer และ DJ มีผลงานวงดนตรีของตัวเองคือ Capsule ร่วมกับ Toshiko Koshijima ตั้งแต่ปี 1997

Nakata Yasutaka

Nakata Yasutaka

วัยเด็กของ นากาตะ

เขา เรียนเปียโนคลาสสิคตั้งแต่ยังเด็ก และเริ่มโตขึ้นหน่อยก็สนใจในดนตรีมาก โดยแถวๆบ้านเขามีร้านแผ่นเสียงจากตะวันตกที่เขาชอบไปคลุกคลี ซื้อหามาฟังบ่อยๆ โดยเฉพาะพวก CD dance music และช่วงนั้นเขามีโปรดิวเซอร์เจป๊อปอย่าง Komuro Tetsuya เป็นฮีโร่ในใจ (โคมุโระ เป็นคนแรกในญี่ปุ่นที่นำเสนอดนตรีเต้นรำสู่ J-pop mainstream เป็นวงกว้าง)

พอเริ่มเข้า Junior high school เขาเริ่มรู้สึกว่า การเล่นเครื่องดนตรีชิ้นเดียวมันจำกัดจินตนาการเกินไป เลยเริ่มลงทุนกับการซื้อหาอุปกรณ์ดนตรีด้วยตัวเอง และเล่นพวกดนตรีสังเคราะห์ที่สร้างสีสันอย่าง Synthesyser ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาคลั่งไคล้การทำดนตรีมาก เป็นงานอดิเรกที่ติดหนึบ ต้องรีบกลับจากโรงเรียนมาทำเพลงทุกวัน จะหิวก็ทำเพลง จะง่วงก็ทำเพลง มันเป็นความหมกมุ่นที่มีแสนสุขตอนนั้น

แต่ใช่ที่บ้านจะสนับสนุน โดยเขามีผู้ปกครองที่ค่อนข้างเข้มงวด ที่ขู่ว่า ถ้าเกรดตก จะโยนอุปกรณ์ดนตรีพวกนั้นทิ้งไปในสวนให้หมด! เขาจึงต้องตั้งใจเรียนอย่างมาก เพื่อปกป้องงานอดิเรกสุดรักของเขาเอาไว้

พอเข้าช่วงวัยรุ่น เริ่มสนใจใน World music และเริ่มซื้อเครื่องไม้เครื่องมือในการทำดนตรีเพิ่ม เขารวมตัวกับเพื่อน สร้างวงดนตรีขึ้นมาเพื่อประกวดงานของ Yamaha และเล่นเพลงที่ตัวเองแต่งในวัย 16 ปี จนชนะรางวัล 1 ใน 6 ในที่สุด

จุดเริ่มต้นของ Capsule และ Perfume

1 ปี ต่อมา เขาถึงพบกับ Toshiko ที่งาน Hokuriku Teen’s Music Festival โดยทั้งคู่มีเคมีทางดนตรีที่ตรงกัน และเขากำลังสนใจหานักร้องมาร้องให้กับโปรเจคดนตรีส่วนตัวของเขาพอดี จึงเริ่มสร้างวง Capsule ขึ้นมา โดยความช่วยเหลือของค่าย Yamaha จากคอนเนกชั่นที่เขาเคยชนะประกวดมา เริ่มสร้างเพลง และออกเล่น live ตามที่ต่างๆ

จากนั้น ในปี 1998 เขาต้องพักการทำวงกับ Toshiko ไว้ชั่วคราว เพราะการเข้าไปเรียนต่อที่ Tokyo School of Music (โดย Toshiko ยังอาศัยและทำงาน part-time อยู่ที่ Kanazawa) ซึ่งในช่วงนั้นเองเขาได้สร้างงานร่วมกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน คือ Emi Kinoko ในชื่อวง SYNC⇔SYNC

