มีครั้งหนึ่งผมถูกเชิญไปบรรยายเรื่องการทำเพลงที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยผมถามว่า อยากให้ผมบรรยายเรื่องอะไร เพราะหัวข้อมันกว้างไปหมด
เค้าบอกผมว่า ปัญหาของเด็กในคณะดนตรีของเค้าตอนนี้คือ มีมุมมองต่อการทำดนตรีแคบเกินไป ทุกคนคิดแค่เรื่องอยากเป็นศิลปิน ทำเพลงตัวเอง กันหมด
โดยไม่ได้มองในมุมของการเป็นโปรดิวเซอร์ หรือการทำงานดนตรีเพื่อคนอื่นเป็นอาชีพเลย เค้าเลยขอให้พูดเรื่องมุมมองในการทำเพลงให้คนอื่นเป็นอาชีพ
แม้ตอนนี้ก็เช่นกัน ผมพบว่ามีหลายคนที่ไม่เข้าใจนึกว่าการทำเพลงก็คือการเล่นดนตรีหรือร้องเพลงเป็นศิลปิน เพียงอย่างเดียว
มีผู้ปกครองเด็กหลายๆคนมองในแค่มุมนี้ ทั้งๆที่จริงๆแล้วดนตรีมันก็คืออาชีพหนึ่งที่มีคนที่ทำหน้าที่แบบอื่น นอกจากการเป็นศิลปินอยู่ด้วย
ในที่นี้ก็คือการเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปิน หรืออาชีพทำเพลง ทำดนตรีประกอบสื่อ นั่นเอง
ทีนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงให้ศิลปินคนอื่น หรือ การทำเพลงให้ลูกค้าที่เป็นบุคคล เป็นบริษัท เป็นองค์กร อะไรก็แล้วแต่ ที่จริงมันก็คืองานบริการประเภทหนึ่ง เป็นการนำความรู้ทางดนตรีที่เรามีไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นในสังคม แลกกับเงิน เพื่อทำให้เรามีอาชีพอยู่รอดได้ไปด้วย และสร้างคุณค่าไปด้วยในตัว
ทีนี้ไอ้การทำเพลงเพื่อสนองตัวเอง กับ การทำให้คนอื่นมันต่างกันยังไงบ้างล่ะ?
คุณอาจมีรสนิยมชอบเพลงแบบนึงและก็ไม่ชอบอีกแบบนึง ได้ เป็นเรื่องปกติของทุกคนครับ แต่เมื่อคุณมาทำเป็นอาชีพ คุณอาจเอาแต่ใจไม่ได้แบบนั้น ไม่งั้นการรับงานของคุณก็จะจำกัดมากๆ และคุณอาจทำจนเพียงพออยู่รอดเป็นอาชีพไม่ได้ เก็บความชอบส่วนตัวของคุณไว้ก่อน คุณต้องมีความเป็นกลาง เข้าใจดนตรีและโลกพอว่า “อะไรคือเพลงที่ดี เพลงที่ดัง และเพลงที่ชอบ สามอย่างนี้ไม่เหมือนกัน”
[ อ่านบทความเก่าได้ใน https://verycatsound.com/blog-good-vs-popular/ ]
และคุณมองในมุมของลูกค้าเป็น ทำสิ่งที่เค้าชอบได้ ทำสิ่งที่ดีที่สุดในแนวทางนั้นๆ ให้ลูกค้าพอใจได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับความชอบส่วนตัว คุณอาจโชคดีได้ทำงานที่ตัวเองชอบด้วย นั่นเป็นกำไรชีวิต แต่หากเสนอไปแล้วมันไม่ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ คุณก็ต้องยอมรับได้ และทำมันได้ดีเช่นกัน
คุณอาจต้องเดาความต้องการของลูกค้า ว่าเค้าอยากได้ยินอะไร และอาจมีสิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้น ในกรณีที่มันเป็นเพลงโฆษณา คนอีกคนที่คุณต้องเอาใจเค้า คือ คนฟัง หรือกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าเราอีกที ในบางครั้งลูกค้าที่จ้างเรา เค้าอาจรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง แต่ด้วยการที่เค้าไม่สันทัดเรื่องดนตรี เค้าถึงมาจ้างเรา เราต้องทำการวิเคราะห์ และคาดเดา ว่ากลุ่มลูกค้าที่เราได้โจทย์มานี้ น่าจะชอบเพลงแบบไหน เราอาจเสนอลูกค้าได้อย่างมีเหตุมีผล แล้วลูกค้าเชื่อในสิ่งที่เรานำเสนอ โดยที่คุณคิดว่าดีที่สุดแล้วสำหรับจุดประสงค์ของงานนั้นๆ ได้อย่างไม่มีอคติ
