เพลงไหน ก๊อป หรือไม่ก๊อป? 5 ข้อที่ต้องเข้าใจก่อนจับผิดเพลง

Share via:

Krissaka Tankritwong

    เพลงนี้ ก๊อป ? หรือไม่ก๊อป? ประเด็นพิพาทเรื่องการลอกเพลง ที่มีอยู่ในวงการเพลงอยู่เรื่อยๆ หรือแม้แต่ในแวดวงดนตรี เพลงประกอบโฆษณา ที่ผมทำอยู่ก็เช่นเดียวกัน บางทีที่เราฟังเพลงอะไรแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มันคล้ายๆเพลงที่เคยได้ยินมานะ แต่ก็ไม่แน่ใจ กลัวกล่าวหาผู้บริสุทธิ์ เพื่อป้องกันการจับแพะ และลงเอยด้วยการเสียหน้า วันนี้เราขอนำเสนอ Check-list 5 ข้อ ที่ควรทำความเข้าใจ ก่อนตัดสินว่าเพลงไหนก๊อป?ไม่ก๊อป?

1. ประเมินตัวเองก่อน

    ก่อนจะไปตัดสินใคร เช็คตัวเองก่อนด้วยว่า ตัวเราเก่งพอในเรื่องนั้นๆ ที่จะรู้ดีขนาดจะไปตัดสินใครรึเปล่า เช่น ถ้าคุณเป็นอาจารย์สอนดนตรี มีทักษะดนตรีและประสบการณ์ดนตรีดีพอ หรือถ้าคุณเป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดังแถวหน้าของเมืองไทย ผ่านข้อนี้ไปเลยครับ แต่ถ้าคุณไม่มีความรู้เรื่องตัวโน๊ตสักตัว เป็นแค่นักฟังเพลงเฉยๆ แต่แค่ฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้เหมือนเพลงนี้นะ ผมว่ายั้งใจไว้ก่อนดีกว่าครับ คนเราไม่ได้เก่งไปซะทุกเรื่อง จะถอนฟันผมก็ไม่ถอนเอง ผมยังเชื่อหมอฟันเลย แต่ในขณะเดียวกัน ผมไม่ได้บอกว่า คุณคิดผิดแน่ๆ เพราะ sense ของคุณมันอาจจะถูกต้องก็ได้ เพียงแต่ศึกษา fact ข้อเท็จจริงหลายๆอย่างก่อน ศึกษาดนตรีและองค์ประกอบอื่นๆให้มากขึ้น เช็คข้อมูลอื่นๆให้ชัวร์กว่านี้ก่อน จะได้มีหลักฐานยืนยันมาแก้ต่าง ในกรณีที่มีคนอ้างว่าเราไม่ได้รู้จริงเรื่องนั้นได้

2. เช็คทำนองดนตรี มันเหมือนขนาดไหน? อะไรที่เหมือนบ้าง?

