คนที่เป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง ทำดนตรี หรือแม้แต่กับมือใหม่ที่สนใจการทำเพลง หลายคนอาจต้องเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้กันมาบ้าง
คือมีเสียงเมโลดี้แว่บเข้ามาในหัว หรือบางทีก็สามารถร้องด้นสดเมโลดี้ออกมาได้ จนนำมาประกอบทำออกมาเป็นเพลงได้
และในหลายๆครั้ง มันมักจะออกมาดีซะด้วย ดีกว่าการที่มานั่งจ้องหน้าคอมอยู่ โดยที่ยังไม่มีโน้ตดีๆออกมาสักตัว
เมโลดี้พวกนี้ มักจะออกมาในเวลาที่เรามีความรู้สึกเพลิดเพลินลื่นไหล อาจมาได้จากหลายสถานการณ์
[อ่านต่อได้ใน บทความเก่า เมโลดี้ที่ดีมักมาตอนไหน https://verycatsound.com/blog-good-melody/]
หรือแม้แต่กับบางคน ก็สามารถบังคับตัวเอง ให้ด้นออกมาสดๆเลยก็ยังได้ และเป็นสิ่งที่อาจมีคนเรียกว่ามันคือ พรสวรรค์ ของนักแต่งเพลง
แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่า ที่จริงแล้วเมโลดี้พวกนี้มันมาจากไหนกันแน่?
ทำไมถึงจู่ๆ เข้ามาในหัว หรือทำไมเราถึงด้นมันออกมาได้? แล้วกับบางคนทำไมทำไม่ได้?
คำอธิบายในเรื่องนี้ อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายๆครับว่า สมองเราทำงานเหมือนกับ AI
ยุคนี้แล้ว เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยใช้งาน AI กันมาบ้าง อย่างอาทิเช่น AI ในการ Generate รูปภาพ
เช่น เวลาเราใส่คำสั่งที่ต้องการลงไป ว่าอยากได้รูปแบบไหน ใส่คำอธิบายไป AI จะทำการสุ่มค่าต่างๆ แบบ Random แต่ยังตรงกับเงื่อนไขที่ต้องการ และแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นรูป
การ Generate แต่ละครั้ง แม้ว่าจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน
ถามว่า มันทำได้อย่างไร? ที่จริงเป็นเพราะตัว AI มันมีการเก็บข้อมูลฐาน Database ของภาพในรูปแบบต่างๆในโลกนี้เอาไว้จำนวนมหาศาล
จนมันเกิดการคำนวนออกมาได้ว่า ค่าเฉลี่ย ของรูปภาพสิ่งต่างๆ ที่ถูกกำกับโดยเงื่อนไขเป็นคีย์เวิร์ด จะมีหน้าตาประมาณไหน
แน่นอนว่า ที่มันทำงานออกมาได้ สำคัญเลยคือมันมี Database หรือ “ฐานข้อมูล” นี่แหละครับ
ในสมองของเราก็เช่นกัน ตั้งแต่เด็กจนโต เราผ่านการฟังเพลงมานับพันนับหมื่นเพลง ไม่รู้กี่แสนรอบ จนมันเกิดการจดจำและเรียนรู้
สิ่งที่มันมากับเพลงแต่ละเพลง ไม่ใช่แค่ระดับเสียงของตัวโน้ตอย่างเดียว แต่สมองได้จดจำ “กฏ” บางอย่าง ของตัวโน้ตพวกนี้มาโดยแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่รู้ตัว
ถ้าใครที่เข้าใจเรื่องทฤษฎีดนตรีมาบ้าง คงพอทราบว่า ดนตรีมันมีกฏบางอย่างที่เป็นพื้นฐานอยู่ นั่นคือ “กฏความห่างของเสียงในแบบ Major Scale”
กล่าวคือ เพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวันนี้ ถูกสร้างจากกฏที่ว่ามานี้ กว่า 90% และ กว่า 70% ในนั้นเป็น Major Scale
สมองเราจดจำความห่างของเสียงที่ทำให้เกิดความไพเราะในตัวโน้ตต่างๆได้ เพราะเมื่อ โน้ต แต่ละตัว ห่างกันคงที่เสมอ แล้วเราฟังแบบนั้นซ้ำๆมาเป็นหมื่นๆแสนๆรอบ มันก็เลยกลายเป็น “ความเคยชิน”
และความเคยชินนั้นเอง คือสิ่งเดียวกับที่เรายอมรับว่า มันไพเราะ