เรื่องนี้แตกต่างแน่ๆกับทำเพลงตัวเอง เพราะอันนั้นคุณเอาตัวคุณเป็นที่ตั้งได้เลย มันคืองานศิลปิน ที่คุณนำเสนอสิ่งที่คุณคิดว่าดีที่สุดได้เต็มที่ เพราะคุณคือเจ้าของงานเต็มร้อย แต่ถ้าคุณแคร์ตลาดคนฟังอยากให้คนมาฟังเพลงเยอะขึ้น ก็ไม่ผิดครับ เพราะนั่นก็คือส่วนหนึ่งของตัวคุณที่สื่อสารออกมาอยู่ดี
การรู้จักเพลงให้มากพอ รู้ว่าในตลาดตอนนั้นเค้าฮิตอะไรกัน รู้จักเพลงที่ดังๆ ศิลปินที่ดังๆ ในหลายๆวงการ แม้ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม เพราะลูกค้าที่จ้างคุณส่วนมากมักจะฟังเพลงไม่ลึกเท่าคุณ และสิ่งที่เป็น reference ที่เค้าเคยเห็นหรือนึกได้ ย่อมหนีไม่พ้นงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง เพลงที่ดัง เป็นส่วนมาก คุณต้องทำเพลงตอบสนองความต้องการเค้าโดยที่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คุณชอบเลย แต่ถ้าหากคุณหาทางใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้ในชิ้นงานนั้น แล้วลูกค้าโอเค ก็จะเยี่ยมมาก ถือเป็นกำไร ทีนี้ถ้าคุณเอาแต่หมกมุ่นอยู่แต่ในแนวดนตรีที่คุณชอบ คุณอาจสื่อสารกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถทำตามความต้องการของเค้าได้
และที่จริงแล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องดนตรี ลูกค้าที่มักทำงานด้วยกันกับคนดนตรีบ่อยๆอีกสายคือสาย design , สาย visual ต่างๆ ซึ่งมักจะมี reference ในการทำงานมาจากวงการ art , design ,visual , film เหล่านี้จากงานต่างประเทศ กลุ่มคนที่ทำงานด้าน art , design ต่างๆเหล่านี้ ผมขอเรียกรวมกๆว่า Creative Community (CC) กลุ่มคนเหล่านี้มักคบหา ปฏิสัมพันธ์ เกี่ยวพันกัน และมักมีค่านิยมหรือรสนิยมทางศิลปะที่สอดคล้องไปในทิศทางใกล้เคียงกันในกลุ่มนั้นๆ อาทิ หนังที่ชอบ หนังสือที่อ่าน ฯลฯ ฉะนั้นคุณควรเป็นส่วนหนึ่งของ CC และเข้าใจว่า CC ต้องการงานแบบไหน และเค้าพูดถึง reference ตัวไหนกัน เช่นเค้าอาจอยากได้งานที่ได้อารมณ์แบบผู้กำกับหว่องกาไว แต่คุณดันไม่เข้าใจว่ามันคือแบบไหน
คุณควรรู้จักและสนใจงานออกแบบหรืองานศิลปะประเภทอื่นๆ เช่น วงการ design , architect , หนังคัลท์ หนัง art , fashion ต่างๆ คุณต้องคุยกับ CC แล้วรู้เรื่อง เพราะ CC นี่แหละที่จะมาจ้างงานคุณ ถ้าเค้าเห็นว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดนตรี แต่คุณต้องมีรสนิยมแบบเดียวกับเค้า หรือคุยกับเค้ารู้เรื่องด้วย ฉะนั้นการทำงานในสายนี้คุณควรรู้ตัวว่าตัวคุณจะเป็น Creative สายหนึ่ง มากกว่าที่จะเป็นนักดนตรีหรือศิลปินเฉยๆ แน่นอนว่าถ้าคุณแค่ต้องการทำเพลงตอบสนองตัวเอง คุณไม่ต้องแคร์อะไรพวกนี้เลยก็ได้ สนใจแค่เรื่องที่ตัวเองสนใจก็พอ แต่พอจะทำเป็นอาชีพนี้มันไม่ใช่
ผู้เชี่ยวชาญทุกสาย มีศัพท์เฉพาะที่ใช้ประจำในวงการอยู่เพียบ สายดนตรีก็ไม่เว้น แต่การทำงานกับคนสายอื่นหรือลูกค้า บางทีเค้าไม่เข้าใจศัพท์พวกนี้เลย และบางทีเค้ามีสิ่งที่จินตนาการไว้ในหัวชัดเจน แต่เค้าอธิบายไม่ถูกว่ามันคืออะไร
