อย่างที่เราเคยเขียนกันไปในโพสต์ก่อนๆแล้วว่า การจะเป็น Music Producer นั้นต้องอาศัยความรู้และทักษะในหลายองค์ประกอบมาก ซึ่งนอกเหนือจากทักษะความรู้ทางดนตรีที่ต้องแตกฉานช่ำชองแล้ว ทักษะความรู้อีกด้านหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการสร้างงานที่ดีอย่างมาก คือทักษะเรื่องเทคโนโลยีด้านเสียง หรือ Sound Engineer
จริงอยู่ว่า Music Producer กับ Sound Engineer ไม่ใช่สิ่งเดียวกันซะทีเดียว และในหลายๆครั้ง โปรดิวเซอร์สามารถส่งงานต่อให้ Sound Engineer ทำการ Mix Master จบงานให้ได้ หลังจากทำการ ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี หรือ Music Composing / Arranging เสร็จแล้ว แต่ถึงกระนั้นเอง มันก็ยังมีรอยต่อของการทำงานบางส่วนที่ไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าใครควรทำในส่วนนี้กันแน่ อาทิเช่น Editing , Sound Design , Sound Synthesis จำพวกนี้เป็นต้น นั่นแปลว่า โปรดิวเซอร์ที่เก่งๆก็ยังคงจะจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ทักษะของ Sound Engineer ไว้ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ใช่หน้าที่หลักของตัวเองก็ตาม
และเมื่อต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่ม มันจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่ไม่เหมือนกับการศึกษาดนตรีเลย เพราะเป็นศาสตร์คนละเรื่องกัน ใช้ความชำนาญคนละส่วนกัน และปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆเลยสำหรับ Composer หลายๆคนคือ การ “ฟังไม่ออก”
คุณเคยเป็นไหมครับ? ฟังไม่ออกว่า EQ , Compress มาแล้วแตกต่างกันยังไง?
ในฐานะที่ผมเป็นโปรดิวเซอร์ที่คลุกคลีกับงานดนตรีเบื้องหลังมากว่าสิบปีจนมาสอนในหลักสูตร The Real Producer มักจะมีปัญหาหนึ่งที่มีโปรดิวเซอร์และนักทำเพลงที่เป็นผู้เรียนมาปรึกษาหลายคนว่า เรียน Mix , Master แล้วรู้สึกยาก เพราะมันฟังไม่ออก หรือฟังความแตกต่างของ Sound ที่ต่างกันเพียงนิดเดียว ก่อนกับหลังใส่ effect หรือ EQ , Compress แล้วยากมากๆ ซึ่งรู้สึกว่ายากกว่าการฟังโน้ต ฟังขั้นคู่ ฟังคอร์ด ให้ออกเยอะ ใช่แล้วครับ มันคือคนละอย่างกันเลย และต่อให้คุณหูเทพมาทางดนตรีแค่ไหน หรือเป็น perfect pitch มาแล้วก็ตาม แต่การต้องมาฝึกการฟังแบบ Sound Engineer ก็ยังคงเป็นเรื่องยากเสมอ
ทั้งนี้มีคนบางส่วนที่อาจจะมีพรสวรรค์ด้านนี้อยู่แล้ว คือสามารถฟังความแตกต่างระหว่าง Sound ที่ใกล้เคียงกันมากๆออกได้ ทั้งๆที่อาจจะฟังโน้ต คอร์ด ขั้นคู่ ไม่ออกเลย ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะคนหูเทพเหล่านี้ มักเป็นเหล่า Audiophile ที่คลุกคลีกับเสียงแบบ Hi-Fi หรือคุณภาพเสียงระดับสูงมานานจนเคยชิน คือเค้าอาจจะฟังเพลงจากเครื่องเสียงดีๆมาเป็นเวลาหลายปี จนเป็นมาตรฐาน เป็นความเคยชิน พอได้ยินเสียงที่ต่างออกไป โดยมีคุณภาพต่ำกว่า เค้าก็สามารถจับความแตกต่างนั้นได้ชัดเจน
นั่นแปลว่า ถ้าเราคลุกคลีกับคุณภาพเสียงที่ดีมาเป็นระยะเวลานาน เราก็จะค่อยๆ “เริ่มฟังออก” เหมือนกันครับ และนั่นคือที่มาของหัวข้อของโพสต์นี้คือ ถ้าคุณอยากฟังออกให้ไวขึ้น คุณจงไปอัพเกรดลำโพง รวมไปถึงหูฟัง ที่ใช้ฟังเพลงโดยด่วน
ผมขอยกตัวอย่าง กรณีที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองให้ฟังนะครับ ก่อนที่ผมจะพอเข้าใจเรื่องแบบนี้ คือตอนที่เรียนอยู่ปีสุดท้ายในคณะดนตรีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นผมทำเพลงส่งอาจารย์ในวิชาโดยใช้แค่ Mac เครื่องเดียว ฟังผ่านลำโพง Mac มาตลอด ซึ่งเป็นลำโพงเล็กๆ เสียงแบนๆ เด่นย่านกลางกับแหลม ที่ไม่ได้มีเบสที่มากอะไร ใช้ทั้งทำเพลง ทั้งฟังเพลงในนั้นเลย
