สำหรับคนที่สนใจหรือกำลังศึกษาเรื่อง Ear Training อยู่ อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่ามีระบบ Move-Do กับ Fix-Do ( ตามที่เราเคยพูดถึงไปแล้วในโพสต์นี้ https://verycatsound.com/blog-eartraining/ ) หลายคนอาจจะสับสนว่าสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร และที่จริงแล้วตัวเองเหมาะกับแบบไหน หรือควรฝึกแบบไหน แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาแชร์เรื่องนี้ให้กันฟังนะครับ
เริ่มจาก Fix-Do กันก่อน ฟิกซ์โด คือการเรียน Ear Training ในระบบที่มุ่งเน้นการจำเสียง Pitch หรือโน้ต ทุกเสียงแบบเป๊ะๆ พูดง่ายๆว่า จำเสียงได้เลยว่า อันนี้เสียง โด เร มี หา ซอล ลา ที (หรือ C D E F G A B) ซึ่งในระบบนี้ โด จะเท่ากับ C , โดชาร์ป จะเท่ากับ C# ตรงไปตรงมาแบบนี้เลย ซึ่งพอเปลี่ยนคีย์จาก C ไปเป็น G ก็จะร้องโน้ตสมาชิกในคีย์จีว่า ซอล ลา ที โด เร มี ฟี(ฟาชาร์ป) หรือ G A B C D E F# ตรงไปตรงมาแบบนี้ครับ
จุดเด่นของระบบ Fix-Do
– สามารถฟังคีย์หรือโน้ตออกได้เลยว่า เป็นโน้ตอะไรคีย์อะไร แม้จะไม่มีเครื่องดนตรีหรือเสียงบางอย่างอ้างอิง
– มีความเป๊ะมากกว่า เมื่อเวลาจะเล่นดนตรีหรือร้องเพลง มีผลมากกับการร้องที่ไม่มีเสียงเครื่องดนตรีขึ้นนำมาก่อน หรือการต้องเล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่ไม่มีช่องกำกับโน้ต ที่ต้องใช้ประสาทหูที่ดีมากๆ
– ฝึกค่อนข้างยาก และใช้เวลานาน ต้องใช้ชั่วโมงบินในการจะคุ้นเคยกับเสียงค่อนข้างมาก โดยมากมักจะเริ่มเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติกับผู้ที่ซ้อมเครื่องดนตรีบางชนิดมาอย่างยาวนานจนเริ่มจำเสียงโน้ตบางเสียงได้แม่นยำ แล้วมาฝึกต่อจนสมบูรณ์
– เมื่อฝึกจนสมบูรณ์แบบ จะเรียกว่า “Perfect Pitch” คือการฟังออกทุกโน้ตว่าคือโน้ตอะไร ในเวลาอันรวดเร็ว
มูฟโดคืออีกระบบหนึ่งของการฝึกร้องโน้ตของ Ear Training ที่มุ่งเน้นการจำ “สำเนียงความห่างของเสียงในสเกล” และสามารถบอกได้ว่า โน้ตแต่ละตัวเป็น “สมาชิกตัวไหน ลำดับไหนของสเกลนั้นๆ” และจะร้องโน้ตทุกๆสเกลๆเป็นคำดังนี้หมดคือ “โด เร มี ฟา ซอล ลา ที” (จะไม่มีการขึ้นตัวอื่นก่อน นอกจาก โด) โดยเป็นการตีความว่า โด = สมาชิกตัวแรกของสเกล , เร = สมาชิกตัวที่สองของสเกล แบบนี้เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น สเกล C Major มีสมาชิกคือ C D E F G A B โดยจะร้องว่า โด เร มี ฟา ซอล ลา ที
แต่พอเปลี่ยนเป็นสเกล G Major มีสมาชิกคือ G A B C D E F# แต่ก็จะร้องโน้ตว่า โด เร มี ฟา ซอล ลา ที เหมือนเดิม เพียงแต่ระดับเสียงในการร้องเปลี่ยนไป
ฉะนั้น ในระบบของ Move-Do ตัวโน้ต C จึงไม่เท่ากับ โด เสมอไป
จุดเด่นของระบบ Move-Do
– สามารถทำให้ผู้ฝึก ฟังแล้วแยกแยะได้ว่า โน้ตที่ได้ยิน เป็นโน้ตตัวที่เท่าไรของสเกล เช่น โด มี ซอล ลา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า เสียงแท้จริงแล้วตรงกับ โน้ตอักษรภาษาอังกฤษตัวอะไร
– ถ้าต้องการรู้ว่า ที่จริงแล้วเป็นโน้ตตัวอักษรอะไร ต้องมีเครื่องดนตรีหรือเสียงอ้างอิง ว่าเสียงนั้นๆเป็นตัวอะไร แล้วค่อยๆเทียบลำดับเอา จะกินเวลาคิดหน่อย และไม่สามารถรู้ได้ทันทีเหมือนคนฝึก Fix-Do
– เป็นสกิลที่สำคัญในการเป็นนักแต่งเพลง นักเรียบเรียงดนตรี หรือโปรดิวเซอร์ เพราะสามารถทำให้เกิด Sense ในการสร้างสรรค์เมโลดี้ที่แตกฉาน และแม่นยำในการเข้าใจโครงสร้างเพลงได้
– ฝึกง่ายกว่า Fix-Do เยอะ ถ้าเทียบกันแล้ว ใช้ชั่วโมงการฝึกน้อยกว่ากันมากๆ
– ฟังเพลงแล้วสามารถวิเคราะห์ในหัวเองได้เลย
ถ้าเอาตามตรงก็คือ Fix-Do ครับ เพราะแม่นยำกว่า ทำอะไรได้มากกว่า เพียงแต่ใช้เวลาฝึกยาวนานกว่ามากๆ และฝึกยากกว่า ฉะนั้นที่ผมแนะนำสำหรับมือใหม่ ควรฝึก Move-Do ครับ เพราะมันไปถึงดวงดาวได้ไม่ยากขนาดนั้น และสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้คุ้มค่ามากๆ ในขณะที่ Fix-Do ประโยชน์ไม่ได้มากเท่ากับ Move-Do ถ้าเทียบกับความยากของมัน โดยมากถ้าเป็นนักดนตรีอยู่แล้ว และผ่านการซ้อมมายาวนาน อาจจะเหมาะกับ Fix-Do มากกว่า แต่ถ้าเป็นสายทำเพลง แล้วอยากได้ประโยชน์จากการฝึกคุ้มค่า ยังไงก็แนะนำ Move-Do ครับ หรือใครที่ฝึก Move-Do จนคิดว่าแม่นแล้ว ค่อยๆอัพเกรดมาฝึก Fix-Do ในระยะยาวก็ยังได้ครับ
[ บทความจากเว็บไซต์ https://verycatsound.com/blog-move-do-vs-fix-do ]
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ
หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :
Tel. : 0856662425
Website : verycatsound