เปรียบเทียบเป็นเหมือนคนดูบอลมานาน ต่อให้ไม่ได้เข้าใจกติกาอะไรถ่องแท้ แต่ดูมาเยอะมากจน ถ้าตัวเองไปเล่นเองบนสนาม ก็สามารถรู้ได้เองว่า การเตะบอลคือ ไม่เอามือมาจับลูกบอล กฏหลายๆอย่างมันซึมซับเข้ามาเอง และสามารถเล่นไปจนจบเกมได้โดยไม่ผิดกฏ (แต่เล่นเก่งไม่เก่งมันอีกเรื่องนะ)
หลายๆคนอาจคิดว่า การได้ยินเสียงเมโลดี้ในหัว หรือการด้นออกมาได้ มันเป็นเสียงที่พระเจ้าประทานมา
และหลายคนก็อาจคิดว่า มันเป็นสิ่งที่คิดขึ้นเองโดยไม่ได้เลียนแบบใคร
แต่ที่จริงแล้ว มันก็คือ “การสุ่มโน้ตที่เป็นค่าเฉลี่ยโดยยังอยู่ภายใต้กฎของ Major Scale” เหมือนที่ AI Generate ภาพทำ
โดยมันเป็นการเลียนแบบแพทเทิร์นของตัวโน้ต จากการจดจำใน Database เสียงตัวโน้ตในหัวของเราที่มีมหาศาล จับโน่นผสมนี่หลายๆส่วน จนออกมาเป็นผลลัพธ์
และสิ่งที่สำคัญเหมือนกับการที่ AI ใช้สร้างภาพ เช่นกัน มันก็คือ “ฐานข้อมูล” นี่เอง
การด้นออกมามีเมโลดี้ไปทิศทางไหน มันเกิดจากฐานข้อมูลของเราว่า มีตัวอย่างข้อมูลแบบไหนอยู่เยอะ และเข้มข้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครที่ฟังเพลงลูกทุ่งมาทั้งชีวิต แน่นอนว่า เมโลดี้ที่ด้นออกมาย่อมต้องมีสำเนียงลูกทุ่งอย่างแน่นอน
และมีบ่อยครั้งที่มันเป็นการผสมผสานของสิ่งที่แตกต่างกัน ที่กระจัดกระจายอยู่ในฐานข้อมูล อาทิ คนบางคน อาจจะฟังเพลงแนวหมอลำเยอะมาก ในขณะเดียวกันก็ฟังแจ๊ซมาเยอะมาก
จนมันออกมากับเมโลดี้ที่ด้นอย่างละครึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจ และในหลายๆครั้งก็เกิดงานที่น่าสนใจจากวิธีนี้เช่นกัน
และถ้าใครยังเข้าใจผิดอยู่ว่า เมโลดี้ที่ด้นออกมา มีความเป็นอิสระ คิดขึ้นเอง ไม่ได้ตามใคร คงต้องเปลี่ยนความคิดซะใหม่
ที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรเป็นของเรา เมโลดี้ที่คิดได้ ก็เพราะมันมีต้นแบบมาก่อน และไม่ว่าเมโลดี้รูปแบบใดก็ตาม ในโลกนี้มีเพลงเยอะจำนวนมหาศาลจนเรียกได้ว่า ไม่มีเมโลดี้แบบใดที่ใหม่ที่แท้จริง ทุกอย่างล้วนเกิดจากการสังเคราะห์จากวัตถุดิบที่เคยมีมาแล้วทั้งสิ้น
การด้น คือการไม่มีกรอบจริงหรือไม่
บางคนคิดว่า ไม่อยากมีกรอบในการทำเพลง จึงไม่คิดจะเรียนหรือหาความรู้เพิ่มเติมอะไร แต่ด้นออกมาด้วยตัวเองล้วนๆ
ที่จริงมันไม่ใช่วิธีการที่ผิด แต่มันผิดที่คิดว่าทำแบบนี้แล้วไม่มีกรอบ แท้จริงแล้วกรอบของมันก็คือ Database ที่อยู่ที่ในหัวที่เรียกว่า Major Scale นี่แหละครับ
เนื่องจาก Major Scale ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นำไปใช้งานสร้างเพลงที่ไพเราะได้ง่าย และเพลงแบบปกติที่เป็นค่าเฉลี่ยของของโลกนี้ ก็ล้วนใช้ Major Scale
แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ที่เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ดนตรี pop ได้ถูกพัฒนาไปไกลกว่าเมื่อก่อน โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเล่นโน้ตแบบ Diatonic หรือเป็น Major Scale ง่ายๆ โดยไม่ออกนอกคีย์อีกต่อไปแล้ว
มีการสร้างสรรค์จากมนุษย์อยุ่ทุกยุค ที่นำความรู้ของดนตรีทุกแบบมาประยุกต์สร้างเพลงที่เป็นศิลปะที่ก้าวล้ำใหม่ๆขึ้นไปเรื่อยๆ และดนตรีไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แนวใครแนวมันอีกต่อไปแล้ว
