หูฟังเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์จำเป็นในการทำงานดนตรี หรือทำเพลง ซึ่งแม้คุณจะมีลำโพง (Studio Monitor Speaker) แล้วก็ตาม คุณก็อาจจำเป็นต้องมีหูฟังเพิ่มอยู่ดี ในบางจุดที่คุณต้องการฟังเสียงที่ละเอียดขึ้น แม่นยำขึ้น และบางครั้งที่คุณต้องการอัดเสียงเข้าไมค์โครโฟน คุณก็ต้องใช้หูฟังอยู่ดี เพราะคุณเปิดเสียงจากลำโพงไม่ได้ เพราะเสียงจากลำโพงมันจะไปเข้าไมค์ด้วย แล้วถ้าถามว่า แล้วมีหูฟังอย่างเดียวได้มั้ย ไม่ต้องมีลำโพง จะว่าได้มันก็ได้ครับ แต่ไม่แนะนำเท่าไร เพราะหูฟังไม่ควรใส่นานจนเกินไป มันจะทำให้หูล้า ควรสลับใช้กับลำโพงจะดีกว่า
มือใหม่เริ่มต้นทำเพลง เมื่อเรียนทำเพลงมาถึงจุดหนึ่งแล้ว สามารถแต่งเพลงและเรียบเรียงดนตรี(Composing and Arranging)ได้แล้ว และเริ่มมาถึงขั้นที่เรียกว่า Mix,Mastering มันเป็นขั้นที่คุณต้องเริ่มละเอียดกับเสียงแล้ว และแน่นอนว่าคุณต้องการอุปกรณ์ที่สามารถแสดงผลเสียงได้อย่างละเอียดแม่นยำ ทั้งลำโพงและหูฟัง นั่นคือจุดจำเป็นแล้วที่จะต้องมาใส่ใจกับมัน วันนี้เราเลยอยากจะมาแชร์วิธีการเลือกซื้อหูฟังสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกแบบไหนยังไงดีนะครับ
เหมือนการเลือกซื้อลำโพงครับ คือหูฟังต้องเป็นประเภท Studio Monitor เท่านั้น ซึ่งจะให้เสียงที่ค่อนข้าง flat หรือเที่ยงตรง ไม่ปรุงแต่งให้ย่านใดย่านหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป ตอนที่เราทำเพลงเราต้องได้ยินเสียงที่ตรงจริงมากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่พลาดในการใส่หรือเพิ่มลดเอฟเฟคหรือเสียดนตรีต่างๆให้บาลานซ์
หูฟังประเภทอื่นๆอาทิ หูฟังเกมเมอร์ หรือหูฟังสำหรับฟังเพลง พวกนี้ไม่ควรนำมาใช้นะครับ เพราะมีการปรุงแต่งเสียงมาแล้วให้ฟังเพลงเพราะขึ้น หรือฟังเสียงบางย่านชัดเป็นพิเศษ ทำให้ไม่เที่ยงตรง และจะมีอีกประเภทหนึ่งคือ In ear / earbud monitoring ที่ทำเอาไว้สำหรับให้นักดนตรีฟังบนเวที จะเป็นแบบหูฟังเล็กๆ ใส่ในรูหู ซึ่งจะเป็นคนละแบบกัน แบบนั้นก็ไม่แนะนำเท่าไรเหมือนกันครับ ที่ถูกต้องมันจะเป็นสำหรับการทำงานในสตูดิโอโดยเฉพาะ จะเป็นหูฟังอันใหญ่ครอบหูครับ เหมาะสมที่สุด
มันมีหูฟังอยู่สี่ประเภท คือ
Over Ear : แบบใหญ่ที่สุด ครอบหูทั้งหมด ข้อดีคือใส่สบาย แต่ใหญ่เทอะทะ พกยาก
On Ear : จะลงเล็กแบบแรกหน่อย เวลาใส่จะเหมือนวางอยู่ข้างๆติดกับหู แต่ไม่ได้ครอบ ใส่ไม่สบายเท่าแบบแรก แต่เล็กกว่า พกง่ายกว่า
In Ear : แบบเล็ก ที่ยัดใส่ในรูหูแล้วมักจะเป็นจุกที่พอดีหู มีความฟิตแนบสนิท เข้าไปลึก พกพาง่าย แต่จะอึดอัดหูมากกว่าถ้าใส่นานๆ
Ear Bud : แบบเล็กอีกแบบ เวลาใส่คือยัดใส่รูหู แต่ไม่ได้เข้าลึก พกพาง่าย
ทั้งสี่แบบล้วนเสียงต่างกันหมด ถ้าให้อธิบายทั้งหมดจะยาวเกินไป เอาง่ายๆว่า ผมแนะนำว่าควรเป็นแบบแรก คือ Over Ear ครับ จะตรงจุดประสงค์การใช้งานที่สุด ณ ตอนนี้ เพราะเราเน้นใช้ในสตูดิโอ และใส่ได้นานหน่อย แบบอื่นจะไม่เหมาะเท่าไร เพราะหูจะล้าไวครับ