วงนี้ ไม่ได้ออกผลงานอย่างเป็นทางการกับค่ายไหน เขาเพียงปล่อยให้โหลดฟรีในเวบไซต์ส่วนตัวของเขาในช่วงนั้น ซึ่งต่อมามันถูกคนจากค่าย Mainstream ไปค้นพบ และทาบทามวง ให้มาทำดนตรีให้ นั่นคือ วงนี้เป็นวงต้นแบบของ pop idol ชื่อดังแห่งยุค Perfume นั่นเอง
(นั่น เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม Emi Kinoko ถึงมีชื่อเครดิต เป็นคนแต่งเนื้อร้องของ Perfume ด้วย ก่อนที่ในช่วงหลัง นากาตะ จะทำเองทั้งหมด)

หลังจากเรียน จบ และโทชิโกะ ย้ายมาอยู่โตเกียว จึงเป็นเวลาประจวบเหมาะที่จะสานต่อสิ่งที่ทั้งคู่ร่วมสร้างกันไว้ และเรื่องราวของ Capsule ก็เริ่มขึ้นหลังจากนั้น (อ่านเรื่องของ Capsule เต็มๆได้ที่ link นี่ : CAPSULE ผู้นำกระแส Neo-Shibuya ที่ยืดหยัดจนโด่งดังไปทั่วโลก )

Capsule

Yasutaka Nakata กับ Toshiko Koshijima ใน live ของ Capsule

โปรดิวเซอร์มือทองงานชุก กับสารพัดโปรเจค

นอกจาก Capsule แล้ว เขายังเป็น Producer ให้กับศิลปิน mainstream J-POP อย่าง “Perfume” (ดังที่กล่าวไป) ตั้งแต่ปี 2003 และศิลปินเดี่ยว “Kyary Pamyu Pamyu” ตั้งแต่ปี 2011 โดยนอกเหนือไปจากสองศิลปินนี้ เขายังมีผลงานร่วมกับศิลปินป๊อปญี่ปุ่นอีกประปราย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อย่าง MEG, Ami Suzuki และ SMAP และผลงานรีมิกซ์ให้กับศิลปินอย่าง M-Flo และ Leah Dizon เป็นต้น และเป็นคนญี่ปุ่นคนที่สอง รองจาก Towa Tei ที่ได้รีมิกซ์ให้ศิลปินระดับโลกอย่าง Kylie Minogue (Get Outta My Way)

Contemode คือชื่อค่ายเพลงของเขาเอง ในการสนับสนุนจากบริษัท Yamaha ซึ่งในค่ายนี้เขายังมีศิลปินในสังกัดที่เขาทำเพลงให้ คือ Kate Sakai นางแบบ, แฟชั่นดีไซเนอร์ ที่ใช้ชื่อศิลปินว่า Coltemonikha และศิลปินอื่นๆในค่าย อาทิ Nagisa Cosmetic , COPTER4016882 เป็นต้น

ผลงานเด่นๆ ในช่วงหลังคือ การทำเพลงประกอบการ์ตูน Animation ONE PIECE FILM Z movie และเพลงประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวูด Star Trek into Darkness ของ J.J. Abrams ร่วมกับ Kyary Pamyu Pamyu โดยล่าสุดกำลังจะมีผลงานทำเพลงให้กับ การฉลองครบรอบ 35 ปี Gundam ในเพลง “G35” (ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2014)

การพบกันกับ Kyary Pamyu Pamyu

ใน ปี 2010 วันที่ Capsule ไปเล่นที่งาน fashion event “Harajuku Collection” เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับนางแบบแฟชั่นฮาราจูกุ อย่าง kyary ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ เขากำลังมีความคิดในการสร้าง idol ที่เป็น fashion icon ของ Harajuku ด้วยความหลงใหลส่วนตัวในแฟชั่น และย่านฮาราจูกุของตัวเขาเอง การพบกันครั้งนั้นจึงเป็นความบังเอิญที่ถูกที่ถูกเวลา เป็นโชคชะตาที่ทำให้เกิด Kyary Pamyu Pamyu ที่ดังกระฉ่อนทุกวันนี้นี่เอง