แต่การทำลายเส้นแบ่งกำแพงระหว่างแนวจนหมดสิ้่น คือความก้าวหน้าของดนตรีในยุคนี้ และแน่นอนว่า การใช้แต่ Diatonic หรือ Major Scale ทื่อๆ กลายเป็นสำเนียงที่อาจไม่เพียงพอต่อการตอบสนองรสนิยมของทั้งผู้ฟังและผู้สร้าง
นั่นเท่ากับว่า การไม่เรียนรู้ดนตรี ไม่ได้ทำให้เกิดอิสระในการทำดนตรี แต่มันคือการอยู่ในกรอบของ Diatonic Major Scale โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวต่างหาก
ผู้ที่ใฝ่รู้ดนตรี และเรียนมาถึงระดับหนึ่งจะรู้ว่า การเรียนรู้ Music Theory หรือ Mechanic ของดนตรี ทำให้รู้ว่า มีเสียงอีกหลายแบบ โน้ต และคอร์ด อีกมากมาย ที่ไม่สามารถคิดได้ด้วยตัวเอง หรือแค่การด้น
เพราะการด้น คือการควานหาคลังตัวโน้ตที่ตัวเองเคยชิน มาจับประกอบกัน นั่นแสดงว่ากรอบคือความเคยชิน แต่หารู้ไม่ว่า ที่จริงดนตรีที่ไม่มีกรอบที่แท้จริง คือการที่รู้กระทั่งว่า อะไรอยู่ในหรือนอกกรอบที่ตัวเองเคยชินบ้าง และสามารถหยิบจับทุก Element เอามาใช้ได้อย่างอิสระเสรี นั่นต่างหากถึงเรียกว่า ทำดนตรีแบบไร้กรอบ
จะทำเพลงด้วยแนวคิดแบบไหน ความรู้ทางดนตรีก็ช่วยขยายกรอบ Database
คนบางคน อาจเป็นคนทำเพลงแบบพอเพียง คือ เคยฟัง เคยฝึก เคยเล่น เคยร้อง อะไรมา ก็ด้นออกมา ทำออกมา สังเคราะห์ใหม่ออกมา ตามแบบที่ตัวเองได้รับอิทธิพลมาตามนั้น พอใจกับสิ่งนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าพอใจแล้ว
คนบางคน อาจคิดอีกแบบ คือมีแนวดนตรีที่ตัวเองอยากทำ แต่ยังทำไม่ได้สักที แต่รู้หลักการเรื่องพวกนี้ เลยจงใจหลอมตัวเอง ป้อน Database ใหม่ที่ตัวเองอยากทำสำเนียงแบบนั้นได้ลงไปให้มีความเข้มข้นจำนวนมาก เพื่อให้สักวันสามารถด้นเมโลดี้ออกมาเป็นแบบที่ต้องการได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอีก
คนบางคน อยากตามหาเสียงของตัวเอง ที่ไม่เหมือนใคร พยายามหาเอกลักษณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นศิลปินที่สุดยอดให้ได้ ก็ไม่ผิดอีก
ซึ่งไม่ว่าแบบไหน การศึกษาทฤษฎีดนตรี หรือ Mechanic ของดนตรี แบบแท้ๆ ก็ช่วยทำให้เข้าใจกลไกของมัน และทำสิ่งที่ต้องการจะทำได้ง่ายขึ้นมาก เพราะการเรียนรู้ดนตรี มันเท่ากับไปขยายกรอบของ Database ให้กว้างขึ้นไปอีก และต่อให้ Database ยังไม่ใหญ่พอ แต่คุณก็พอรู้ว่า นอกกรอบที่คุณไม่รู้ มันยังมีอะไรอีกบ้าง และช่วยทำให้มองเห็นเครื่องมือเพื่อนำไปใช้บรรลุเป้าหมายทางดนตรีที่ต้องการได้ไม่ว่าจุดประสงค์แบบไหนก็ตาม
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง Real , Exclusive , Deep เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ สนใจหลักสูตรติดต่อแอดมินใน Line @verycatacademy หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ link ด้านล่างสุดของบทความได้เลยครับ
—————————
VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
www.verycatsound.academy/funnel01
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
โทร. 085666242