    เหมือนเป๊ะทั้งเพลง แค่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาไทย? หรือมันแค่มีบางส่วนเหมือน? แน่นอนว่าถ้ามันเป็นแบบแรก ให้ติ๊กผ่านข้อนี้ไปเลยครับ แต่ถ้าเป็นแบบที่สอง คุณควรที่จะมีความรู้ทางดนตรีพอสมควร
    ดนตรีมันเป็นเรื่องเรียบง่ายแต่ซับซ้อนกว่าที่ใครหลายๆคนคิด เพลงป๊อปที่คนกว่า 90% ฟังๆกัน มันก็ล้วนสร้างมาจาก MAJOR SCALE ซึ่งมีโน๊ตอยู่แค่ 7 ตัว คอร์ดแค่ 7 คอร์ด (ขอไม่ลงลึกในรายละเอียดเรื่องดนตรีลึกไปกว่านี้นะครับ เพื่อผู้อ่านทั่วไป) มันคือการเล่นกับการจัดเรียงตัวโน๊ตแค่ 7 ตัวนี้ในรูปแบบไหนให้เกิดความไพเราะลงตัว ซึ่งการที่จะพบว่าทำนองบางส่วนมันเหมือน หรือคล้ายกัน มันคือเรื่องปกติมาก
    ยิ่งคุณฟังเพลงเยอะเท่าไร คุณก็ยิ่งพบเพลงที่ใช้เมโลดี้ลักษณะแบบเดียวกันเยอะขึ้นเท่านั้น ซึ่งมันเกิดกับอาชีพนักแต่งเพลง คนทำดนตรี อย่างผมหรือคนอื่นๆ ที่เคยฟังเพลงมาเยอะมาก ยิ่งฟังเยอะขึ้นไปอีก คลุกคลีกับมันตลอดก็จะยิ่งรู้สึกว่า เพลงไหนๆก็เหมือนกันหมดด้วยซ้ำ จนแทบจะเลิกจับผิดไปเลยว่าเพลงไหนก๊อปไม่ก๊อป
    สรุปคือ คุณต้องละเอียดกับสิ่งที่ฟังมากๆ ว่า ไอ้ที่เหมือนเนี่ย อะไรมันเหมือนบ้าง แยกแยะมาเป็นข้อๆ เป็นรูปธรรมชัดเจนให้ได้ ให้เป็นการถกกันด้วย “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่ใช่ “ความรู้สึก” ก่อนนำไปประกอบการพิจารณา ในข้อต่อๆไป

3. อ่านปก CD

    ถ้าแน่ใจแล้วว่า เพลงมันเหมือนมาก ก๊อปแน่ๆเนี่ย ได้อ่านปก CD เขาหรือยัง? ถ้าไปเจอเขาเขียนว่า ซื้อลิขสิทธิ์มาจากศิลปินต่างประเทศ จากคนโน้นคนนี้ แล้วจะเงิบนะครับ ถ้าคิดจะวิจารณ์แล้วต้องหาข้อมูลละเอียดๆด้วย ถ้าฟังแค่ผิวเผินจาก mp3 จากอินเตอร์เน็ต หรือ วิทยุ ไม่ได้สนใจซื้อ CD อยู่แล้ว มันด่วนสรุปเร็วเกินไป

4. เดาเจตนาผู้แต่ง

    เราผ่านโลกยุค Post Modern มานาน จนเข้าสู่ Post ของ Post Modern แล้ว เป็นยุคที่ใครๆก็รู้กันว่า มีงานศิลปะมากมายในโลกนี้ที่มีการหยิบยืมบางส่วนของสิ่งที่มีอยู่เดิมมาใช้ อย่างพวก Pop Art หรือ Kitsch หรือถ้าอย่างสายดนตรี ก็มีแนวดนตรีจำพวก Hip-hop หรือพวก พวก Shibuya-kei (มารู้จักแนวนี้เพิ่มเติมได้จาก link) ที่มีการเล่น Sample Loop จากแผ่นเสียงเก่าๆ หยิบยืม องค์ประกอบจากงานเก่ามาใช้
    นอกจากนี้ ยังมีลักษณะงานแบบ Parody ที่เป็นการล้อเลียน หรือแม้แต่บางคนจงใจทำให้เหมือน เพื่อจุดประสงค์ในการ “บูชาครู” ให้แก่ศิลปินรุ่นเก่า หรือในกรณีอื่นๆที่เข้าข่ายนี้อีกสารพัด อย่างเช่น การ Cover, Remix , Demix ฯลฯ ล้วนเป็นการนำของเก่ามาทำใหม่ หรือเล่นเหมือนงานเก่าๆ
    คุณแน่ใจแล้วหรือยัง? ว่ามีความรู้พอที่จะตัดสินเพลงๆนั้นว่า เจตนาของเค้าคือการ จงใจลอกเลียนแบบ? เป็นแรงบันดาลใจ? รับอิทธิพลมา? หรือเค้าเอามาใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นกันแน่?

5. ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ใช้วิจารณญาณรับฟังหลายๆความคิดต่าง

    แม้จะเช็คจากหลายๆอย่างแล้ว แต่เพลงบางเพลงมันอยู่ในขั้นก้ำกึ่งจริงๆ เพลงบางเพลงเหมือนที่ไลน์เมโลดี้ แต่คอร์ดกับเบสไม่เหมือน บางเพลงโครงเพลงกับคอร์ดเหมือน แต่เมโลดี้ไม่เหมือน รายละเอียดและองค์ประกอบมันเยอะจนหลายครั้งก็ยากที่จะใช้วิจารณญาณตัวเองตัดสินได้
    ลองถามจากความเห็น และความรู้สึกจากหลายๆคน ทั้งคนที่เชี่ยวชาญดนตรี และคนที่ไม่รู้เรื่องดนตรีเลย เพื่อเอามาเป็นมุมมองหลายๆด้าน อย่าเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่เลยครับ

    ถ้าแน่ใจแล้วว่า การประมวลผลของตัวเองถูกต้อง จะกล่าวว่าเพลงไหนก๊อปใครอะไรยังไงมา แล้วแต่ศรัทธาเลยครับ อย่างน้อย check-list นี้ก็น่าจะช่วยให้รอดพ้นจากข้อโต้แย้งได้ไม่มากก็น้อย ถ้ามันมีคนที่ก๊อปแบบไร้จรรยาบรรณอยู่จริง การที่สังคมจะประนามมันก็เป็นสิ่งที่เขาสมควรได้รับครับ แต่สำหรับตัวผมเองแล้ว ผมไม่คิดว่าตัวเองเก่งพอจะตัดสินใคร ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้ และต้องเรียนรู้อีกมาก ขอบายดีกว่า
    ศิลปินที่มีจรรยาบรรณหลายๆคน ซึ่งผมคิดว่าส่วนใหญ่เลยแหละ ไม่ได้อยากจะก๊อปเพลงใคร บางคนทำงานหนักเพื่อนำเสนอผลงานที่ตัวเองบรรจงสร้างออกมา ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่า ยุคนี้การทำดนตรีดีๆ (โดยเฉพาะดนตรีอินดี้) มันแทบจะไม่ได้เงินด้วยซ้ำ แต่เค้าทำด้วยใจรัก หาเงินจากการประกอบอาชีพอย่างอื่นเพื่อมาต่อชีวิต ทำดนตรี การที่งานที่ตั้งใจทำออกมาด้วยพลังสร้างสรรค์ของตัวเอง แล้วเกิดไปละม้ายคล้ายคลึงกับงานของคนอื่น จนถูกกล่าวหาว่าก๊อป มันทำให้เขาเสียงกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมาก
ผมคิดว่า เราทุกคนก็เหมือนคนอื่นๆครับ คือ อยากสนับสนุนให้เพลงไทยพัฒนา ทั้งคนทำก็อยากทำงานดีๆ คนฟังก็อยากฟังงานที่ดี อยากสนับสนุนเพลงที่ดี บทความนี้ไม่ได้มีเจตนายุแหย่ใครคนใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด แต่อยากให้ฉุกคิดดีๆ ใช้วิจารณญาณ ก่อนจะพูด จะพิมพ์ กล่าวหาอะไรใคร

    มันไม่คุ้มกันเลยครับ ถ้าความคะนองอยากโชว์ภูมิชั่ววูบ มันทำให้เผลอไปตัดสินคนถูกเป็นผิด แล้วก็เกิดเป็นกรณีพิพาทตามมาให้บาดหมางกันเองในวงการกันอีก ผมไม่ได้บอกว่า ไม่มีใครมีสิทธิ์วิจารณ์คนอื่นในโลกเสรีแห่งนี้ แต่มาคิดดีๆ ศึกษาข้อมูลกันมากขึ้น ก่อนตัดสินใครกันดีกว่าครับ

พบกับ สารพันเรื่องราว ซาวด์ดนตรี วิถีแมวๆ ได้ที่นี่ VERYCATSOUND.COM

————————————————————————————————————-

คอร์สออนไลน์ สอนแต่งเพลง เบื้องต้น ด้วยโปรแกรม DAWs กับ VERYCATSOUND

เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจ ลองเข้าอ่านรายละเอียดได้ที่ link ครับ

Comments (156)

Leave a Comment

ベリーキャットサウンド ©2014 Copyright. All Rights Reserved.