ภาพถ่ายกับ Kyary Pamyu Pamyu

ภาพถ่ายกับ Kyary Pamyu Pamyu

ผู้นำจัดแรงกระเพื่อมทางดนตรี

นอกจาก การ produce ให้กับหลายศิลปิน และทำค่ายเพลงของตัวเองแล้ว เขายังสร้างกลุ่มก้อน ความเคลื่อนไหวทางดนตรี Electronic ของตัวเอง โดยจัด Event งานดนตรี ที่เป็นงาน live music performance โดยรวมดีเจหน้าใหม่ๆ (รวมถึงตัวเขาเอง, Capsule และบางครั้งก็มี Kyary มาแจมด้วย) ตามคลับในย่านฮิพๆ ในโตเกียว อย่างเช่น ชิบุยะ, ฮาราจูกุ, ชินจูกุ ฯลฯ อยู่หลายครั้ง หลายงาน ในชื่อ Contemode Saloon , TAKENOKO!!! และล่าสุดคือ FLASH!!!

สไตล์การทำงานที่แตกต่าง

ถ้า ใครสังเกต Oricon chart (จากที่นี่ http://en.wikipedia.org/wiki/Yasutaka_Nakata ) ของแต่ละอัลบั้มที่เขาทำ จะพบว่า แทบทุกอัลบั้มที่เป็นศิลปิน Mainstream อย่าง Perfume หรือ Kyary Pamyu Pamyu นั้น ขึ้นอันดับ 1 ทั้งหมด แต่ในขณะที่อัลบั้มของ Capsule เองนั้น ได้อย่างมากสุดคือ ที่ 3 (World of Fantasy) คงเพราะด้วยลักษณะทางดนตรีที่เขาแยกกันออกชัดเจนระหว่างการทำงานดนตรีแบบ Mainstream กับวง Capsule ของเขาเองที่เป็น indie ซึ่งมันเป็นการบอกได้ว่า เขาได้แยก Characteristic ของดนตรี ในการทำงาน โดยวง Capsule ยุคใหม่จะเน้นไปทาง Techno beat หนักๆ ส่วนสไตล์มุ้งมิ้งๆ เหมือน Capsule แบบเก่าๆ จะยังอยู่กับศิลปิน J-POP idol อย่าง Perfume กับ Pamyu

ในช่วงความสูญเสีย หลังเหตุการณ์สึนามิ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ได้ต้องการสื่อสารสิ่งใดในดนตรีของผม ผมเพียงต้องการสร้างดนตรีที่สนุก เพื่อหลีกหนีจากความจริง เพราะฉะนั้น ผมจะทำสิ่งเดิมเหมือนที่เคยทำต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง”

เขายังคงทำสิ่งเดิมอย่างที่พูดจริงๆ ขยันออกผลงานมากมายทั้งในชื่อของ Capsule และการร่วมงานกับศิลปินอื่นๆ โดย MEG นางแบบสาวอีกคนที่เขา Produce งานให้ เคยแยกการทำงานกันอยู่พักหนึ่ง เนื่องจาก นากาตะทำงานเร็วมาก โดยอัลบั้ม MAVERICK ของเธอนั้น นากาตะใช้เวลาทำและอัดเพียง 3 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เธอไม่ค่อยพอใจในผลงาน เพราะเธออยากให้เวลากับมันมากกว่านี้ ซึ่งนากาตะนั้นอาจจะขยันทำงานให้เสร็จเร็วมากเกินไปจนมีจังหวะการทำงานที่ ขัดแย้งกันอยู่บ้าง (แม้ในช่วงหลัง MEG เองก็กลับมาทำงานกับนากาตะเหมือนเคย เพราะติดใจในฝีมือ)

ในปี 2012 เขาได้รับรางวัล Change makers of the Year อันเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการ เขากล่าวว่า

“ผมไม่คิดว่า ผมสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก แต่ผมอยากสนับสนุนคนที่คิดว่าเขาทำได้ เมื่อคุณอยากจะสร้างอะไรสักอย่างให้เป็นอย่างที่คุณอยากให้มันเป็น แต่สิ่งแวดล้อมมันไม่อำนวยให้คุณสร้างสรรค์ให้โลกเป็นแบบที่คุณฝันไว้ ซึ่งผมรู้ว่ามันยากมาก แต่เมื่อคุณเริ่มสามารถบาลานซ์มันได้ จะมีสิ่งงดงามบางสิ่งบางอย่างผลิดอกเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน การยอมล้มเลิกที่จะสร้างสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ นั่นหมายถึง ชีวิตคุณได้แพ้แล้วจริงๆ”

