ในการทำเพลงหรือที่เรียกว่า Music Production นั้น ที่จริงแล้วมีขั้นตอนยิบย่อยอยู่หลายขั้นตอน แต่ในภาพรวมที่สุดเราสามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ ได้ 3 ขั้นตอน ที่เราควรแยกแยะมันออกมาให้ได้ในฐานะโปรดิวเซอร์หรือผู้ที่สนใจการทำเพลงทำดนตรี เพราะปัญหาที่เจอบ่อยคือเวลาสื่อสารกันแล้วไม่เข้าใจว่างานส่วนไหนอยู่ในขั้นตอนไหน ทำให้การทำงานนั้นสับสนและเข้าใจได้ไม่ตรงกัน จนเกิดเป็นปัญหาได้ผลงานออกมาได้ไม่ดีอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ว่าการทำงานกับลูกค้า กับศิลปิน นักร้อง นักดนตรี กับคนดนตรีด้วยกันหรือกับบุคคลทั่วไปก็ตาม
บุคลากรทางดนตรีที่ทำหน้าที่ในขั้นตอนแรก เรียกว่า นักแต่งเพลง (Song Writer) หน้าที่ของนักแต่งเพลง คือการประพันธ์ (Compose) หรือการแต่ง ทั้งเนื้อร้อง (Lyric) และเมโลดี้ทำนองหลักของเพลงขึ้นมา เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเพลงสำหรับนำไปเรียบเรียงเครื่องดนตรีต่อ ซึ่งสไตล์ของการทำงานของนักแต่งเพลงแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน บางคนอาจทำ demo ส่งร้องไกด์ไปเป็นร้องเนื้อเพลงที่มีเมโลดี้ทำนองแล้วเปล่าๆ แบบไม่มีดนตรี ส่วนบางคนเล่นกีตาร์ก็อาจจะตีคอร์ดกีตาร์ลงไปด้วย บางคนเล่นเปียโนก็อาจจะเล่นเปียโนประกอบไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น หัวใจหลักของเพลง ซึ่งคือ เนื้อร้องกับทำนองหลัก คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องโฟกัสในขั้นตอนแรก ก่อนจะส่งไปกระบวนการต่อไปครับ โดยนักแต่งเพลง ควรมีคุณสมบัติในการร้องหรือเล่นเครื่องดนตรีระดับหนึ่ง และมีฝีมือและลีลาภาษาในการเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ และมีความคิดสร้างสรรค์
เมื่อเราได้โครงเพลงที่ไพเราะและแข็งแรงแล้วจากขั้นตอนแรกมา จึงจะส่งไปสู่ขั้นตอนที่สอง นั่นคือการทำดนตรี หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ การเรียบเรียงเสียงประสาน หรือการเรียบเรียงดนตรี (Music Arrangement) โดยคนที่ทำในส่วนนี้จะเรียกว่า นักเรียบเรียงเสียงประสาน (Music Arranger) โดยรับหน้าที่ รับเพลงมา design ตัวโน้ตดนตรีทั้งหมดใส่ลงไปในเพลงจนครบทุกเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น กีตาร์ กลอง เบส คีย์บอร์ด ฯลฯ ซึ่งอาจมีลีลาที่แตกต่างกันไปหรือการเปลี่ยนแปลงคอร์ดหรือโครงสร้างบางส่วนจากตัว Compose ตั้งต้นของเพลงเพื่อให้เข้ากับแนวดนตรีที่ได้ตกลงกัน นักเรียบเรียงเสียงประสานมักเป็นตำแหน่งที่คนต้องการ แต่คนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร และมักถูกเข้าใจผิดไปรวมกับ Sound Engineer อยู่บ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วเป็นคนละอย่างกัน คนกลุ่มนี้จะต้องใช้ทักษะทางความเข้าใจในดนตรีที่ค่อนข้างสูง มักเป็นนักดนตรีที่มีประสบการณ์มานาน หรือร่ำเรียนการ Compose , Arrange มาโดยเฉพาะ เข้าใจตัวโน้ตและทฤษฎีดนตรีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแน่น ถึงสามารถทำดนตรีได้ทุกโจทย์ทุกแนว และเป็นอาชีพได้อย่างมั่นคง