หน้าที่ของเราคือ การทำให้มันชัดเจน เข้าใจตรงกันว่าสิ่งที่เค้าต้องการมันคืออะไร พยายามให้เค้าบรรยายและเราต้องวิเคราะห์+เดา ว่ามันคืออะไรกันแน่ มันทำยังไงในการทำดนตรี โดยที่ตอนเราสื่อสารกลับออกไปก็ไม่ควรใช้แต่ศัพท์เฉพาะที่คนทั่วไปฟังไม่เข้าใจ จนเยอะเกินไป แล้วยิ่งไม่มีการอธิบายยิ่งหนัก ผมเข้าใจนะว่าคนมีของส่วนใหญ่ก็ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองรู้ และอยากโชว์ เอาพอหอมปากหอมคอนะครับ บาลานซ์ให้ได้กับการพยายามสื่อสารให้เข้าใจตรงกันให้ได้ เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าในการทำงาน
อีกอย่างที่เจอบ่อยๆ แล้วเป็นปัญหา คือการสื่อสารที่ไม่ได้ถูกตกลงกันให้เป็นรูปธรรม เช่นว่า “พี่ว่า งานมันฟังดูไม่แนวเลย” จะเห็นได้ว่า มันแปลความยากมากว่า แนว มันแปลว่าอะไร หมายความเป็นรูปธรรมยังไง แล้วเราจะแก้ถูกได้ยังไง เราต้องทำการถาม ทำการคุยกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า แนวของพี่ พอยกตัวอย่างได้ไหมครับ เช่นงานของใคร อะไรงี้ แล้วเราก็ต้องไปพยายามฟังแล้วแกะรอยมาให้ได้ว่า สิ่งที่เค้าต้องการได้ยิน เงื่อนมันอยู่ตรงไหน ใช่การใช้ chord แบบนี้มั้ย หรือเป็นการใช้เครื่องดนตรีชิ้นนี้ พยายามคุยและยกตัวอย่างออกมาให้เค้าเห็นภาพแล้วเข้าใจ เพื่อจะได้เข้าใจได้ตรงกันว่า คำว่าแนว เค้า refer ถึงอะไร อย่าลืมครับ ต้องทำให้เป็นรูปธรรมที่สุดให้ได้ ถ้าลูกค้าทำไม่ได้ มันคือหน้าที่ของคุณ เพราะลูกค้าย่อมไม่เข้าใจเรื่องดนตรีอยู่แล้ว ถ้าเราทำเพลงตัวเองเรื่องพวกนี้มันไม่มีอยู่แล้ว เพราะเราสื่อสารแค่กับตัวเองก็พอ
ถ้าคุณทำให้ตัวเองเนี่ย ตรงนี้ยากกว่ามากๆ เพราะไม่มีใครมาบอกถูกผิดให้คุณว่ามันโอเครึยัง อยู่ที่ความพอใจของตัวคุณเองล้วนๆ ซึ่งบางคนมาตรฐานสูงมาก ก็ไม่พอใจซะที อยากให้งานเป็น Masterpiece ก็ต้องขัดเกลากันยาวหน่อย บางทีก็ยืดไปเรื่อยโดยไม่ได้มี deadline เพราะตัวเรากำหนดเอง แต่การทำเพลงให้คนอื่นเนี่ย อย่างน้อยสิ่งที่ง่ายกว่าก็คือ มันมีถูกผิด และ deadline อยู่ทำให้มันไม่เลื่อนลอย เพลงที่ถูกสร้างมาเพื่อ Commercial ทุกเพลงมันมีจุดประสงค์ของการทำ เช่นว่า ต้องการขายของได้ ต้องการโปรโมทให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก หรือถ้าเป็นเพลงศิลปิน ก็อยู่ที่ศิลปินชอบรึเปล่า ฯลฯ พวกนี้มันเป็นหลักเกณฑ์ที่วิเคราะห์ได้ว่า อะไรดีกว่าอะไร เพราะเหตุใด (ถ้าเป็นเพลงตัวเอง เป็นงานศิลปะ มันไม่มีผิดถูก) และงานลูกค้าโดยส่วนใหญ่จะมี deadline มา ไม่ว่ายังไงเราก็ต้องส่งตาม deadline ทำให้เราไม่ทำเลื่อนลอย ไม่มีกำหนด ไม่เสร็จซะที หมด deadline เมื่อไร ตอนนั้นมีอะไรที่ทำไว้แล้วดีที่สุด ก็อันนั้นแหละ นั่นเลยเป็นสาเหตุว่า ทำไมนักทำเพลงหลายๆคนที่เป็นศิลปินทำเพลงตัวเองด้วย นานๆทีจะมีเพลงตัวเองออกมาซักเพลงนึง แต่เพลงลูกค้านี่คลอดเอาๆ นอกจากเรื่องหาเงินแล้วมันก็เพราะความไม่มีกรอบนี่แหละครับ