หูฟังแบบ Over Ear จะแยกย่อยไปอีกสองแบบคือ
Open Back : ตรงด้านนอกหูมักจะเป็นวัสดุโปร่งๆ อย่างตะแกรง เวลาฟังเสียงจะลอดออกมาด้วย จะมีผลต่อเรื่องเสียงทำให้ได้ยิน stage ที่กว้างกว่า
Close Back : วัสดุจะเป็นทึบ เวลาฟังเสียงจะไม่ค่อยลอดออกมา เสียงเบสมักจะมากกว่าอีกแบบ
ในที่นี้ควรเลือกแบบ Close Back เพราะจะเหมาะสมนำมาใช้อัดเสียงได้ด้วยครับ เหมาะกับมือใหม่ที่สุด
ค่า Ohm หรือที่เรียกว่า Impedance คือค่าความต้านทาน ควรจะเลือกให้เหมาะสมกับแรงขับเสียงของแหล่งกำเนิดเสียง หรือ Sound Card ของเรา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหูฟังรุ่นเดียวกัน มีให้เลือก โอม อยู่สามช่วง ได้แก่
– 32 Ohm : เหมาะกับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก อาทิ มือถือ
– 80 – 250 Ohm : เหมาะกับอุปกรณ์ขนาดกลาง อาทิ Audio Interface แบบไม่ใหญ่มาก
– 250 – 600 Ohm : เหมาะกับอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่นพวก Audio Interface ระดับโปรที่มักใช้ในห้องอัด ที่มีขนาดใหญ่
ถ้าเราเลือกขนาดโอมไม่เหมาะสม จะเกิดอาการสองแบบ อย่างแรกคือ เสียงอาจจะไม่ค่อยดัง หรืออย่างที่สองคือ อาจจะทำให้เสียงลำโพงแตก เป็นต้นครับ
ในที่นี้ข้อสรุป เราควรเลือกประมาณ 80-250 Ohm กำลังเหมาะครับ
ค่อนข้างสำคัญครับ เพราะสรีระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลองเลือกแบบที่เราลองแล้วคิดว่าสบายที่สุด เพราะบางทีการทำงานดนตรีนานๆจะทำให้ล้าได้ ต้องใช้ไปอีกยาวครับ เลือกที่สบายๆดีกว่า
ถึงจะบอกว่ามันค่อนข้าง flat แต่มันก็ไม่ได้เหมือนกันขนาดนั้น แต่ละตัวก็มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันไปอีก ทั้งนี้ไม่เฉพาะความดังเบาในแต่ละย่าน แต่ยังรวมไปถึงความใสคมชัด มิติของเสียง หรือที่เรียกว่า Stage ฯลฯ มีรายละเอียดอีกมากที่แตกต่างกันในแต่ละตัว ก่อนตัดสินใจซื้อควรได้ลองฟังเปรียบเทียบจนแน่ใจก่อนครับ ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องความเท่ห์กับหน้าตามันแล้วล่ะครับ ถ้าจะมีผลกับการตัดสินใจ
การเบิร์นหูฟังจำเป็นไหม?
– มีความเห็นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งผมไม่ขอตัดสินละกันนะครับ หูฟังเพลงซื้อมาใหม่ๆเสียงจะยังไม่นิ่ง ไม่คงที่ บางคนบอกว่าควร burn ก่อน (การเบิร์นคือการให้หูฟังเล่นไฟล์เสียงที่เตรียมมาโดยเฉพาะ เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง นานหลายสิบชั่วโมง เพื่อให้เสียงมันนิ่งซะก่อนนำมาใช้งาน) บางคนก็บอกว่าไม่จำเป็น ใช้ไปได้เลย เดี๋ยวมันจะค่อยๆ burn ไปในตัวเอง โดยประสบการณ์ส่วนตัวผม เคยทั้ง burn และไม่ burn มา แต่คิดว่าไม่ได้ต่างกันขนาดนั้นครับ ผมไม่ตัดสินดีกว่า
หูฟังยิ่งแพงยิ่งดีจริงไหม?