เมื่อ Arranger ได้ทำการออกแบบดนตรีไว้เรียบร้อยครบหมดทุกเครื่องดนตรี ทุกโน้ต จนจบเพลงแล้ว หลายคนนึกก็น่าจะจบแล้ว แต่ที่จริงยังไม่จบครับ เพราะงานในส่วนออกแบบจบแล้วก็จริง แต่พอมาเปิดฟังดูจะพบกับความไม่เรียบร้อยของเสียงหลายๆ จุด อาทิเช่น เสียงดังเบาไม่สมดุลกัน เสียงบางย่านทับกัน ได้ยินเสียงบางเครื่องไม่ชัด เสียงร้องจม เบสไม่แน่น เสียงแบนไม่มีมิติ เสียงดนตรีบางไลน์คุณภาพไม่ดี แข็ง ไม่มีน้ำหนัก ไม่สมจริง ฯลฯ สารพัดปัญหา Sound ที่เกิดขึ้นที่ต้องจัดการ จึงทำการส่งเพลงต่อให้กับ technician ที่เชี่ยวชาญเรื่องเสียงโดยเฉพาะ นั่นคือ วิศวกรเสียง (Sound Engineer) ไปเก็บรายละเอียดยิบย่อยพวกนี้ และทำให้ทุกอย่างเนี้ยบ โดย Sound Engineer จะทำหน้าที่ตั้งแต่ ควบคุมการอัดเสียงเครื่องดนตรีจริง , Edit ปรับแต่งเสียงแต่ละเสียงให้สมบูรณ์ , Mix เสียงให้แต่ละไลน์ดนตรีมีความกลมกล่อมชัดเจนเข้ากัน , Master ให้ความดังเสียงเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ใน project ที่พิถีพิถัน จะแยกการทำงานแต่ละขั้นเป็น Sound Engineer ที่มีหน้าที่เฉพาะแต่ละขั้นตอนแยกกันเลย โดยบุคลากรที่ทำในขั้นตอนนี้ จะใช้ทักษะความรู้ความสามารถอีกแบบที่เป็นศาสตร์ด้านเทคโนโลยีเสียง เป็นคนละศาสตร์กับดนตรี ใช้ความถนัดคนละแบบ
คนบางคนอาจเป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำงานทุกกระบวนการเองทั้งหมด อาจจะทำขั้นตอนที่ 2 กับ 3 ไปพร้อมๆ กัน คือเรียบเรียงไปมิกซ์ไปเลย ก็เป็นไปได้ หรืออาจทำแค่บางกระบวนการแล้วมีทีมที่จัดการเรื่องอื่นที่ไม่ถนัดต่อ หรือโปรดิวเซอร์อาจเป็นแค่คนจัดหาบุคลากรเหล่านี้และควบคุมการผลิต ชี้ผิดชี้ถูกให้กับชิ้นงาน ก็เป็นไปได้หมด โปรดิวเซอร์ที่เก่งและทำทุกอย่างทุกขั้นตอนทั้งหมดนี้มีอยู่จริง และโปรดิวเซอร์ที่ทำเฉพาะบางหน้าที่ก็มีเยอะแยะเป็นปกติ ใครที่เข้ามาสู่โลกของการทำเพลงแล้วมีเป้าหมายชัดเจนว่าตัวเองอยากจะทำหน้าที่ไหนเฉพาะเจาะจง จะทำให้โฟกัสและเรียนรู้ได้ไวกว่า เพราะกินเวลาศึกษาน้อยกว่า หรือบางคนอาจจะเรียนรู้ทุกเรื่องไปก่อนแล้วพอทำไประยะหนึ่งถึงตัดสินใจได้ว่าตัวเองถนัดสิ่งไหนไม่ถนัดสิ่งไหน แล้วค่อยเลือกสายที่จะจริงจังอีกทีก็เป็นได้ หรือบางคนอยากเรียนรู้ทั้งหมดเลยทำด้วยตัวเองหมดก็ทำได้เช่นกัน เพียงแต่จะกินเวลาในการเรียนรู้นานมากอย่างที่บอก แต่ข้อดีก็คือสามารถปิดงานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องการทีม อันนี้แล้วแต่จะไปตัดสินใจเลือกทางของตัวเองกันนะครับ
สามารถติดต่อ VERY CAT ACADEMY ในหลักสูตร The Real Producer ได้ในช่องทางติดต่อข้างล่างนะครับ
VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
อ่านบทความเก่าๆได้ในเว็บ
verycatsound.com/music-production
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy