วิเคราะห์เพลง Lumière – Clair Obscur Expedition 33
วิเคราะห์เพลงครั้งนี้ขอเอาใจสายเกมกันบ้าง โดยหยิบหยกเพลง Lumière ของเกม Clair Obscur Expedition 33 ซึ่งเกมนี้เป็นม้ามืดที่กำลังแรง โดดเด่นหลากหลายด้าน รวมถึงเพลง Lumière ที่หยิบยกมาด้วย ใครกำลังอินและอยากรู้ว่าทำเพลงยังไงให้ดีติดหูเรา และเติมเต็มความรู้สึกไปกับเกมได้อย่างพอดีด้วย มาขยี้ไปพร้อมกันครับ
Lumière เป็นเพลงธีมของเมืองหลวงของเกม Clair Obscur Expedition 33 โดยคำว่า Lumière ให้ความหมายในเชิงแสงสว่าง ดนตรีในเพลงทำออกมาได้มีความเศร้า ๆ แต่ทำนองที่ทำออกมาจำง่ายและใช้ซ้ำบ่อย ๆ ก็แฝงให้เห็นถึงการดำเนินไปเรื่อย ๆ ของชีวิตเพื่อค้นหาความหวังด้วย
เพลงนี้อยู่ในคีย์ D (หรือ Bm) และดำเนินคอร์ดธีมหลักด้วยคอร์ด vi – IV – ii – III7 หรือคอร์ด Bm – G – Em – F#7 โดยสามคอร์ดแรกจะเป็นการเล่นโดยเคลื่อนลงเป็นคู่ จาก Bm ไป G และจาก G ไป Em เรียกว่าเคลื่อนลงในลักษณะที่เหมือนกัน ทำให้เกิดความลื่นไหล ซึ่งในช่วงที่เปลี่ยนคอร์ด เมโลดี้ก็จะมีตกที่คอร์ดโทน และเป็นตัว 7 ด้วย ทำให้มีความน่าสนใจ ไม่เรียบจนเกินไป ส่วนคอร์ด III7 หรือ F#7 นั้นเป็นการใช้ secondary dominant หรือเป็นคอร์ด V7 ของ Bm เพื่อส่งกลับไปคอร์ด Bm ได้ลืนไหลขึ้น
จากนี้จะขอวิเคราะห์เป็นท่อน ๆ ไป โดยจะแบ่งเป็น Intro / A / B / A2 /B2 / A3 / B3 / A4 / C / B4 / Outro ส่วนเครื่องดนตรีคือ celesta หรือเสียงคีย์บอร์ดที่ให้เสียงคล้ายระฆัง มีความละมุนละไม แต่ก็ลึกลับ ออกแนววินเทจหรือเทพนิยายประมาณหนึ่งครับ
Intro : 0.00 – 0.05
จะเล่นในลักษณะ Broken chord
A1 : 0.06 – 0.28
คอร์ดยังเล่นในลักษณะ Broken chord และยังเล่นคอร์ดชุดเดิม แต่จะเริ่มมีเมโลดี้เข้ามา ฟังรวม ๆ จะเหมือนชวนฝัน ละมุนละไม แต่ก็ยังน้อย ๆ จนตอนท้ายท่อนจะเริ่มสร้างอารมณ์มากขึ้นเพื่อส่งเข้าท่อนต่อไป
B1 : 0.28 – 0.40
ท่อน B เรียกว่าเป็นท่อนฮุก จะใช้เสียงเมโลดี้หลักของเพลงเข้ามา ส่วนคอร์ดจะเปลี่ยนลีลาโดยเล่นในลักษณะ เบส คอร์ด คอร์ด หยุด ไปเรื่อย ๆ และมีเล่นพาสซิ่งในตอนท้าย ๆ ของท่อน เพื่อส่งเข้าท่อนต่อไป
A2 : 0.41 – 0.52
คอร์ดจะเล่นต่อเนื่องมาจากท่อนที่แล้วคือ เบส คอร์ด คอร์ด หยุด ส่วนเมโลดี้ จะเริ่มมีบางช่วงที่เล่นเป็นคู่ เพื่อสร้างความหนาขึ้น
B2 : 0.53 – 1.15
คอร์ดจะกลับมาเล่นคล้ายกับ Broken chord ในตอนแรก แต่เมโลดี้เรียกว่ามีทั้งเล่นเป็นคู่ และประสานกันอย่างเต็มที่ หนาขึ้น พีคขึ้น อัพความรู้สึกขึ้นจาก B1 ก่อนหน้านี้
ถึงตรงนี้แล้วคนฟังจะสังเกตได้แล้วว่าจะมีท่อน A โดยในแต่ละ A จะมีความแตกต่างกันอยู่ แต่ทำเพื่อส่งไปหาท่อน B ที่ทุก B จะเล่นเมโลดี้เดิมทุกครั้งเพราะเป็นธีมหลักของเพลงที่อยากให้คนจำ พอมาถึงตรงนี้ เพลงเลยต้องหา variation ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง
A3 : 1.15 – 1.39
ท่อนนี้จะสังเกตได้ว่าแตกต่างจาก A เดิม ๆ เลย วิธีเล่นคอร์ดจะเปลี่ยนแบบเล่นจังหวะเดียว แต่มีเล่นทั้ง position คอร์ดทั้งแคบและกว้าง เมโลดี้จะจำยากขึ้น และมีเปลี่ยนคอร์ดด้วย จากเดิมที่เป็น vi – IV – ii – III7 หรือคอร์ด Bm – G – Em – F#7 จะเปลี่ยนเป็น IV – ii – vii° – III7 ซึ่งคอร์ดที่เปลี่ยนแม้จะมีคอร์ด dim ด้วย แต่โดยรวมยังให้ความรู้สึกที่ไม่ต่างจากคอร์ดเซ็ตก่อนหน้าแบบชัดเจน แต่เราจะรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้จะมีลุกเล่นเบสเข้ามาเสริมเพื่อแก้เบื่อนิดหน่อย ช่วงหลัง ๆ ของท่อน จะมีเมโลดี้ที่เล่นซ้อนอยู่ เหมือนเป็นการโซโล่กลาย ๆ มีความระยิบระยับ ก่อนส่งเข้าท่อนต่อไป
B3 : 1.39 – 2.01
ท่อนนี้เมโลดี้เล่นเป็นคู่ชัดเจน มีความหนา และมีการใช้คอร์ดที่มี variation มากขึ้น เอาชุดคอร์ดของท่อนก่อนหน้าที่มี dim มาเสริมด้วย
A4 : 2.02 – 2.26
ท่อนนี้จะเริ่มผ่อนความรู้สึกลงเหมือนจะจบแล้ว แต่เมโลดี้ก็มีความน่าสนใจ มีการเล่นพยางค์ที่แตกต่างจากเดิมไปเลย คล้าย ๆ เหมือนเป็นท่อน bridge ที่ทำมาเพื่อขยี้เบา ๆ ส่งเข้าท่อนต่อไป
C : 2.27 – 2.51
ตอนต้น ๆ เหมือนจะขึ้นด้วยเมโลดี้ของท่อน B แต่แปปเดียวก็เปลี่ยนไป เหมือนเป็นการหยิบยกท่อน B เอามาพัฒนาใหม่กลายเป็นท่อน C คอร์ดในท่อนนี้จะเล่นเป็น Broken Chord ตอนท้าย ๆ เริ่มมีความซับซ้อนของการประสาน เริ่มเรียบเรียงโดยเอาหลัก four part writing มาใช้ หรือแบ่งไลน์เป็น Soprano Alto Tenor Bass อย่างชัดเจน โดยโยนเมโลดี้หลักของธีมมาเล่นในตำแหน่ง Tenor ส่วน Soprano Alto จะเล่นเป็นไลน์ประดับ มีการใส่เคาน์เตอร์เมโลดี้
B4 : 2.28 – 3.14
ท่อนนี้เล่นเมโลดี้ธีมหลัก มีการเล่นหนักขึ้น เพื่อระเบิดอารมณ์และให้คนฟังรู้สึกกับท่อนเดิม ๆ ที่วนกลับมานี้ได้หนักแน่นขึ้น
Outro 3.15 – 3.42