– ขอตอบว่าจริง ผมเคยใช้แล้วทั้งแบบถูกกว่ามาตรฐาน แบบราคามาตรฐาน และแบบแพงมากๆ ยิ่งแพงเสียงยิ่งดีขึ้นแบบรู้สึกถึงความต่างได้เลย ความละเอียดชัดเจน และมิติของเสียง ตัวที่แพงเราแทบจะได้ยินทุกอย่างชัดแยกเป็นเลเยอร์ได้เลย โดยรู้สึกถึงมิติของมันได้ดีกว่าตัวที่ราคาถูก เพลงหลายๆเพลงที่เราเคยฟัง เมื่อฟังจากหูฟังราคาแพง เราอาจจะพบว่าเราได้ยินหลายๆรายละเอียดเสียงที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน
บางทีใช้หูฟังมอนิเตอร์แล้วฟังเพลงไม่เพราะจริงไหม?
– เป็นอีกเรื่องที่ผมไม่ขอออกความเห็น ถ้าคุณเป็นคนกินก๋วยเตี๋ยวแล้วชอบปรุง คุณก็จะบอกว่าจริง แต่ถ้าคุณเป็นเหมือนผมคือ ชอบกินแบบไม่ปรุง คุณก็อาจจะบอกว่าไม่จริง ที่แน่ๆคือ หูฟังมอนิเตอร์จะมีลักษณะคือเป็นหูฟังขี้ฟ้อง ประมาณว่า มีส่วนไหนที่ไม่เนี้ยบ เราจะได้ยินมันชัดกว่าหูฟังปกติ ที่มันอาจจะพอหลบๆ กลบๆ เบลอๆ จนไม่เห็นมัน แต่อันนี้ส่วนไหนไม่เรียบร้อย มันจะโผล่ออกมาเป็นแผลให้เห็นชัดเจนเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเค้าถึงบอกว่ามันถึงฟังเพลงไม่เพราะ แต่ในความเห็นผม คุณควรใช้หูฟังนี้ฟังเพลงให้มากที่สุดด้วยซ้ำ เพราะมันจะทำให้คุณคุ้นเคยกับเสียงของมัน เสียงที่เที่ยงตรง ซึ่งจะดีกว่าการที่คุณไปคุ้นกับเสียงที่ปรุงแต่งมาแล้ว หูคุณจะได้ไม่เพี้ยน เหมือนลิ้นที่จะไม่เพี้ยนเมื่อไม่ค่อยกินเครื่องปรุงครับ
ต้องราคาประมาณไหน ถึงจะโอเค? มีตัวแนะนำมั้ย?
– โดยมากหูฟังที่เริ่มแฟลตจะอยู่ที่ราวๆ เริ่มต้น 4-6000 ต่ำกว่านั้นไม่แนะนำครับ ซึ่งมีราคาหลากหลาย สูงไปเรื่อยๆจนหลักหลายหมื่น โดยส่วนตัวผมคิดว่า ประมาณ สองสามหมื่นก็ถือว่าอยู่ในระดับ hi-end แล้ว บางทีถ้ามากกว่านั้นไปถึงหลักแสนมันอาจจะกลายเป็นหูฟัง ฟังเพลง ประเภท Hi-fi ซะมากกว่า และตัวที่แนะนำสำหรับมือใหม่คือ DT770 Pro ของ Beyerdynamic ที่เรียกได้ว่าเป็นหูฟังระดับตำนานของโปรดิวเซอร์แทบทุกคน ทุกสตูดิโอต้องมี และเคยผ่านมากัน ราคาไม่แพงนักและเป็นมาตรฐานครับ เมื่อใช้ไปนานๆจนช่ำชองแล้ว ค่อยเปลี่ยนเป็นรุ่นที่ดีกว่านี้ก็ได้ครับ
หากคุณมีหูฟังพร้อมแล้ว แล้วอยากเรียนรู้การทำเพลงขั้นลึก ทุกกระบวนการ ลองดูหลักสูตร The Real Producer ของเราได้ครับ เราสอนทุกอย่างที่จำเป็นกับการเป็นอาชีพโปรดิวเซอร์ สนใจติดต่อแอดมินใน line @verycatacademy หรือที่ link รายละเอียดข้อมูลหลักสูตรเพิ่มเติมด้านล่าง post ได้เลยครับ
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ
หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :
– เรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
– เรื่องจ้างทำเพลง @verycatsound
Tel. : 0856662425
Website : verycatsound.com
FB : http://www.facebook.com/verycatsound
YT : http://www.youtube.com/c/verycatsound