ผมไม่เคยรู้สึกผิดปกติกับมันเลยครับ ฟังเพลงก็ enjoy ดี ตอนทำเพลงก็ฟังออกหมดว่า โน้ตไหนเป็นอะไร ในช่วงปีแรกๆของการเรียนในคณะดนตรี จะต้องมีการฝึกฟังแบบ Composer ซะเยอะ ซึ่งประสาทหูผมค่อนข้างดีในเชิงแยกแยะโน้ตได้อยู่แล้ว จนกระทั่งการมาถึงของวิชา Producer Practice ในปีท้ายๆ ที่ต้องเริ่มเรียนรู้เรื่อง Sound Engineer บอกตรงๆว่า คนดนตรีหัวใจ Composer อย่างผม เรียนแล้วจะหลับ มันรู้สึกยากมากๆ แล้วก็ฟังไม่ออกว่าต่างกันยังไง จนในวิชา อาจารย์แนะนำว่าให้ไปซื้อลำโพงดีๆมาใช้ ผมเลยเริ่มอัพเกรดอุปกรณ์ มี Soundcard กับ ลำโพง Monitor ที่ได้มาตรฐานมาใช้งาน
ได้มาแรกๆก็รู้สึกแหละครับว่า เออเสียงดีขึ้นเยอะ เบสชุ่มฉ่ำ มีน้ำมีนวล แต่ในหลายๆครั้ง ผมขี้เกียจเปิดลำโพง ยังใช้แค่ลำโพง Mac ฟังเพลง ก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหาอะไร จะมีว่าตอนทำเพลงก็ต้องเปิดลำโพง เพื่อให้ได้ยินว่าเสียงที่แท้จริงมันเป็นยังไง แต่การ mix การ eq , compress ต่างๆ ผมก็ยังคงฟังไม่ออก ได้แต่ทำตามหลักการที่เรียนมาไปอย่างนั้นแหละ ฝึกมิกซ์เองบ้าง มิกซ์ออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง มีงบก็จ้าง Sound Engineer มามิกซ์ต่อจบงานให้อีกทีนึง ทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ และพยายามใช้ลำโพงนี้ฟังเพลงให้มากที่สุดตามที่อาจารย์แนะนำ
จนกระทั่งเวลาผ่านมาประมาณห้าปี จู่ๆ ผมได้ยินเสียงเพลงจากที่ไหนสักแห่ง แล้วผมรู้สึกว่า “นี่มันเสียงที่ใส่ Compressor นี่…. ใช่มั้ยนะ?” แล้วพอไปพิสูจน์ดู ปรากฎว่าใช่จริงๆด้วย จู่ๆวันนึงผมก็รู้สึกได้ว่าเสียงที่ผ่าน Compress กับไม่ผ่าน มันต่างกันยังไง (มันจะรู้สึกอึดอัดกว่า) แล้วผมลองกลับมาตั้งใจฟังเสียงตอนมิกซ์เพลงดูอีกรอบ ปรากฎว่า จริงๆด้วยครับ หูผมละเอียดขึ้นและสามารถแยกแยะความต่างน้อยนิดที่เมื่อก่อนแยกไม่ได้ ได้มากขึ้น
พอผมเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า หูมีความ Sensitive มากกว่าแต่ก่อน ผมเริ่มลองไปหาฟังลำโพงหลายๆแบบ หูฟังหลายๆชนิดดู แล้วก็พบว่า ตัวเองเริ่มฟังออกแล้วจริงๆ และเริ่มรู้สึกว่าเพลงที่เปิดด้วยลำโพงที่ไม่ดีนัก ย่านเสียงไม่ครบ รู้สึกไม่เพราะ ขาดอรรถรสลงไปมาก จนถึงกับคิดว่า ทำไมเมื่อก่อนเราสามารถฟังแบบนี้ได้ยังไงอยู่ตั้งหลายปี
สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ การฟังก็คือทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ทำให้เคยชิน และมันไม่มีทางลัด อย่างกรณีผมเองยังใช้เวลาตั้ง 5 ปี นับแต่วันที่รู้ตัวว่าต้องแก้ ฉะนั้น ถ้าคุณประสบปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ผมแนะนำว่า รีบเปลี่ยนลำโพงหรือหูฟังที่คุณใช้อยู่ประจำให้เป็นของที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราตั้งเป้าจะเป็น Music Producer หรือ Sound Engineer ที่เก่งกาจ และต้องมีหูที่ดี ใช้เป็น Studio Monitor ไปเลยยิ่งดีครับ เพราะกว่าคุณจะซึมซับกับเสียงที่ดีจนเคยชิน มันกินเวลามากๆ เริ่มเร็วได้เท่าไรยิ่งดีครับ
หวังว่าจะได้ประโยชน์จากบทความนี้กันนะครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการเรียนทำเพลงแบบขั้นลึก จริงจัง Real , Exclusive , Deep หลักสูตร The Real Producer มีสอนทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ สนใจหลักสูตรติดต่อแอดมินใน Line @verycatacademy หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ link ด้านล่างสุดของบทความได้เลยครับ
—————————
VERY CAT SOUND
Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
.
รับ demo คอร์สเรียนฟรี และข้อมูลหลักสูตรเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่นี่
www.verycatsound.academy/funnel01
ติดต่อจ้างทำเพลง Line @verycatsound
ติดต่อเรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
โทร. 085666242