คอร์ดและเมโลดี้จะค่อย ๆ เล่นนิ่งลง เล่นคอร์ดเป็น block chord เริ่มมีโน้ตที่กดแช่ยาวแทนการเล่นใส่ลีลา แต่ก็ยังมีไลน์เคาน์เตอร์เมโลดี้ที่ยังใส่มาเพื่อให้ยังจำเมโลดี้ของเพลงในที่กำลังคลายอารมณ์ลงได้
Lumière – Clair Obscur Expedition 33 ฟังเผิน ๆ อาจจะดูเป็นเพลงที่ดูเรียบ ๆ ไม่ได้มีการใช้คอร์ดประหลาดหรือคอร์ดนอกคีย์เท่าไหร่ แต่จุดแข็งของเพลงคือสามารถเอาเมโลดี้ของธีมหลัก เอามาขยายต่อ ใส่ลีลาลูกเล่น และการสอดประสานไปด้วยกันกับเมโลดี้นี้ จนเป็นเพลงที่ยาวสามนาทีกว่าโดยไม่รู้สึกว่าซ้ำจนเบื่อเกินไป ถือว่าเรียบเรียงออกมาได้ดีมาก ยิ่งถ้าระหว่างที่เล่นเกม เราจะรู้สึกจำเพลงได้ง่ายโดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดมากเกินไปครับ
นอกจากนี้ Lumière ยังเป็นไอเดียที่ดีสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำเพลงแล้วรู้สึกตัน ไม่รู้ว่าจะเอาเมโลดี้ที่คิดได้แล้ว มาต่อยอดเป็นเพลงที่เลี้ยงความรู้สึกของคนฟังไปตลอดได้อย่างไรด้วย ปกติแล้วเพลงจะต้องบาลานซ์ระหว่างการสร้างความง่ายในการจดจำและการเซอร์ไพรส์คนฟังด้วยโน้ตที่น่าสนใจ ซึ่ง Lumière ถือว่าทำในส่วนนี้ได้ดีมากครับ
ใครมีเพลงไหนที่สนใจ อยากให้ Verycat วิเคราะห์ออกมา สามารถแนะนำกันเข้ามาได้ สำหรับใครที่สนใจในการทำเพลง อยากเรียนรู้แบบมืออาชีพ สามารถติดต่อดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหลักสูตร The Real Producer หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนครับ
The Real Producer
REAL / DEEP / EXCLUSIVE
หลักสูตรโดย VERY CAT SOUND : Compose Your Dream
เราไม่ได้สอนให้คุณแค่ทำเป็น แต่สอนให้คุณเก่ง รู้ลึก รู้จริง
ถ้าคุณมีอาชีพโปรดิวเซอร์เป็นความฝัน มาคุยปรึกษากันได้ครับ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจการทำดนตรีจริงๆ อยากเรียนรู้แบบลึก จริงจัง
นี่คือหลักสูตรที่เนื้อหาครอบคลุมทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำดนตรี ในระดับมืออาชีพ
หลักสูตร The Real Producer
เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาดนตรีแท้ๆ ที่เป็นรากฐานในการสร้างงานดนตรีที่มีคุณภาพทัดเทียมสากล
สนใจหลักสูตร ติดต่อ admin ที่ line ด้านล่าง หรือ รับ demo คอร์สเรียนฟรี! และข้อมูลเพิ่มเติม ที่ link
http://mkt.verycatsound.academy/mf2
——————
Contact
Line ID :
– เรื่องเรียนทำเพลง @verycatacademy
– เรื่องจ้างทำเพลง @verycatsound
Tel. : 0856662425