ถ้าคุณเป็นศิลปิน แล้วคุณอาจพอใจที่จะทำดนตรีแบบไม่ต้องรู้อะไรมาก แต่คุณมีความสุขที่ได้ทำ พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกแนว หรือทำแนวโน้นแนวนี้ได้ แค่เป็นตัวเองก็พอ ไม่ผิดครับ แต่เมื่อคุณก้าวมาทำโปรดิวเซอร์เป็นอาชีพ นี่มันคนละเรื่องกันละ เพราะถ้าคุณต้องการอยู่รอดได้ การทำงานย่อมต้องมีจำนวนเงินที่เพียงพอ และเข้ามาเรื่อยๆจนมีรายได้ที่พอต่อการทำเป็นอาชีพถูกไหมครับ ซึ่งมันทำให้คาดเดาไม่ได้เลยว่าคุณจะเจอโจทย์แบบไหนมาให้ทำบ้าง แน่นอนว่า บ่อยครั้งมันย่อมเป็นแนวดนตรีที่คุณไม่ถนัด หรือไม่ได้ชอบ และแนวดนตรีแต่ละแนวมันมีความยากง่ายไม่เท่ากัน มันต้องการความรู้ และทักษะในระดับที่ต่างกันมาก เช่นดนตรีบางแนว คุณอาจจะเรียนแค่ 3 เดือนก็ทำได้แล้ว แต่บางแนวอย่าง jazz , classic คุณต้องเรียนมันเป็นเวลาหลายปีกว่าจะทำออกมาได้ดี แล้วยิ่งเพลง pop สมัยนี้ ล้ำหน้าไปกว่าเมื่อก่อนมาก มักมีส่วนผสมแทบทุกอย่างจากดนตรีหลายๆแนวมาหลอมรวมกัน ทำให้มันไม่ได้ทำง่ายเหมือนแต่ก่อน พอโดยส่วนรวม เพลงที่ดี เพลงที่มีรสนิยม มันได้เปลี่ยนมาเป็นความแพร่หลายสู่หูคนฟังส่วนมากจนชิน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีรสนิยมที่ดีขึ้น ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องดี แต่เวลามาจ้างงานแปลว่า เค้าก็หวังจะได้ยินอะไรที่ดี ที่มันทำยาก และใช้เวลาเรียนนาน จากผู้เชี่ยวชาญอย่างเรานี่แหละ มันเลยแปลว่า คุณไม่สามารถหมกมุ่นอยู่กับแค่ดนตรีแนวที่คุณชอบได้อย่างเดียว คุณต้องไม่มีข้อจำกัดทางการทำดนตรี คุณต้องทำได้ทุกแนว ทุกสไตล์ ทุกระดับความยาก คุณต้องแตกฉานดนตรี ในทุกแนว หรืออย่างน้อยก็แนวหลักๆ จนครบ ถึงจะอยู่รอดได้
ที่จริงนอกจากเรื่องของการทำได้ทุกแนวแล้ว การที่คุณแตกฉานดนตรีมากกว่าแค่งูๆปลาๆ แล้วมาทำเป็นอาชีพ มันทำให้คุณมีภาษีดีกว่า ความมั่นใจมากกว่า ทำอะไรได้กว้างกว่า เร็วกว่า มีประสิทธิภาพกว่า ผมยกตัวอย่าง บางงานที่ผมเคยทำ ลูกค้าบอกว่ายังไม่ผ่าน เพราะมันฟังดูหม่น ผมแก้ด้วยการเลื่อนโน้ตตัวเดียว ตัวเดียวเท่านั้นจริงๆ งานผ่านซะอย่างนั้น เพราะโน้ตตัวนั้นมันทำให้เปลี่ยนโทนในเบส จาก minor เป็น major แล้วทำให้เกิดคู่เสียงที่ฟังดูสว่างขึ้นมา พลิกมาเป็นผ่านเฉยเลย แค่นั้นเลย โดยที่ผมไม่ต้องมารื้อเพลงออกใหม่ทั้งหมด มันเกิดจากการแตกฉานทางดนตรี ที่วิเคราะห์ได้ว่า จะแก้ให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ทำยังไงได้บ้าง ส่วนไหนต้องรื้อ ส่วนไหนไม่ต้อง เอาอะไรออก อะไรเปลี่ยน อะไรเข้าดี ตรงไหนทำปฏิกริยากับอะไร ได้ผลลัพธ์เป็นอะไร สามารถมองโครงสร้างออกเป็นส่วนๆ ที่เป็นระเบียบและเข้าใจได้ง่าย ได้ ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้แตกฉานดนตรีมา อาจแก้ไม่ตรงจุดง่ายๆ ก็ไปรื้อเพลง ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เสียทรัพยากรเวลา และพลังงานเพิ่มอีก
—————————————————
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ
หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :
Tel. : 0856662425
Website : verycatsound