จุดสูงสุดของความสำเร็จ

ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ Yasutaka ประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะนอกจากรางวัลที่กล่าวไป เขายังได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา Best Music Arragement หรือ เรียบเรียงดนตรียอดเยี่ยม อีกถึงสองครั้ง จาก The Japan Record Awards นั่นคือเพลง “Tsukema Tsukeru” ศิลปิน Kyary Pamyu Pamyu และเพลง “Spice” ศิลปิน Perfume ในปี 2012 และอีกครั้งในปี 2017 ในเพลง “Harajuku Iyahoi” และ “Easta” ของ Kyary Pamyu Pamyu เช่นเดียวกัน

ปี 2018 นากาตะได้ปล่อย Solo อัลบั้มเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรก ในชื่อเต็มของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากครั้งก่อนๆที่เป็นชื่อวง Capsule หรือเป็นเพลงของศิลปินคนอื่นๆ นั่นคืออัลบั้ม Digital Native ซึ่งอิงกระแส Kawaii Future Bass อย่างชัดเจน และถูกยอมรับจากศิลปินรุ่นน้องว่าเป็นเหมือน Godfather ของดนตรีแนวนี้ในญี่ปุ่น

ผลงานล่าสุดของนากาตะคือ อัลบั้มใหม่ของ Capsule ในชื่อ Metro Pulse ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสดนตรีอิง ’80 อย่างชัดเจน นั่นคือความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่หลังจากนั้น เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่ยังไม่มีผลงานชิ้นใหม่ออกมา ซึ่งถือว่าค่อนข้างผิดวิสัยกับโปรดิวเซอร์สุดขยันที่ออกผลงานต่อเนื่องหัวปีท้ายปีมาตลอดระยะเวลา 20 ปีกว่าที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2001

ณ ปัจจุบัน ปี 2024 ถ้านับรวมทุกผลงาน ทั้งงานวงของตัวเอง ,งานเดี่ยวในฐานะศิลปิน และงานที่ Produce ให้ศิลปินอื่นๆ ที่นากาตะได้สร้างสรรค์อัลบั้มขึ้นมา มีทั้งหมด 35 อัลบั้มเต็ม มีจำนวนเพลงร่วม 300-400 เพลง และมีถึง 10 อัลบั้ม ที่ขึ้นชาร์ต อันดับ 1 ของ Oricon ที่ญี่ปุ่น เป็นของ Perfume 8 อัลบั้ม และ Kyary Pamyu Pamyu 2 อัลบั้ม นับเป็นศิลปิน-โปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นระดับแนวหน้าอีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด อยู่บนจุดสูงสุดของแนวดนตรีของตัวเอง จนถูกยกย่องเทียบเคียงว่าเป็นเหมือน Ryuichi Sakamoto ในรุ่นปัจจุบันได้เลย

ใครสนใจอยากติดตามประวัติของเขาอย่างละเอียดยิบๆ เข้าไปดูได้ที่เวบแฟนไซต์ http://fuckyeahystk.tumblr.com/

ร่วมพูดคุยกับกลุ่มคนรักดนตรีชิบุยะ และอินดี้ญี่ปุ่น ได้ที่ FB Group : “Shibuya-kei Thailand

ภาพถ่ายกับ MEG นางแบบสาว (คนกลาง)

ภาพถ่ายกับ MEG นางแบบสาว (คนกลาง)

ปกนิตยสาร (ถูกยกย่องให้เทียบเคียง Ryuichi Sakamoto เชียวนะ)

ปกนิตยสาร (ถูกยกย่องให้เทียบเคียง Ryuichi Sakamoto เชียวนะ)

ลุคกวนๆ กับ Toshiko Koshijima

ลุคกวนๆ กับ Toshiko Koshijima

นากาตะ ,โทชิโกะ และสาวๆ Perfume

นากาตะ ,โทชิโกะ และสาวๆ Perfume

นากาตะ กับสตูดิโอของตัวเอง

นากาตะ กับสตูดิโอของตัวเอง

Comments (155)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.